xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลคำว่า “เอกราช” รัฐปาตานี เปิดงานวิจัยที่มุ่งหวังยุติ “ไฟใต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 

 .
เรื่องราวเกี่ยวกับ “ขบวนการเรียกร้องเอกราชรัฐปาตานี” ทั้งการนั่งโต๊ะเจรจา การพิจารณาข้อเสนอระหว่างขบวนการและรัฐไทย หรือแม้แต่บางกลุ่มที่ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในรูปแบบต่างๆ นั้น หากจะนับย้อนไปก็พบว่ามีมาอย่างยาวนานหลายสิบปี แม้จะมีบางช่วงบางคราวที่เหตุการณ์สงบไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะราบคาบเหมือนขบวนการเรียกร้องเอกราชในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยที่หมดสภาพไปนานมากแล้ว
 .
เฉกเช่นในปัจจุบันนี้ แม้เหตุการณ์ความไม่สงบจะเงียบหายไปช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็กลับมาปะทุอีกครั้ง โดยมีการกำหนดให้เหตุการณ์การปล้นอาวุธปืนจำนวนมากที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 เป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งของเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือ “ไฟใต้ระลอกใหม่” นับจนถึงปัจจุบันนี้
 .
เหตุการณ์ความไม่สงบยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายรัฐที่นำโดย ทหาร จะจับกุมบรรดาแกนนำระดับปฏิบัติการได้ แต่หลังการจับกุมก็มีการ “เอาคืน” อย่างทันควัน เช่น เหตุระเบิดหน้าตลาดบ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่อยู่ห่างจากค่ายอิงคยุทธบริหารไม่มากนัก รวมทั้งหน่วยทหารอีกหลายแห่งในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อล้างแค้นที่แกนนำระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการถูกวิสามัญที่ จ.ยะลา
 .
นอกจากความพยายามในการไล่ล่าชุดปฏิบัติการกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว ในด้านของการเจรจาก็ยังคงดำเนินอยู่ รวมไปถึงความพยายามของกลุ่มนักวิชาการด้านต่างๆ ที่พยายามใช้วิธีการทางวิชาการเพื่อเสาะหาหนทางยุติปัญหาความรุนแรง และเพื่อให้เกิดการพูดคุยในวงกว้างเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชให้แก่รัฐปาตานีของกลุ่มต่างๆ
 .
หนึ่งในนั้นคือ งานวิจัยของ รศ.ดร.มารค ตามไท ในหัวข้อ สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ล่าสุด สกว.ได้ถอดงานวิจัยชิ้นนี้ออกจากเว็บไซต์ของ สกว.แล้ว
 .

.
จุดมุ่งหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ก็เพื่อหาเหตุผลของ “คนปาตานี” ที่ต้องการ “เอกราช” ว่ามีอะไรบ้าง โดยได้สัมภาษณ์คนปาตานีที่สนับสนุนเอกราชจำนวน 1,000 คน เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ว่าอะไรคือคุณค่าที่เป็นฐานของเหตุผล เมื่อทราบแล้วก็จะนำมาวิเคราะห์ต่อเพื่อหาวิธีลดความรุนแรง และนำสันติสุขมาให้คนในพื้นที่
 .
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเปรียบเทียบกับการต่อสู้เพื่อเอกราชใน “คาตาโลเนีย” หรือ “แคว้นคาตาลัน” ประเทศสเปน “รัฐควิเบก” ประเทศแคนาดา “สกอตแลนด์” ในสหราชอาณาจักร และ “โอกินาวา” ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกือบทุกแห่งเคยมีกลุ่มใช้ความรุนแรงในการผลักดันเรื่องเอกราช แต่เมื่อขบวนการเอกราชมีที่ยืนในพื้นที่การเมืองและมีการถกกันเองภายในอย่างเปิดเผยเรื่องจะเอาเอกราชหรือไม่ กลุ่มใช้ความรุนแรงก็ค่อยๆ สลายไป
 .
หลังลงพื้นที่สัมภาษณ์และวิเคราะห์ข้อมูลก็ทำให้ “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะสำหรับการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ...
 .
“รัฐไทยควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนปาตานีถกกันเองอย่างเปิดเผยและกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตของปาตานีว่าจะเดินตามเส้นทางเอกราชหรือไม่ และรัฐไทยควรดำเนินการนี้โดยมีวุฒิภาวะพอที่จะส่งเสริมการคุยกันครั้งนี้ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยกันเอง ด้วยความปรารถนาดีต่อความสุขใจของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง” 
 .
การลงเก็บข้อมูลได้ใช้ทีมเก็บข้อมูลจาก “คนในพื้นที่” เพื่อให้เข้าถึงและเกิดความไว้วางใจจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็น “คนปาตานีที่ต้องการเอกราช” โครงการวิจัยชิ้นนี้จึงได้คนจากการแนะนำของ “เปอร์มาส” และ “เดอะปาตานี” 10 คน (หน้า 6) โดยเป็นชาย 8 คน หญิง 2 คน อายุระหว่าง 21-30 ปี 8 คน และ 31-40 ปี 2 คน ระดับการศึกษาปริญญาตรี 9 คน ปริญญาโท 1 คน เข้าไปเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์คนละ 100 คน รวมทั้งหมด 1,000 คน แบ่งเป็นพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 560 คน ที่เหลืออีก 440 คน กระจายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มาเลเซีย หาดใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ
 .


 .
หลังการเก็บข้อมูลทีมงานได้วิเคราะห์ข้อมูล (หน้า 44) พบว่า มีการกล่าวถึงเหตุผลที่ต้องการได้เอกราชอยู่ 1,660 เหตุผล เมื่อนำมาจัดกลุ่มตามลักษณะก็จัดได้ 5 ประเภทคือ (1) ดินแดนของฉัน (2) มีอนาคตตามที่ต้องการ (3) ศาสนา (4) แก้ปัญหาที่กำลังมีอยู่กับรัฐไทย กลุ่มนี้แบ่งเป็นข้อย่อยได้ 3 ข้อคือ ความเป็นธรรม ความรุนแรง และการจำกัดสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง และ (5) อื่นๆ โดยเหตุผลเรื่องดินแดน อนาคต และศาสนา เป็นเรื่องที่อยู่บนฐานของคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ (หน้า 45) ซึ่งหมายถึงว่า สิ่งที่ชุมชนหนึ่งให้ความสำคัญเกินกว่าจะกำหนดราคาได้ เป็นสิ่งที่นำมาเปรียบหรือแลกเปลี่ยนกับสิ่งของหรือความสะดวกสบาย เช่น เงิน ตำแหน่ง ไม่ได้
 .
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล งานวิจัยชิ้นนี้ได้มีข้อสังเกตว่า เมื่อเทียบเหตุผลที่ต้องการเอกราช พบว่า กลุ่ม “มีอนาคตตามที่ต้องการ” มีความแตกต่างกันเมื่อเทียบกับปัจจัยด้าน “อายุ” ของกลุ่มตัวอย่าง โดยคนที่มีอายุมากจะให้เหตุผลนี้น้อยกว่าคนอายุน้อย ซึ่งสอดคล้องต่อสามัญสำนึกที่ว่า คนสูงอายุจะไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เท่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันอันใกล้
 .
งานวิจัยนี้ได้ทำตารางและแผนภูมิเปรียบเทียบเหตุผลกับข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างหลากหลายด้าน (หน้า 48) รวมทั้งยังได้นำส่วนที่เป็นเหตุผลว่า ทำไมปาตานีต้องได้รับเอกราชของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 1,000 คนมาไว้ในรายงานการวิจัยด้วย (หน้า 131) โดยได้ยกตัวอย่างของเหตุผลทั้ง 4 ประเภทแรก โดยอยู่ในกรอบตามการวิเคราะห์ข้อมูล (หน้า 45)
 .

.
ข้อแรก “ดินแดนของฉัน” มีการยกตัวอย่างเหตุผลของคนที่ 1 ที่ระบุว่า ต้องการเอกราชเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีและเกียรติยศของปาตานีให้กลับคืนมา เพราะเราเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินแห่งนี้ จึงมีสิทธิที่จะจัดการแผ่นดินมาตุภูมิของตนเอง ส่วนคนที่ 60 ให้เหตุผลว่า เอกราชจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวปาตานีให้ดีขึ้น เพราะเมื่อเรามีประเทศเป็นของตนเอง เราจึงมีสิทธิที่จะออกแบบอนาคตของประเทศว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด
 .
เหตุผลที่สอง “มีอนาคตตามที่ต้องการ” คนที่ 555 ระบุว่า เพราะทุกวันนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เศรษฐกิจและหลายอย่างที่จะส่งผลต่อความเจริญไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด ส่วนคนที่ 461 ระบุว่า ต้องการชีวิตที่ดีกว่า สังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการแบบประเทศไทย เมื่อปาตานีได้รับเอกราช เราก็จะไปสู่สังคมแบบนั้น และคนที่ 381 ระบุว่า เรามีความแตกต่างจากรัฐอย่างสิ้นเชิง ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและความเชื่อ แม้รัฐไทยจะปกครองดีแค่ไหน ก็ไม่ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของคนที่นี่ เพราะรัฐไทยไม่เคยเข้าใจเราและจะไม่มีวันเข้าใจ เราจึงต้องการเอกราช
 .
ข้อสาม “ศาสนา” คนที่ 601 ให้เหตุผลว่า ปาตานีเป็นแผ่นดินเดิมที่ใช้กฎหมายอิสลามในการดารงชีวิตได้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่สำคัญคือความไม่จริงใจของรัฐไทย เช่น นโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้น ไม่จริงจังในการปราบปรามยาเสพติด ด้านคนที่ 610 ระบุว่า ต้องการได้ประเทศของปาตานีให้กลับมาเหมือนเดิม เพื่อเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอิสลามได้อย่างเทียมแท้ และคนที่ 715 ระบุว่า ไม่อยากอยู่ภายใต้การปกครองของใคร เพราะจะได้บังคับใช้กฎหมายชารีอะห์
 ..
และเหตุผลเกี่ยวกับ “จัดการกับปัญหาที่มีกับรัฐไทยได้ดีกว่า” คนที่ 806 ระบุว่า จากที่ได้ติดตามข่าวตามเพจสำหรับเรื่องพวกนี้ มักมีเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดกลัว ความโกลาหลต่อคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของการเป็นอยู่ ความปลอดภัยในชีวิต ความอิสระที่จะออกไปไหนมาไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนแถวบ้านเรามานานหลายต่อหลายปี ดังนั้น ถ้าเรากู้เอกราชมาได้ก็จะสร้างความสบายใจ สร้างความสุข สร้างความเป็นอยู่ในสังคมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้เราไม่ต้องคอยพะวงต่อคนต่างๆ
 .
คนที่ 857 ให้เหตุผลว่า การพยายามกลืนวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจ จนทำให้เราในฐานะที่เป็นประชาชนชาวปาตานี ประเทศที่มีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมและภาษาของตัวเอง ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับอานาจรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมและอิสรภาพที่ปกครองโดยไม่ขึ้นกับใครได้ และคนที่ 929 ระบุว่า เพราะเอกราชคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเราชาวปาตานีกับชาวไทย ความขัดแย้งจะไม่มีวันยุติลงได้จนกว่าเจ้าของที่ดินจะได้ดินแดนของตนเองกลับคืนมา เราไม่ได้เป็นพี่น้องกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่เราเป็นเพื่อนบ้านกันได้ ซึ่งเพื่อนบ้านที่ดีควรสนับสนุนให้เพื่อนได้สร้างบ้านของตนเอง
 .

.
“สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” มีบทสรุปและข้อเสนอแนะไว้ในหัวข้อ “พูดดีกว่ายิง ถกกันดีกว่าวางระเบิด” (หน้า 232) 
 .
โดยงานวิจัยนี้ระบุไว้ในบทสรุปว่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะหาว่าชาวปาตานีสนับสนุนเอกราชหรือไม่กี่คน แต่จะหาว่าเหตุผลของคนปาตานีที่สนับสนุนมีอะไรบ้าง จากผลของการสัมภาษณ์คนปาตานีที่สนับสนุนเอกราช 1,000 คน พบว่า เหตุผลส่วนมากมีลักษณะที่ตกอยู่ใน 4 กลุ่มคือ (1) เป็นดินแดนของฉัน (2) จะมีอนาคตตามที่ต้องการดีกว่า (3) แก้ปัญหาที่กำลังมีกับรัฐไทย (4) เป็นศาสนกิจ ใน 4 กลุ่มนี้ กลุ่มที่ 1, 2 และ 3 เป็นลักษณะของคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าความปรารถนาเอกราชของคนกลุ่มนี้เป็นคุณค่าศักดิ์สิทธิ์
 .
“จากการศึกษาเรื่องคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ พบว่า คุณค่าแบบนี้มีจริง เป็นคุณค่าที่จะไม่ยอมแลกเปลี่ยนกับของตอบแทนทางโลก และพร้อมที่จะอดทนถึงตายเพื่อที่จะรักษาคุณค่านี้ไว้ รวมทั้งหากมีการเสนอแลกกับวัตถุจะเกิดปฏิกิริยาตีกลับ (backfire effect) ดังนั้น ในกรณีของปาตานี ความพยายามที่จะลดความรุนแรงด้วยการชวนให้ชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราชยกเลิกความฝันอันนี้ไม่น่าจะเป็นทางดำเนินการที่จะประสบความสำเร็จได้ แต่ควรหาทางให้สานฝันนี้ได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง”
 .
บทสรุปยังระบุไว้อีกว่า ขณะเดียวกัน จากการศึกษาขบวนการเอกราชใน “คาตาโลเนีย” หรือ “แคว้นคาตาลัน” ประเทศสเปน “รัฐควิเบก” ประเทศแคนาดา “สกอตแลนด์” ในสหราชอาณาจักร และ “โอกินาวา” ในประเทศญี่ปุ่น มีข้อค้นพบที่สำคัญ 2 ข้อคือ...
 
(1) ในช่วงต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช จะมีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในระดับต่างกันทุกกรณี แต่เมื่อมีการกระจายอำนาจถึงจุดที่มีพื้นที่ทางการเมืองให้คนในพื้นที่นั้นๆ ถกกันเองว่า ควรจะเดินทางตามเส้นทางไปสู่เอกราชหรือไม่นั้น กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงจะค่อยๆ สลายไป เนื่องจากความรุนแรงทำให้ขบวนการเอกราชที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยคุณค่าศักดิ์สิทธิ์เดียวกันเสียคะแนนในการถกกันเรื่องนี้ 
 
และ (2) ทุกคนในพื้นที่ที่มีการเรียกร้องเอกราชจะยึดในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเป็นคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าตัวเองสนับสนุนเอกราชหรือไม่ ถ้ารัฐห้ามให้คนในพื้นที่ตัดสินเรื่องเอกราชด้วยประชามติหรือวิธีอื่น หลายครั้งคนที่ก่อนหน้านั้นไม่สนับสนุนเอกราชก็เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนเอกราช เพราะมองว่ารัฐจะมาตัดสินในคุณค่านี้เอง โดยไม่ฟังเสียงเจ้าของคุณค่า
 
 

.
“ในเมื่อเหตุผลของการตัดสินใจต่างๆ เป็นเรื่องของการรักษาคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ไว้ ถ้าการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีเดียวให้คุณค่านี้ดำรงอยู่ในชีวิตได้ ความรุนแรงก็จะอยู่ต่อไป แต่ถ้าหาทางอื่นซึ่งรักษาคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ไว้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แนวทางนั้นก็อาจเป็นทางออกได้” 
 .
ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอสำหรับ “ลดความรุนแรง” และ “สร้างสันติสุข” ในชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในปาตานีทุกคนว่า...
.
รัฐไทยควรจะยุติความพยายามที่จะให้คนปาตานีที่มีความฝันที่จะได้เอกราชทิ้งความฝันนี้ เพราะความพยายามดังกล่าวจะไม่สำเร็จ แต่ควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีขบวนการเอกราชปาตานีที่ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้มีการถกกันอย่างเปิดเผยและกว้างขวางระหว่างคนปาตานีกันเองว่า การไปสู่เอกราชคือเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับปาตานีหรือไม่ 
 .
นอกจากนี้ ยังเสนอด้วยว่า งานวิจัยที่อาจทำต่อจากงานวิจัยนี้เมื่อสถานการณ์อำนวยคือ (1) คุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของรัฐไทยมีอะไรบ้าง คุณค่าเหล่านี้จะขัดกับข้อเสนอของงานวิจัยนี้หรือไม่ ถ้าขัดจะเดินต่ออย่างไร และ (2) คนปาตานีโดยรวมยึดคุณค่า “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือไม่ ซึ่งต่างจากการถามว่า สนับสนุนเอกราชหรือไม่
 .
น่าเสียดายที่ สกว.ตัดสินใจ “ถอดงานชิ้นนี้ออกจากเว็บไซต์” ของ สกว.เอง แทนที่จะนำมา “ต่อยอด” เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่ รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้ทำวิจัยและทีมงานมุ่งหวัง?!
 .
เมื่อเราปฏิเสธที่จะรับฟังผู้อื่น แล้วเดินตามความคิดของตัวเองที่คิดว่า “ถูกต้องแล้ว” หรือ “มาถูกทางแล้ว” แก้แบบนี้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง!!
 .
แต่ไม่แปลกใจหรือสงสัยกันบ้างหรือว่า ทำไมเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงทุกวันนี้ก็กว่า 15 ปีแล้ว ทำไมไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ในทางกลับกัน “ทหาร-ตำรวจชั้นผู้น้อย” รวมถึง “ชาวบ้าน” ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมในพื้นที่กลับตกเป็นเหยื่อความรุนแรงแทบทุกวัน?!?!
.

.
อ่านงานวิจัยของ รศ.ดร.มารค ตามไท ตัวเต็ม คลิก สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่
หรือ
https://mega.nz/#!jhEzRASQ!si7FfVcZCDfg6R6K2hU_8ZKeigsgP9SRg8ohhk4vLxQ
ลิงค์สำรอง

https://drive.google.com/open?id=1nxfLpWACDTVTZN5lMCzvkoOc3LQQypXE

.


กำลังโหลดความคิดเห็น