ปัตตานี - ความคืบหน้ากรณีที่จะมีการขุดลอกพรุลายควาย บ้านน้ำดำ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ชาวบ้านยันไม่เอาโครงการใดๆ ที่ทำลายพื้นที่พรุแห่งนี้ หลังทำเวทีประชาคม
วันนี้ (28 ก.ค.) ความคืบหน้าการร้องเรียนของชาวบ้านบ้านน้ำดำ กรณีการจัดทำโครงการขุดลอกในพื้นที่พรุลานควาย บ้านน้ำดำ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี หลังจากสื่อได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการเผยแพร่เสียงสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้มีการขุดลอกหรือสร้างสระน้ำหรืองานพัฒนาอื่นใดที่ทำลายทุ่งพรุลานควายแห่งนี้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้านในละแวกนี้ จนทำให้หน่วยงานของจังหวัดปัตตานีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ล่าสุด นางมาเรียม บีรู สมาชิก อบต.น้ำดำ อ.ทุงยางแดง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ของจังหวัดปัตตานี และผู้นำในพื้นที่ได้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น และได้ข้อสรุปจากเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า ชาวบ้านไม่ต้องการงานพัฒนาใดๆ ที่ทำลายทรัพยากรในทุ่งน้ำดำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของวัว ควาย แพะ และแกะ ที่มีไม่น้อยกว่า 10,000 ตัว
จากการพูดคุยจากชาวบ้าน พบว่า มีชาวบ้านอีกหลายพันคนที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะโครงการขุดลอกที่ทางจังหวัดปัตตานียังมีความพยายามที่จะขุด โดยชาวบ้านขอให้ยุติไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้ และขอให้ยุติการดำเนินการทุกอย่าง เพราะจากเวทีประชาคมที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลสรุปที่ชัดเจน
แต่ขณะเดียวกัน ทางอำเภอทุ่งยางแดง อ้างว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งให้ทำเวทีประชาคมของ อบต.ในพื้นที่ขึ้นอีกครั้งถึงกรณีดังกล่าว และส่งผลการประชาคมชาวบ้านให้จังหวัดโดยด่วน ทางหน่วยงานอำเภอ และทาง อบต.น้ำดำ จึงได้กำหนดจะให้มีการจัดเวทีประชาคมในนามของ อบต.น้ำดำ ในวันอังคาร ที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดงจ.ปัตตานี เวลา 10.00 น. เพื่อนำเสนอผลสรุปให้จังหวัด เนื่องจากเวทีประชาคมของชาวบ้านที่จัดทำขึ้นก่อนหน้านี้ มีข้อสรุปไม่เพียงพอที่จะยุติโครงการขุดลอก
ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านได้พูดให้แก่ทีมข่าวฟังว่า ชาวบ้านไม่ไหวแล้ว หมดแรงต่อสู้กับอำนาจรัฐจริงๆ โครงการนี้ชัดเจนชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่หน่วยงานราชการยังต้องการดำเนินการต่อเนื่อง จึงอยากขอเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านด้วย ขอให้นายกรัฐมนตรีลงมาช่วยแก้ปัญหานี้ให้แก่ชาวทุ่งยางแดงโดยเร็ว
ด้าน ผศ.นุกูล รัตนดากุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่พรุน้ำดำ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เคยมีการทำวิจัยเกี่ยวกับทุ่งพรุแห่งนี้ พบว่า มีพื้นที่มากถึง 7,000 กว่าไร่ เป็นพรุมีชีวิต มีชุมชนล้อมรอบมากกว่า 22 หมู่บ้าน ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพากับพรุแห่งนี้ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านได้มีการจัดสรรประโยชน์การใช้สอยในพื้นที่แห่งนี้โดยระบบสังคม หรือที่เรียกกันว่า “ฮูกมปากัต” ที่แปลว่า “กฎกติการ่วม”
จากข้อมูลในรอบ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 จนถึง พ.ศ.2560 พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของพรุแห่งนี้ลดอย่างทันตาเห็น ป่าในพื้นที่ลดลง สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง จากที่เคยมีเรือทำประมงน้ำจืดมากกว่า 200 ลำ ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่กี่ลำ เพราะจำนวนปลาลดลงอย่างรุนแรง เกิดจากการเปลี่ยนทิศทางน้ำที่เกิดจากการเข้ามาพัฒนาโครงการลักษณะขุดลอกในพื้นที่มากกว่า 25 โครงการ ที่ปราศจากการใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด ที่เห็นชัดกว่านั้นคือ จำนวนฝูงควายที่อดีตเคยมีมากกว่า 20,000 ตัว ปัจจุบันเหลืออยู่แค่หมื่นต้นๆ เท่านั้น
ที่ผ่านมา ทุกครั้งเมื่อมีโครงการลักษณะขุดลอกในพื้นที่ มักเกิดปัญหากับชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอด แนวทางของการแก้ไขปัญหาไม่ควรที่จะปล่อยให้มีการเผชิญหน้า ควรสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน สู่การพัฒนาที่ถูกต้องสอดคล้องต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ควรสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ความสำคัญของพรุแห่งนี้ ที่เคยดำรงเป็นวิถีชีวิตของชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงเฉพาะแค่ชาวน้ำดำ