คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ / โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
เป็นอีกห้วงเวลาหนึ่งของ “ข่าวร้าย” สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ได้แถลง “ข่าวดี” เมื่อสัปดาห์ก่อน เกี่ยวกับผลงานการ “ดับไฟใต้” และการปราบปราม “ยาเสพติด” ที่บอกกับคนทั้งประเทศว่า สถานการณ์ความรุนแรงลดลง การก่อเหตุร้ายลดลงตามลำดับ และจับกุมผู้กระทำผิดได้มากขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งการจับกุมและนำบุคคลไปบำบัดทำได้เกินความคาดหมาย
.
สรุปสั้นๆ อย่างได้ใจความว่า การแก้ปัญหา “ไฟใต้” นั้นกองทัพ “เดินมาถูกทางแล้ว” นั่นเอง
.
แต่ข่าวดีผ่านไปได้ไม่กี่เพลา ข่าวร้ายก็มาเยือนคนในพื้นที่ เมื่อฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ต.ปะกาฮะลัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้ถูกปฏิบัติการของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบุกเข้าโจมตีขณะที่เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ประจำฐาน จนสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นมากมาย นั่นคือทั้งทหาร อาสาสมัคร และ ชรบ. ต้องพลีชีพถึง 4 ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีก 3 ราย หนำซ้ำยังถูกยึดอาวุธปืนไปได้อีก 4 กระบอก ขณะที่ฐานก็พังยับเยิน
นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหลังจากที่โจรใต้ “สร้างสถานการณ์รายวัน” ด้วยทั้งวิธีการทั้ง “ซุ่มโจมตี” และใช้ “ระเบิดแสวงเครื่อง” มาต่อเนื่อง เพียงแต่เป็นการโจมตีที่ไม่รุนแรง มีบาดเจ็บบ้าง แต่ไม่ถึงกับต้องล้มหายตายจากครั้งละหลายๆ ศพชนิดเกือบเป็นการ “ละลายฐาน” อย่างที่เกิดขึ้นครั้งนี้
ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสีย “เสาหลัก” ของครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก-ภรรยา และที่สำคัญคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ต่อกองทัพ และต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพราะข่าวที่แถลงกับความเป็นจริงมันสวนทางกัน
มีข่าวจาก “วงใน” ที่รับรู้มาคือ แผนปฏิบัติการต่อฐานชุดคุ้มครองตำบลปะกาฮะลังของโจรใต้ มีการวางแผนล่วงหน้ามาแล้วกว่า 2 เดือน มีการเฝ้าติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในฐาน มีการตรวจสอบเส้นทางในการเข้าตีและในการถอนตัวหลังปฏิบัติการ จนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” จึงได้ลงปฏิบัติการบุกเข้าโจมตีแบบสายฟ้าแลบ
โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยข่าวสารแห่งการ “ปลุกระดม” จากขบวนการ “บีอาร์เอ็นฯ” ฟากฝ่ายเยาวชนทางทางโซเชียลมีเดียในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความอึมครึมให้ “กดทับ” คนในพื้นที่ตั้งแต่เรื่องการบังคับใช้ “2 แชะอัตลักษณ์” หรือการให้นำโทรศัพท์มือถือไปลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยวิธีสแกนใบหน้าของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นต้น
สำหรับกรณี2 แชะอัตลักษณ์นั้น “ฝ่ายมวลชนโจร” หรือสมาชิกและผู้ฝักใฝ่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนย่อมไม่พอใจ นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่สูญเสียประโยชน์รู้สึกได้ แต่คนส่วนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมก็แสดงอาการไม่พอใจเช่นกัน
คนกลุ่มหลังที่ไม่พอใจก็เพราะไม่เชื่อมั่นว่า การควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือโดยวิธีการ 2 แชะอัตลักษณ์จะเป็นหนทางแก้ปัญหาของไฟใต้ที่ได้ผล เนื่องจากพบว่าตลอด 15 ปีที่ผ่านมาคนในพื้นที่ถูกกดทับด้วยมาตรการแปลกๆ แบบที่คนในพื้นที่อื่นๆ ก็ต้องรับไม่ได้มากมาย แต่เมื่อเป็นคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้ “มาตรการพิเศษ” แม้จะมากไปด้วยความรำคาญใจ แม้สุดท้ายแล้วมาตรการเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์อะไรๆ ดีขึ้นเลยก็ตาม
แต่ก็ยังมีความอึมครึมที่ตามมาติดๆ คือการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งกำลังเข้าปิดล้อมหมู่บ้านที่ “บ้านแหร” อ.ธารโต จ.ยะลา และทำการ “ตรวจดีเอ็นเอ” ชาวบ้าน ซึ่งทหารอาจจะมีข้อมูลลึกว่ามีแนวร่วมแฝงตัวอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งปฏิบัติการในการ “กวาดต้อนคนทั้งหมู่บ้าน” ไปบังคับตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาหลักฐานในการจับกุม ถือเป็นการแก้ปัญหาในมุมมองของทหารที่คิดได้แบบสั้นๆ ง่ายๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะติดตามมา
แต่สุดท้ายก่อนที่ความไม่พอใจของคนบ้านแหรจะบานปลาย พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ต้องรีบถอดสลัก “ระเบิดเวลา” ลูกนี้ด้วยการลงพื้นที่ไป “ขอโทษชาวบ้าน” แถมยังต้องพา “นักการเมือง” ไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์จากปฏิบัติการไม่รอบคอบ ไม่รัดกุมและรอบด้านครั้งนี้ด้วย นั่นเป็นผมลให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เสียทั้งทางด้านการทหารและการเมือง เหมือนอย่างคำพังเพยของคนใต้ที่ว่า “ไปทั้งโซ่ทั้งลิง” นั่นเอง
ขณะที่ความอึมครึมที่บ้านแหรถูกขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไป “ปลุกเร้า” ให้คนในพื้นที่ไม่พอใจทหารยิ่งอนั้น “ข่าวร้าย” ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมาอีก นั่นคือข่าวครึกโครมกรณี นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยที่ถูกนำตัวไปศูนย์ซักถามในค่ายอิงยุทธบริหารที่ จ.ปัตตานี แต่ชั่วเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงต้องถูกส่งตัวเข้าห้อง ICU โรงพยาบาลปัตตานีด้วยอาการสมองบวบ เพราะขาดอากาศหายใจแบบไม่ทราบสาเหตุ ก่อนส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และยังนอนแบบไม่รู้สึกตัวอยู่ในเวลานี้
แต่ในความรู้สึกของคนมุสลิมส่วนใหญ่เชื่อว่า นายอับดุลเลาะถูกซักถามด้วย “วิธีพิสดาร” เหมือนกับที่หลายๆ คนที่เคยตกเป็นคดีความในลักษณะนี้มาแล้ว และแน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะเวลานี้ได้กลายเป็น “เงื่อนไขใหม่” และถูกนำไปเป็น “เหยื่ออันโอชะ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในการนำไปปลุกเร้าให้สังคม โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมเชื่อว่า เหตุที่นายอับดุลเลาะเป็นเช่นกัน เป็นเพราะฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเอาให้ชัดๆ ก็พุ่งเป้าไปที่ “ทหาร” นั่นเอง
ดังนั้นเหตุการณ์โจมตีฐาน ชคต.ปะกาฮะลังอาจไม่ได้เกี่ยวกับการ “แก้แค้น” จากการที่นายอุบดุลเลาะถูกหามส่งโรงพยาบาล แต่บีอาร์เอ็นฯ อาจจะฉวยโอกาสจากการที่วางแผนโจมตีฐาน ชตค.ปะกาฮะลังไว้แล้วปฏิบัติการให้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นไปตาม “เงื่อนไขผสมโรง” ให้เกิดขึ้นในเวลานี้พอดี อันเป็นการสร้างความเชื่อมโยงให้ “มวลชนฝ่ายตรง” รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ชอบเจ้าหน้าที่รัฐเห็นชอบในสิ่งที่บีอาร์เอ็นฯ ได้ดำเนินการมา
หลังเกิดเรื่องราวขึ้นกับนายอับดุลเลาะ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็แสดงความเป็นสุภาพบุรุษทหารอาชีพอีกครั้ง โดยได้เดินทางไปแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติๆ ของนายอับดุลเลาะ พร้อมทั้งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อหาสาเหตุของการเกิดอาการสมองบวม พร้อมประกาศหากเป็นการกระทำของใคร คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
แต่ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นก็ต้องจัดว่า “สายเกินการณ์” ไปแล้ว เพราะสถานการณ์ของวันนี้ต่างกับช่วง 5 ปีที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ ที่รัฐบาล คสช. มี ม.44 ไว้ใช้จัดการหรือกดทับใครๆ ก็ได้อยู่ในมือ วันนี้ประเทศเรานี้มี “สภาผู้แทนราษฎร” และ “ส.ส.จากการเลือกตั้งของประชาชน” แล้ว แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม
ดังนั้นเวลานี้สังคมเราจึงเห็นปรากฏการณ์ “ดาหน้า” ออกมาของนักการเมือง นักสิทธิมนุษย์ชน ทนายมุสลิม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ที่ออกมาขับเคลื่อนให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะให้แถลงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสกรณีของนายอับดุลเลาะ รวมถึงเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (UN) และนานาชาติได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการแก้ปัญหาการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
แม้แต่ “ขบวนการพูโล” ที่มี นายกัสตูรี มะโกห์ตา เป็นแกนนำ รวมถึง “กลุ่มมาราปาตานี” โดย นายอบู อัล ฮาคิม ในฐานเป็นโฆษกก็ดาหน้าออกมารุมถล่มรัฐบาล กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงสถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษย์และการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้น
อาจจะเป็นเหตุที่บังเอิญที่สถานการณ์ความรุนแรงของไฟใต้ระลอกนี้อยู่ในช่วง “คาบลูกคาบดอก” ในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จังส่งผลให้เวทีแห่งรัฐสภากลายเป็นเวทีที่ ส.ส.ได้ใช้เป็นประโยชน์เพื่อแสวงหาแนวทางดับไฟใต้ไปด้วย จึงได้เห็นเรื่องราวในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นอีกประเด็นทั้ง “ร้อนแรง” และ “ลุกลาม” อย่างรวดเร็ว
แน่นอน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลายเป็นจำเลยของสังคมที่จะต้องหาหลักฐานมาแสดงให้ประชาชนได้รับทราบว่า ไม่ได้ทำผิดอย่างที่ถูกเข้าใจและกล่าวหาให้ได้
สำหรับกรณีการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ การทำร้ายประชาชนทั้งพุทธและมุสลิม รวมถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินนั้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่กำลังถูกทำให้กลายเป็น “สงครามประชาชน” หากกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” ยังทำไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จำต้องปรับ “ยุทธการ” และ “ยุทธวิธี” เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน ส่วนจะ “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ก็ต้องรอดูกันต่อไป
ประเด็นหนึ่ง การส่งกำลังนับ 10,000 นายจาก “ชุด ปช.จรยุทธ” เข้าลงคลุกถึงในหมู่บ้านที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ของโจรใต้ ถ้าปฏิบัติการนี้มีประสิทธิภาพจริงเหตุร้ายต้องลดลง แนวร่วมในพื้นที่ต้องหลบหนีหรือไม่กล้าออกปฏิบัติการได้อย่างมีเสรีภาพได้อีก เรื่องนี้สังคมต้องจับตาดูกันต่อไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวแบบนี้ไม่ควรให้เกิดและกลายเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมาอีก เพราะมีผลต่อกระบวนการดับไฟใต้โดยตรง ซึ่งไม่ได้เสียหายเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กองทัพ และรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังกระทบภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติด้วย
สำหรับ “สังคมคนพุทธ” อยากบอกว่าอย่าใช้เพียงความสะใจเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสะใจที่โจรใต้ถูกวิสามัญ หรือสะใจที่แนวร่วมถูกซ้อมทรมาน เป็นต้น เพราะความสะใจไม่ได้ทำให้ไฟใต้มอดดับ แต่นั่นยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
.
เชื่อเถอะครับ! วิธีการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่ใช่ทางออกของไฟใต้อย่างแน่นอน
.
สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เสียใจกับทุกฝ่ายที่สูญเสีย และชื่นชมแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เพียงสัปดาห์เดียวต้องทำการขอโทษชาวบ้านถึง 2 ครั้ง 2 ครา เนื่องเพราะต้องการที่จะจะคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีการความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว