xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ลงชายแดนภาคใต้รับฟังแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐและเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ยะลา - นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับฟังแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐและเอกชน ก่อนร่วมแถลงนโยบายรัฐบาลในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (20 ก.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วย 5 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้แทนส่วนราชการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในพื้นที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมือง จ.ยะลา

โดยที่ประชุมมีการรับฟังผลการดำเนินงานในห้วงที่ผ่านมาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ ในส่วนของ ศอ.บต. พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวบรรยายสรุปภาพรวมงานพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติการพัฒนา ศอ.บต. ตอนหนึ่งว่า ทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ ศอ.บต. ที่ผ่านมา เร่งแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการมี “ชีวิตที่ดีกว่า” โดยแก้ปัญหาความไม่สงบและการพัฒนาทุกมิติเพื่อยุติความรุนแรง เพื่อตอบโจทย์การมีชีวิตที่ดี สร้างความสงบสุข ความเจริญจากสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ
 

 
โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์นโยบายจากด้านบน เข้ากับความต้องการของประชาชนจากด้านล่าง และบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชนแบบไร้รอยต่อ โดยมีกลุ่มเป้าหมายการพัฒนา คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้เห็นต่าง ที่มีโอกาสถูกโน้มน้าวต่อต้านรัฐ ซึ่งต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นว่า สังคมไทยจะให้ชีวิตที่ดีกว่าจากการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม พร้อมควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจ

พล.ร.ต.สมเกียรติ เลขาธิการ ศอ.บต. เผยถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของ ศอ.บต. ว่า เร่งแก้ไขปัญหา 3 ด้าน คือ การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นแกนสู่ความมั่นคง การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามศักยภาพพื้นที่ ตามวิถีของชุมชน สู่หนทางความมั่งคั่ง การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วม และการบริหารจัดการภาครัฐที่สอดคล้องต่อพื้นที่วิถีสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีความพอใจในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในพื้นที่

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุข้อมูลการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2561 พบว่า การลงทุนของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ของผู้ประกอบการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 22.6 ในขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง โดยใน 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1.5 ล้านคน 1.6 ล้านคน และ 1.7 ล้านคน ตามลำดับ
 

 
สำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น โรงงานแปรรูปผลไม้ โรงงานมะพร้าว โรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เกิดขึ้นในพื้นที่หลายแห่ง

ส่วนในมิติด้านความเข้าใจและสังคมพหุวัฒนธรรม เยาวชนในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งกล้าที่จะเสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับราชการที่เกี่ยวข้อง หลายคนมีความเข้าใจ และเชื่อมั่นในทิศทางการพัฒนาของรัฐที่จะเกิดจากประชาชนโดยเฉพาะคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ขณะที่มิติความมั่นคง พบว่า หลายพื้นที่ที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนา โดยเฉพาะการท่องเที่ยวชุมชน เช่น อ.เบตง ที่มีบริการที่พักในลักษณะโฮมสเตย์เกิดขึ้นกว่า 30 แห่ง ส่งผลให้สถิติความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ เช่น ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ตำบลนาประดู่ อ.โคกโพธิ์ แนวโน้มความรุนแรงลดลงอย่างมากเช่นกัน สำหรับสถิติความรุนแรงในภาพรวมก็ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน
 

 
เลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนพื้นที่หลังจากนี้ว่า 1.มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ เป็น “ทูตพาณิชย์เชิงรุก” โดยให้นำสินค้าและบริการที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ภายใต้ประเทศที่ตนเองรับผิดชอบ อย่างน้อยประเทศละ 1 ผลิตภัณฑ์/บริการ 2.สนับสนุนให้ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและครบวงจรเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

3.เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากรที่เกี่ยวข้องต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบและครบวงจร 4.กำหนดให้พื้นที่พัฒนาพิเศษ 5 จชต. เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด่านพรมแดน 9 แห่ง เพื่อยกระดับการให้บริการที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และจัดทำแผนความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น