xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจะนะอยากให้ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเขตปกครองพิเศษ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านใน 3 ตำบลของ อ.จะนะ จ.สงขลา เผยความต้องการอยากให้ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นเขตปกครองพิเศษ ยังห่วงเรื่องการศึกษาผลกระทบอาจไม่ละเอียดพอ และไม่ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ส่งทีมงานประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ จ.สงขลา คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมของการก่อสร้างสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามมติของ ครม.

โดยประชาชน จำนวน 30 หมู่บ้านใน 3 ตำบล ที่ร่วมเวทีรับฟังรายละเอียดของโครงการดังกล่าว ได้สะท้อนข้อกังวลในช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการ โดยเกรงว่าการศึกษาผลกระทบไม่ละเอียดพอ และไม่ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาทุกๆ ด้านอย่างจริงใจ เหมือนกับโครงการหลายโครงการที่ผ่านมา และการดำเนินการไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน
 

 
ส่วนความต้องการของชาวบ้านนั้น ต้องการให้มีการแก้ไขระเบียบกองทุนของโรงไฟฟ้าจะนะ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เงินกองทุนตามความต้องการของประชาชน ออกเอกสารสิทธิที่ดินสำหรับพื้นที่ที่มี ส.ค.1 หรือที่ชาวบ้านอยู่มา 50 ปี ให้นำประชาชนในพื้นที่ไปศึกษาดูงานในประเทศต่างๆ ที่เชื่อถือได้ ตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อกำกับดูแล บริหารจัดการผลกระทบทุกด้านอย่างถูกต้อง และครอบคลุม ทำสัญญาประชาคมให้มีการลงนาม 3 ฝ่าย มีตัวแทนชาวบ้าน ข้าราชการ และผู้ประกอบการ ให้สิทธิในการประกอบพิธีฮัจญ์ และอุมเราะห์เพิ่มขึ้น ให้ยุติธรรมโปร่งใสหมู่บ้านละ 4 คน ให้มีการวางแผนให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการของแรงงาน

และในช่วงที่ 2 คือ ช่วงการก่อสร้าง คนในพื้นที่มีข้อกังวลว่าจะเกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง ความปลอดภัยทางทะเล และการจราจร ความวุ่นวายของคนทำงานที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ ต้องสูญเสียการประกอบอาชีพด้านประมง และเกษตร คนในพื้นที่ไม่ได้ถูกจ้างงานตามความต้องการของประชาชน
 

 
ส่วนความต้องการประชาชนที่เข้าร่วมเวที ได้เสนอให้กำหนดโซนนิ่ง และผังเมืองให้เรียบร้อย รักษาศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีในพื้นที่ให้คงอยู่ ตั้งคณะกรรมการจัดหาแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยใช้ตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ให้ตั้งกองทุนส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

สุดท้ายระยะหลังก่อสร้าง ชาวบ้านมีข้อกังวลว่าจะไม่ให้ความสำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ เหมือนกับในช่วงก่อน และการก่อสร้าง ไม่ได้ทำตามสัญญาประชาคมที่ตกลงไว้ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีงานทำเหมือนเดิม และมีการตั้งกฎระเบียบ ขั้นตอน จนชาวบ้านเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้

โดยประชาชนในพื้นที่ต้องการให้มีการประกาศให้พื้นที่ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็น “เขตปกครองพิเศษ” บริหารโดยคนในพื้นที่ มีคณะกรรมการกำกับดูแล บริหารจัดการในทุกๆ ด้าน โดยเลือกจากประชาชนในพื้นที่ร้อยละ 80 และจากภาคส่วนอื่นๆ ร้อยละ 20 จ่ายค่าชดเชยให้ประชาชนที่เสียประโยชน์ในพื้นที่เป็นรายเดือน มีสวัสดิการด้านคุณภาพอนามัย ผู้สูงอายุ สตรี ผู้ด้อยโอกาส มีกองทุนเพื่อแก้ปัญหาชดเชยความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ให้สิทธิพิเศษแก่คนในพื้นที่มากกว่าคนภายนอก ทั้งในเรื่องจ่ายค่าชดเชย และการบริหารกองทุนต่างๆ และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการตรวจสอบด้านต่างๆ โดยเป็นคนในพื้นที่
 

 
ด้าน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า ข้อเสนอของประชานจากเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่ ศอ.บต.สามารถทำได้ทันที เช่น การศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนการพัฒนาภายใต้การอยู่ร่วมกันของประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เรื่องการออกเอกสารสิทธิได้มีการประชุมกับนายก อบต.ทั้ง 3 ตำบล เพื่อให้ไปจัดทำข้อมูลในเรื่องเอกสารสิทธิ โดย ศอ.บต.จะเป็นผู้ประสานกับกรมป่าไม้ กรมที่ดิน เพื่อการดำเนินการที่เร็วที่สุด เรื่องโควตาแสวงบุญ และพิธีทางศาสนา จะจัดสรรให้ไทยพุทธเดินทางไปประเทศอินเดีย หรือเนปาล และไทยมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ ตำบลละ 1 คน

ส่วนในเรื่องเงินกองทุนโรงงานไฟฟ้าจะนะ ศอ.บต.ได้ประสานกับทางกำกับกิจกรรมพลังงานแล้ว ทราบว่า ในเงื่อนไขของการพิจารณาจัดสรรงบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ชุมชนสามารถเสนอโครงการได้ แต่หากเกิน 300,000 บาท มีข้อกำหนดให้เป็นส่วนราชการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำหนังสือถึงสำนักงานกำกับกิจกรรมพลังอีกครั้ง เพื่อขอพิจารณาทบทวนเปิดเงื่อนไขให้กว้าง และให้โอกาสแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ให้ภาคประชาสังคมไปร่วมพัฒนาโจทย์ พัฒนาวิสาหกิจในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนา โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตำบล 1 วิสาหกิจ เพื่อเสนองบประมาณไปยัง ศอ.บต.ได้เลย โดยให้ 3 ตำบลพัฒนาเป็นพื้นที่ตำบลสันติสุขขนาดเล็กให้ได้ โดยทาง ศอ.บต.จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาวิสาหกิจ เพื่อการมีอาชีพที่ยั่งยืนในพื้นที่ และสัญญาประชาคมจะดำเนินการจัดทำภายหลังการจัดประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ซึ่งในโอกาสนั้น จะมีเลขาธิการ ศอ.บต. และแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานร่วมกันในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
 



กำลังโหลดความคิดเห็น