xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.เสนอ 11 ยุทธศาสตร์ดันสงขลา ชนเวที 4 รมต.-8 ส.ส.รัฐบาลยาหอมเอกชน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เวที “จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” ครั้งที่ 1 หลัง 2 รมช.สงขลาเปิดเวทีรับฟังเอกชน เตรียมดัน 2 โปรเจกต์ใหญ่ในจะนะ ทั้งท่าเรือน้ำลึก-เมืองอุตสาหกรรมต้นแบบ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจะนะเปิด 11 ยุทธศาสตร์พัฒนาให้จะนะน่าอยู่ เปิดศักยภาพเมืองจะนะ “เมืองหลวงนกเขาแห่งอาเซียน” เงินหมุนเวียนนับร้อยล้านบาท ทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย สัตว์ทะเลกว่า 108 ชนิด ประมงพื้นบ้านทำรายได้เฉลี่ยวันละ 1 พันบาท จ้างงานด้านประมงกว่า 2 แสนบาทต่อวัน

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ ร.พ.จะนะ จ.สงขลา มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยน “จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” ครั้งที่ 1 หลังจากที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมพลพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.สงขลา พรรคร่วมรัฐบาล พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. และตัวแทนผู้ว่าราชการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดเวทีพูดคุยกับภาคเอกชนใน จ.สงขลา โดยรับปากดัน 9 เมกะโปรเจกต์ที่ จ.สงขลา โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งจะสร้างในพื้นที่บ้านสวนกง อ.จะนะ และโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.ร.พ.จะนะ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นการมาร่วมกันคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ อ.จะนะน่าอยู่ ขณะนี้ อ.จะนะเป็นทำเลทอง มีทั้งโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้า รัฐบาลเพิ่งประกาศให้ อ.จะนะเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จะมีทั้งท่าเรือ โรงไฟฟ้าทางเลือก นิคมอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ ซึ่งเวทีวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่พวกเราจะมาออกแบบด้วยกัน แล้วสื่อสารและบอกกล่าวไปยังคนอื่นๆ ตั้งแต่ระดับใน อ.จะนะไปถึงใน จ.สงขลา เพื่อให้มาเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเราและยอมรับกับสิ่งที่คนจะนะคิด ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อ.จะนะ นำเสนอยุทธศาสตร์
 
จากนั้นเป็นการอธิบายสภาพพื้นที่ของ อ.จะนะ ที่มีทั้งพื้นที่เขาและราบลุ่ม ซึ่งเหมาะสำหรับนกเขา จนทำให้ อ.จะนะได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงนกเขาแห่งอาเซียน” มีเส้นทางที่ชาวต่างประเทศมาซื้อนกเขา มีความเชื่อเรื่องโชคลาภ จากการเก็บข้อมูลมีฟาร์มนกเขาถึง 79 ฟาร์ม มีอาชีพต่อเนื่องจากการเลี้ยงนกเขากว่า 10 อาชีพ เช่น เรื่องกรงนกเขา ที่มีการแยกกันทำ และเป็นเรื่องของภูมิปัญญา อย่างตะขอที่มีลายสวยมาก หรือกรงผสมพันธุ์นก อาหารสัตว์ อุปกรณ์ มูลค่าโดยรวมของการเลี้ยงนกเขากว่าร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ ทรัพยากรทะเล มีสัตว์ทะเล 108 ชนิดทั้งปลา กุ้ง หมึก ปู และมีระบบทางนิเวศน์ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีโลมา เต่า ปูลม จากการสำรวจพื้นที่ใน 8 หมู่บ้าน 3 ตำบล มีเรือประมงพื้นบ้านที่ทำรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท มีการจ้างงานในการประมงกว่า 2 แสนบาทต่อวัน รายได้จากประมงรวมแล้ว 332 ล้านกว่าบาทต่อปี เห็นวงจรเศรษฐกิจของชุมชน การรับซื้อของพ่อค้าคนกลางเอาไปขายที่แพแต่ละจังหวัด มีการส่งออกไปต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี อีกทั้งยังมีเรื่องการแปรรูปในชุมชน เช่น ปลาแห้ง จัดทำแผนที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ ส่วนด้านการเกษตร ข้อมูลจากเกษตรอำเภอจะนะ ระบุว่า มีทั้งการปลูกยางพารา ข้าว มีพันธุ์พื้นบ้าน ไม้ผล พืชไร่ มีครัวเรือนประกอบการเกษตร 16,178 ครัวเรือน และมีแรงงานเพื่อการเกษตร 57,039 ครัวเรือน

ด้านสภาองค์กรชุมชนจะนะได้รายงานผลการดำเนินงาน “จะนะน่าอยู่” โดยนายกระจ่าง ชูชื่น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล อ.จะนะ กล่าวว่า สภาเกิดขึ้นปี 2551 ครบทุกตำบลและอีก 1 เทศบาล รวม 15 สภา จากนั้นได้มีเครือข่ายขึ้นมา และล่าสุดมีความคิดกันว่าควรมีคณะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากสภาตำบลละ 2-3 คน ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจะนะของเราที่น่าอยู่ โดยจะขับเคลื่อนใน 11 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ความมั่นคงทางอาหาร 2.การจัดการขยะ 3.การท่องเที่ยวโดยชุมชน 4.ความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กร 5.การศึกษาที่ยั่งยืน 6.พลังงานสะอาด 7.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8.ความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย 9.การสร้างสำนึกของคนจะนะในการรักครอบครัวและชุมชน 10.การพัฒนาเศรษฐกิจคนจะนะที่ยั่งยืน และ 11.คนจะนะมีสุขภาพกายและใจที่ดี
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.ร.พ.จะนะ
 
ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง “โอกาสและความสำเร็จของยุทธศาสตร์จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ” โดย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายอับดุลสุโก ดินอะ ร.ร.จริยธรรมศึกษามูลนิธิ

ดร.สินาด ตรีวรรณไชย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คนที่พยายามเอาอุตสาหกรรม ถามว่า เวลาไปพักร้อนไปที่ไหน คำตอบคือเขาไปทะเลสะอาด ที่อากาศดีๆ แต่เราจะถ่อไปทำไม ในเมื่อเรามีที่ทะเลและอากาศที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งเท่าที่ฟัง ถามว่า อ.จะนะน่าอยู่จะเป็นไปได้แค่ไหน ตอบว่า เป็นไปได้ เพราะ อ.จะนะยังไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว เพราะประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าไปต่อสู้ไม่ให้จะนะไม่เละไปกว่าปัจจุบัน เพราะพวกเราที่ยังยืนหยัด เวลาพูดคำว่าน่าอยู่ เราคิดถึงอะไร อาจจะคิดถึงบ้าน ถ้าบ้านรกและมีขยะเยอะ น่าอยู่หรือไม่ คล้ายกัน ความน่าอยู่เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ความน่าอยู่เป็นเรื่องที่พื้นฐานมากๆ ถามคนแก่ญี่ปุ่น ต้องการแค่อากาศกับน้ำสะอาด จะนะเรามี วันนี้แย่ลงหน่อย หากไม่สู้ก็จะไม่มี สู้ด้วยเหตุผลและการมีส่วนร่วม สิ่งที่เราต้องการ

ดร.สินาด กล่าวว่า โดยเฉพาะที่เรามีทะเล ในต่างประเทศเขาดูศักยภาพ เช่น อาหาร ธุรกิจจะรักษาสภาพของทะเลให้ยังดีอยู่ เมื่อดูนโยบาย ประโยชน์จะตกอยู่กับใครบ้าง ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นถึงปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ ที่ไม่เคยบอกเราว่าจะเหมาะกับพื้นที่อย่างไร คนในพื้นที่จะได้มากน้อยแค่ไหน หากบอกไม่ได้ แสดงว่ายังไม่ได้รับฟัง ยังมีข้อบกพร่องอยู่มาก หากมีเวทีต้องรอถามเขา ถ้าเขาไม่ตอบ ทุกครั้งที่เขาจะมาสร้าง เราต้องบอกเขาได้ว่า สร้างไม่ได้ เพราะเขาไม่ตอบ จะนำไปสู่การต่อรองได้ เราไม่เคยมีข้อมูล จะมาพูดข้างเดียวโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เป็นการดูถูกประชาชน คิดว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง

“เคยทำการศึกษาที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่นั่นมีการรวมกลุ่มและประกาศเขตอนุรักษ์ชัดเจนว่าไม่ให้เรือขนาดใหญ่เข้า ผลปรากฏว่า เขาจะมีรายได้มากขึ้น 25 % เพราะทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้น ประมงชายฝั่งทำได้ง่ายขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามาช่วย มีการเผยแพร่งานวิจัยออกไป ต่างประเทศหลายคนมาถามถึงว่าทำอย่างไร” ดร.สินาด กล่าว
เวทีเสวนาเรื่อง “โอกาสและความสำเร็จของยุทธศาสตร์จะนะน่าอยู่นะจ๊ะ”
 
ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า โจทย์ของจะนะก็คือโจทย์เดียวกับโลก คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ โลกมีเรื่องโลกร้อน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ส่วนยุทธศาสตร์จะนะจะเป็นไปได้แค่ไหนกับโจทย์โลกที่กำลังไปอยู่ ต้องคิดเพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมกับปัญหาโลกที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้ สิ่งที่คนจะนะเจอ คือเราไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของรัฐในการบริหารจัดการ เท่าที่ฟังจากคนจะนะ แค่หนึ่งโรงงานที่มีอยู่ รัฐยังจัดการไม่ได้ หากมีมากมายเป็นนิคมอุตสาหกรรม รัฐจะจัดการได้อย่างไรบ้าง จะนะจะน่าอยู่จะอยู่ในมือใคร

ดร.อลิสา หะสาเมาะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คนจะนะหาเงินได้วันละ 1,000 บาท แต่ปัตตานีทั้งเดือนหาได้ 3,000 บาท ผู้หญิงปัตตานีต้องไปทำงานโรงงาน ความยากจน ค่อนข้างต่างจากประมงในปัตตานี ส่วนหนึ่งไปทำงานที่มาเลเซีย ทั้งพ่อและแม่ ลูกอยู่กับคนแก่ ลูกหลาน 7-8 คน เกิดปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ที่ จ.ปัตตานีมีอุตสาหกรรมเหมือนกัน ในทะเล ในอ่าวปัตตานี ปลาแทบจะหมด แต่สงขลายังมีเยอะอยู่
 
นอกจากนี้ คำถามคือ โครงการเศรษฐกิจพิเศษจะตอบคำถามเรื่องความยากจนได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ต้องทบทวนและพิจารณา ในเรื่องการขจัดความหิว จะนะมีทรัพยากรล้นเหลือ คำถามคือ เขตเศรษฐกิจทำให้คนจะนะและชุมชนโดยรอบอิ่มหรือไม่ ได้รายได้เฉลี่ย 1,000 บาท แต่มีคนทำไม่ถึงมีไหม ก็มี
 



กำลังโหลดความคิดเห็น