ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เจาะสนามเลือกตั้งท้องถิ่นสงขลา วิเคราะห์ “สุชาติ-สาคร” มวยถูกคู่ “สุชาติ” แม้ไม่ใช่แม่เหล็กในสนาม อบจ.แต่มีแต้มต่อที่พรรคสังกัด ส่วน “สาคร” มวยปั้น พี่เลี้ยงดี ชี้สนามท้องถิ่นภาคใต้ ปชป.กดดัน แพ้ไม่ได้ หลังเสาไฟฟ้าเพิ่งล้มระเนระนาดจากศึกเลือกตั้ง ส.ส.
วันนี้ (19 ก.ค.) MGR Online ภาคใต้ Live สด! เจาะสนามเลือกตั้งท้องถิ่นสงขลา มองผ่านแว่นขยายกับ 2 วิทยากรโชกโชนประสบการณ์ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สื่อมวลชนอาวุโส และนายอดุลศักดิ์ มูเก็ม อดีตรองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่
นายอดุลศักดิ์ กล่าวว่า จ.สงขลา มีการประกาศตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในสนามท้องถิ่น ก่อนจะมีกฎหมายท้องถิ่นด้วยซ้ำ เคยถามว่าประกาศจะลงในขณะที่กติกายังไม่เสร็จ ต้องการอะไร ต้องการตำแหน่ง หรืออำนาจ ไม่มีใครศึกษาว่าเป็นแล้วทำอะไรได้ไม่ได้บ้าง กฎหมายให้อำนาจแค่ไหน งบแค่ไหน ในส่วนของ อบจ.สงขลา เปิดตัวเร็วกว่าจังหวัดอื่น เพราะนายนิพนธ์ บุญญามณี ลาออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านมา อบจ.สงขลาก็อยู่ในมือพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แม้นายอุทิศ ชูช่วย อดีตนายก อบจ.สงขลาคนเก่าจะสร้างความนิยมได้มากแค่ไหน แต่เมื่อนายนิพนธ์ไม่สนับสนุนแล้วก็ยังแพ้
“พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่จะลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ใช่แม่เหล็กในสนาม อบจ. แต่อยู่ค่ายที่สีดี ทำให้นักมวยฟอร์มสดขึ้นมา ในขณะที่แชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์เริ่มตกต่ำในภาคใต้ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี เป็นมวยปั้น แต่พี่เลี้ยงดี มวยเลยถูกคู่ ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะสนุก เป็นการปะทะกันของ 2 พรรคใหญ่ ที่ไม่ได้อยู่ตรงกันข้าม แต่ร่วมรัฐบาล ผู้ใหญ่น่าจะคุยกันรู้เรื่อง ซึ่งในส่วนของกระแสของพรรคการเมืองนั้น หลังจัดตั้งรัฐบาล มีกระแสข่าวไม่ดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงหลายๆ เรื่อง ประชาชนก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะเลือกเพราะไม่เอาทักษิณ ทำใจไว้แล้วว่านโยบายไม่เป็นจริง แต่เลือกเพราะทำให้บ้านเมืองสงบ คนอื่นหยุดยั้งระบอบทักษิณไม่ได้” นายอดุลศักดิ์ กล่าว
นายอดุลศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งในเทศบาลต่างๆ นั้น จะมีการเลือก อบจ.ก่อนเทศบาล ดังนั้น หลายกลุ่ม หลายคนที่จะลงเทศบาลก็ดูสนาม อบจ.เป็นตัวช่วยตัดสินใจ ในส่วนของเทศบาลนคร(ทน.) หาดใหญ่ ได้ยินมาว่า นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ จะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่อีกครั้งในนามหาดใหญ่โปร่งใส่ กลุ่มเดิม ไม่ได้บอกว่าจะลงในนามพรรคไหน แสดงว่าไม่ใช่ชื่อพรรคประชาธิปัตย์แล้ว และมีข่าวแว่วๆ ว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีการแถลงเปิดตัว มีการขัดแย้งภายในว่าทำไมในตำแหน่งนายก อบจ.ไม่ให้อดีต ส.ส.ลงสมัคร หาดใหญ่ก็เหมือนกันมีอดีต ส.ส.ประสงค์จะลงสมัคร ดังนั้น สนามอบจ.ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นก็แถลงข่าวไปแล้ว พรรคนี้ต้องรอมติพรรค หากยังไม่มีมติก็ยังไม่แน่นอน
นายอดุลศักดิ์ กล่าวว่า การที่ผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นจะลงในนามพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ต้องดูรูปแบบของท้องถิ่น หากเป็น อบต. พรรคจะเป็นที่พึ่งน้อย เพราะเป็นขนาดเล็ก หาเสียงได้อย่างทั่วถึง แต่ระดับเทศบาลเมืองใหญ่ๆ อย่างเทศบาลนคร (ทน.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ใหญ่มาก หากไม่พึ่งพรรคการเมือง พื้นที่โตเกินไปของผู้สมัคร ดังนั้นการไปอิงกับพรรคการเมืองจะมาตอบโจทย์ หลายพื้นที่ที่พรรคการเมืองสนับสนุนอย่างชัดเจน เช่น ที่ จ.นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี แล้วแต่พื้นที่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก่อนรัฐประหาร ในภาคใต้ คนเขาพูดกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ได้ ดังนั้น นักการเมืองท้องถิ่นจึงไปสยบยอมประชาธิปัตย์ มีแต่คนจะลงแย่งลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ หรืออย่างภาคเหนือก็แย่งกันลงพรรคเพื่อไทย พื้นที่เดียวอาจมีคนของพรรคเดียวกันลงสมัครทับซ้อนกัน เครือข่ายเดียว บางครั้ง พรรคจึงไม่สนับสนุนใคร
“ตอนนี้ การเมืองเข้มข้นขึ้น การเมืองระดับชาติเริ่มไม่ไว้ใจคนอื่น เอาน้อง เอาภรรยา หรือพี่น้องลงแทนในระดับท้องถิ่น การที่จะรู้สึกว่า คนในวงศ์ตระกูล หากไปเล่นระดับชาติ 1 คน ต้องลงท้องถิ่น 1 คน เพื่อความมั่นคงในสถานภาพ การจะเอาคนอื่นมาไม่สนิทใจนอกจากเครือญาติ เอาคนอื่นมาเกิดเขาดังขึ้นคะแนนเสียงดี กลายเป็นมาแข่งกับเราแทน” นายอดุลศักดิ์ กล่าว
นายอดุลศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ หากมองเรื่องการกระจายอำนาจ หลังเกิดการรัฐประหาร ถือเป็นความอ่อนด้อยของท้องถิ่นที่คำสั่ง คสช.ลดทอนอำนาจ แล้วเอาอำนาจเข้าส่วนกลางในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เหมือนเป็นเป็ดง่อย มี ผวจ.เป็นผู้ควบคุมและกำกับ เอาความคิดมาใส่ให้ประชาชนว่า ท้องถิ่นมีแต่เรื่องการทุจริตมากมาก ดังนั้น จึงมี ม.44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่เต็มบ้านเต็มเมือง แล้วก็มาคืนตำแหน่งให้กัน ตอนแรกเด็ดยอดแล้วก็คืน มันไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้มีการย้ายค่ายย้ายพรรคแล้วได้ดี ปลอดจากคดีต่างๆ เป็นโปรย้ายค่าย
“บางคนบอก คสช.มา ประเทศไทยถอยหลังไปมาก บางคนถึงขั้นบอกถอยไปเมื่อครั้งเริ่มมีประชาธิปไตยกัน โดยเฉพาะกับท้องถิ่น ทำให้การกระจายอำนาจให้ประชาชนถอยหลังไปมาก แล้วไปเพิ่มอำนาจให้ส่วนกลาง จะไปหวังว่าประชาชนจะเรียนรู้การปกครองกับท้องถิ่น เรียนรู้ได้แค่ที่รัฐอยากให้รู้ แม้แต่กฎหมายท้องถิ่น 4 ฉบับออกมาใหม่ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่มีเรื่องการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น เหมือนกับว่า หน้าที่ของประชาชนเลือกไปแล้ว แต่อำนาจของประชาชนไม่ได้ถูกเคารพ อำนาจการถูกยับยั้งการถอดถอนไปให้ส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง แทนที่ฐานอำนาจนั้นมาจากไหน อำนาจยับยั้งถอดถอนก็ควรอยู่ตรงนั้น แต่ไม่ได้ทำ อย่างนี้ไม่ยึดโยงกับประชาชน” นายอดุลศักดิ์
ด้านนายไชยยงค์ กล่าวว่า พรรคการเมืองใช้ท้องถิ่นเป็นฐานเสียงในการหาเสียง ฐานเสียงของใครในการเลือกตั้งไม่ว่าระดับบนหรือล่าง สุดท้าย จะมาตัดสินใจกันว่าใครกุมคะแนนเสียงของประชาชนไว้มากกว่ากัน แล้วจะจัดเกรดหัวคะแนนไว้ว่าระดับไหน เอ บี ซี ดูศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น จะแปรคะแนนสนับสนุนระดับชาติได้ วันนี้ ในหลายจังหวัด นักการเมืองมีกระจายอำนาจให้ฐานเสียงตัวเอง เหมือนกำลังสร้างบริษัทจำกัดในจังหวัดตัวเอง เช่น ภรรยาเป็นนายก อบจ. พี่ชายเป็นนายกเทศบาล แล้วยังพยายามให้คนของตัวเองเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือภรรยาติดคดีเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ให้สามีเป็นแทน
นายไชยยงค์ กล่าวว่า ใน จ.สงขลา หลายคนบอกว่า บางพรรคเป็นพรรครัฐบาลมาแบบเฉพาะกิจไม่สานต่อท้องถิ่น ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ แต่ตอนนี้ บางพรรคมีการจัดการและวางแผนการเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มเฟ้นหาคนทั้งสนาม อบจ.และเทศบาล เตรียมเป็นคู่ต่อสู้กับพรรคท้องถิ่นอย่างพรรคประชาธิปัตย์กันแล้ว ถามว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ เป็นเรื่องดี ที่จะมาแข่งขันกัน ไม่ว่าจะเข้ามาแล้วอาจจะไม่ได้ประโยชน์เรื่องการยึดโยงกับประชาชน แต่อย่างน้อยก็จะไม่เห็นการผูกขาด เพราะในอดีตที่ผ่านมา ท้องถิ่นเป็นการเมืองที่ผูกขาด แม้จะบอกว่าไม่ใช่คนของพรรค แต่ก็เป็นพฤตินัย ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรค แต่ที่ยืนอยู่ข้างหลังกันเต็มไปหมด นั่นคือใคร ก็คนของพรรคทั้งนั้น
นายไชยยงค์ กล่าวว่า อบจ.สงขลา พื้นที่เปิดเร็ว เพราะนายนิพนธ์ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี สงขลาจึงเปิดเร็วกว่าจังหวัดอื่น ในการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐชิงไปได้ 4 เขตที่ติดกัน เป็นพื้นที่ที่เจริญสูง จึงถือโอกาสเหล็กกำลังร้อนเปิดตัว พ.อ.สุชาติ ซึ่งเป็น ผอ.เลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ รีบเปิดตัวเพื่อต่อกระแส เพราะเพิ่งได้ชัยชนะ ส่วนนายนิพนธ์เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มานานแล้ว ทำไมต้องเลือก พล.ต.ท.สาคร ซึ่งเป็นตำรวจที่เพิ่งเกษียณเมื่อปี 2561 ไม่เคยผ่านสนามเลือกตั้ง เข็มของสาครก่อนเกษียณ 2-3 เดือนอยู่ที่จะเป็นคู่ชิงกับนายไพร ใน ทน.หาดใหญ่ รู้กันทั่ว ท่ามกลางกระแสว่านายไพรจะล้างมือ มีสาครเป็นตัวเลือกให้คนหาดใหญ่ พอนายนิพนธ์ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี คนในพรรคประชาธิปัตย์เขาก็เล่าให้ฟังว่า ประชาธิปัตย์ในสงขลาไม่ลงรอยกันมาเรื่อย ก็เลยต้องเอาคนที่ประสานได้ทุกฝ่ายคือ พล.ต.ท.สาคร พอเปิดตัว ในสายตาของสังคมก็มองว่านี่คือศึกชนช้างของตำรวจและทหาร ถือว่าเป็นมวยถูกคู่ คือต่างศึกต่างสี สังกัดพรรคใหญ่ทั้งคู่ ทั้งพรรคที่มีนายก และอีกพรรคที่เพิ่งถูกตีเมืองขึ้น ต้องล้างตา
“รอบนี้ ประชาธิปัตย์กดดัน ยิ่งมีข่าวหนาหูว่าที่หาดใหญ่ นายไพรลง แต่ย้ายค่ายไปพรรคพลังประชารัฐ คนหาดใหญ่เลยสนใจว่า ประชาธิปัตย์จะส่งใครลงแข่ง ซึ่งในภาคใต้ ประชาธิปัตย์เพิ่งแพ้ในสนามใหญ่มา ประชาธิปัตย์กดดัน หากแพ้ในสนามเล็กอีก อนาคต ประชาธิปัตย์จะไปทางไหน จะต้องเข้มข้น” นายไชยยงค์ กล่าว