xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองข้าม! “ตำลึง” ผักบ้านๆ ตามริมรั้ว มากท้น “สรรพคุณทางยา” มากล้น “คุณค่าทางอาหาร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
 
1
 
“ตำลึง” ผักพื้นบ้าน ผักริมรั้ว หาง่าย มีให้กินตลอดทั้งปี
 .
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ตำลึง, สี่บาท (ภาคกลาง), ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ(แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น ชื่อสามัญ Ivy gourd ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cephalandra indica (Wight & Arn.) Naudin) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
 
2
 
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
 .
“ตำลึง” จัดเป็นพืชในตระกูลไม้เลื้อย มีใบเป็นใบเดี่ยว มีมือเกาะ ใบจะแผ่เว้าเป็น 5 แฉก ขนาดใบมีความกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมมน ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร
 
“ดอกตำลึง” มีสีขาว เป็นดอกเดี่ยว แยกเพศ โดยเพศผู้จะมีขนาด 4-6 เซนติเมตร 1 ดอก มีอยู่ 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 3 อัน ส่วนเพศเมียเกสรจะแยกเป็น 3-5 แฉก ส่วนกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ทุกประการ
 
“ผลตำลึง” มีรูปทรงป้อม ขอบขนาน ขนาดผลกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ถ้าผลอ่อนจะมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีส้มออกแดง ข้างในผลจะมีเมล็ดจำนวนมากลักษณะแบนรี ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร
 
3
 
สรรพคุณของตำลึง 
 .
“ตำลึง” มีประโยชน์แทบจะทุกส่วนของต้นเลยก็ว่าได้ โดยสามารถจำแนกสรรพคุณของตำลึงได้ดังนี้
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมความเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้าและเย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด จึงช่วยป้องกันการเกิดอัมพาตด้วย
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (วิตามินเอ) และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และยังช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตาได้อีกด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพ์นานๆ และมีอาการสายตาอ่อนล้า
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดแข็ง ตีบตัน และแตกได้
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน (วิตามินซี)
  
4
 
- “ใบ” ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง (ใบ, น้ำคั้นตำลึง) ช่วยบำรุงเลือด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ตัวร้อน ใช้แก้อาการตาแดงหรือเจ็บตา ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสดๆ ช่วยขับสารพิษในลำไส้ ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ช่วยแก้ฝีแดง ช่วยดับพิษฝี ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน แก้งูสวัด เริม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ (ล้างให้สะอาด) นำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น และช่วยป้องกันการเป็นตะคริว
 .
- “ใบ, ดอก” ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบตำลึงนำมาตำแล้วทาบริเวณที่คัน
“ใบ, ราก” ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
 .
“เถา” แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม, แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา, ช่วยแก้อาการตาช้ำแดง ด้วยการตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา, แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อนยาว 1 คืบ (จำนวน 3-4 ท่อน) นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟด้วยฟางจนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา, แก้อักเสบ ด้วยการใช้น้ำจากเถาทาบริเวณที่เป็น
 .
- “ราก” ช่วยลดไข้, ช่วยแก้อาเจียน, แก้อาการตาฝ้า
“เถา, ราก” ช่วยดับพิษต่างๆ
“เปลือกราก, หัว” ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยระบายท้อง
“เมล็ด” ช่วยแก้หิดด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
 
5
 
ประโยชน์ของตำลึง 
 
- ทั้ง “เถา” และ “ใบ” ช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า ด้วยการใช้ต้นตำลึง นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้
“ยอด” ใช้ทำทรีตเมนต์ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ด้วยการนำยอดตำลึงครึ่งถ้วยและน้ำผึ้งแท้ครึ่งถ้วย นำมาผสมกันแล้วปั่นในโถให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก
“เถา” ใช้เป็นยารักษาตาไก่ (ไก่ที่ถูกยุงกัดจนตาบวม เป็นพยาธิ มีหนองขาวและแข็งภายในของเปลือกตา) อย่างแรกให้พลิกเอาหนองขาวแข็งออกจากตาไก่ก่อน แล้วใช้เถาตำลึงแก่ๆ (ขนาดเท่านิ้วก้อย) มาตัดเป็นท่อนๆ (ตัดข้อทิ้ง) แล้วใช้ปากเป่าด้านหนึ่งจนเกิดฟอง หลังจากนั้นให้เอามือเปิดเปลือกตาไก่ออกแล้วเอาฟองที่ได้หยอดตาไก่วันละครั้งจนหายดี
“ยอด, ใบ” นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไฟแดง ไข่เจียว เป็นต้น
“ผลอ่อน” นำมากินกับน้ำพริก หรือจะนำมาดองกิน ส่วนผลสุกมีรสอมหวาน กินได้เช่นกัน
 .
คำแนะนำ  ตำลึงมีฤทธิ์เป็น “ยาเย็น” การทาน้ำตำลึงไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น หากเมื่อทาน้ำตำลึงที่ผิวหนังแล้วไม่รู้สึกเย็น แปลว่า ไม่ถูกโรค ให้หยุดใช้ทันที
 
6
  
ข้อควรระวังในการบริโภคตำลึง 
 .
การบริโภคตำลึงในรูปแบบอาหารนั้น ค่อนข้างปลอดภัย หากไม่รับประทานติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาใดทราบแน่ชัดว่า การบริโภคตำลึงในระยะยาวจะก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ขึ้นหรือไม่
 .
ดังนั้น ควรรับประทานตำลึงด้วยความระมัดระวัง ในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรืออยู่ในกลุ่ม ดังต่อไปนี้
 .
ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตำลึง เพราะในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใดยืนยันได้ว่าการบริโภคตำลึงในขณะที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
 .
ผู้ที่กำลังเข้ารับการผ่าตัด ห้ามรับประทานตำลึงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะตำลึงอาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด จนเป็นผลให้ระบบการควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกายถูกรบกวนระหว่างการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดได้
 .
ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรับประทานตำลึงอาจลดระดับน้ำตาลในร่างกายให้ต่ำเกินไป โดยเฉพาะเมื่อกำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานชนิดต่างๆ ที่อาจมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว เช่น ยาไกลพิไซด์ ยาไกลเมพิไรด์ ยาไพโอกลิตาโซน หรืออินซูลิน เป็นต้น
 .
“ตำลึง” ผักริมรั้วที่ขึ้นดาษดื่น มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป ดูไม่ค่อยมีค่ามีราคา แต่คุณค่าก็หาธรรมดาไม่นะขอรับ 
 
7
8
9
10
 
บรรณานุกรม 
 
https://medthai.com/ตำลึง/
https://www.pobpad.com/ตำลึง-ผักพื้นบ้านมากคุณ
- fic.ifrpd.ku.ac.th/fic/index.php/2016-04-26-06.../619-food2-05-09-2018
 


กำลังโหลดความคิดเห็น