“โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก” ครอบคลุม 13 ลุ่มน้ำสาขา ในพื้นที่ 11 จังหวัดของภาคใต้ฝั่งตะวันออก เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมๆ กับตระเวนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 4 เวทีใน 4 จังหวัดหลักคือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและปัตตานี โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท คอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ดีไว พลัส จำกัด และบริษัท เซ้าท์อิสท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด หรือ SEATEC ให้ทำการศึกษาโครงการนี้
หลายปีมานี้สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีโครงการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนา “โครงการขนาดใหญ่” หรือ “เมกะโปรเจกต์” ต่างๆ มากมาย ไม่เพียงมาในรูปการศึกษา SEA ที่นอกจากโครงการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการทำ SEA เพื่อปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ SEA เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากระบวนการผลิตและสำรองไฟฟ้าในระดับภาคใต้ ระดับจังหวัดหรือพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาในชื่อย่ออักษรภาษาอังกฤษอื่นๆ อีก อาทิ EIA หรือ EHIA อันหมายถึงโครงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว หรืออาจจะขยายผลสู่การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพเพิ่มเข้าไปด้วย อย่างการทำ EIA หรือ EHIA ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2, ท่าเรือน้ำลึกปากบารา, เส้นทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ เขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
จึงอย่าได้แปลกใจที่อาจจะมีภาคประชาสังคม หรือกระทั้งประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดความสงสัยว่า แท้จริงแล้วการจัดทำ SEA พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในเวลานี้ ทำไปเพื่อกลุ่มนักลงทุนหรือไม่ มีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า โดยเฉพาะมีสิ่งที่ต่างหวาดหวั่นกันก็คือ โครงการศึกษา SEA ครั้งนี้จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของบรรดาเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ตามมา อันเป็นการเตรียมจัดหาแหล่งน้ำดิบเพื่อเกื้อหนุนการพลิกภาคใต้ให้เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช่หรือไม่?!
เพื่อความกระจ่างในเรื่องราวและไขข้อข้องใจให้หายวิตกกังวลเหล่านี้ “MGR Online ภาคใต้” จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ “สิริวิชญ กลิ่นภักดี” ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งก็ได้รับคำตอบอย่างครอบคลุมในแทบจะทุกประเด็น
________________________________________________________________________
“MGR Online ภาคใต้” : สวัสดีครับวันนี้ MGR Online ภาคใต้ อยู่ในเวทีการศึกษาโครงการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เรื่องของน้ำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี เรามาสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น และความหวั่นเกรงของคนในภาคใต้ในเรื่องราวต่างๆ โดยเราได้นัดคุยกับ คุณสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
.
“MGR Online ภาคใต้” : จริงๆ แล้วโครงการที่เรามาศึกษาเรียกสั้นๆ ว่า SEA เรื่องน้ำ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ แต่เน้นในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ทำไมไม่มีตะวันตก หรือความเป็นมาเป็นอย่างไร
.
“สิริวิชญ กลิ่นภักดี” : ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่อง SEA ผมพูดเรื่องน้ำก่อนละกัน วันนี้การทำงานบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่รับผิดชอบ 38 หน่วยเพียงแค่ในส่วนของราชการ เริ่มตั้งแต่หน่วยการคาดการณ์ จะมีฝนตกหรือไม่ตก, หน่วยที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการ เช่น ไฟฟ้า ชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ เยอะแยะไปหมด, หน่วยที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาภัยทางน้ำ โดย 38 หน่วยนี้มีกฎหมายที่ถือในมือเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ 44 ฉบับ นี้คือ 1 องค์กร
.
อันที่ 2 ในทุกพื้นที่ไปตรงไหนเราก็พูดถึงเรื่องภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาคุณภาพน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ เห็นความเสื่อมโทรมของป่าต้นน้ำ ถามว่าหน่วยงานทำไม ทุกหน่วยงานปฏิบัติแต่ทำภายใต้กรอบหน้าที่ของตนเอง จะเป็นแบบนี้ทั้งหมด
.
: แสดงว่าสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คือ การเข้ามาทำหน้าที่บูรณาการใช่หรือไม่
.
ผมจะอธิบายต่อนะครับ จากปัญหาดังกล่าวทั้งเรื่องกฎหมาย หน่วยงาน สภาพปัญหา ความไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน นำมาสู่กลไกที่รัฐบาลได้กำหนดที่เรียกว่า “4 เสาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย” เริ่มตั้งแต่ปี 2557
.
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการทำแผนโดยเรียกว่า แผนแม่บทบริหารทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนแม่บทประกอบด้วย 6 ด้าน ด้านที่ 1 น้ำอุปโภคบริโภค โดยจะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีน้ำกินน้ำใช้ แก้ปัญหาให้กับทุกส่วน ชุมชนชนบท ชุมชนเมือง อุตสาหกรรม ด้านที่ 2 ความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพราะเราต้องยอมรับว่าประเทศไทยทำการเกษตร การเกษตรต้องการน้ำ อุตสาหกรรมต้องการน้ำ ทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเดิมที่มีอยู่ จะมีรูปแบบอย่างไรให้น้ำมีเพียงพอกับการใช้งาน
ด้านที่ 3 การป้องกันภัยน้ำท่วม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในประเทศเราฝนเยอะ มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำอย่างไรเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน ด้านที่ 4 คุณภาพน้ำและการอนุรักษ์ฟื้นฟูลำน้ำธรรมชาติ ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน และด้านที่ 6 การบริหารจัดการ หมายความว่าทั้งหมดต้องมีวิธีการบริหารจัดการ พูดถึงตั้งแต่กฎหมาย เช่น จะแก้กฎหมายใดเพื่อให้สอดคล้องต้องกัน นี่คือสิ่งที่รัฐแก้ในประเด็นที่ 1 ก่อนที่จะโยงเข้าเรื่องที่เราพูดกัน
ประเด็นที่ 2 รัฐบาลทำกฎหมาย พรบ.ทรัพยากรน้ำ การมี พรบ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการบริหารจัดการให้มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่พูดถึงเรื่องทรัพยากรน้ำเป็นร่มใหญ่ครอบกฎหมายอื่นๆ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้แก้ปัญหาน้ำได้ทั้งหมด ซึ่งวันนี้ พรบ.ประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 62 แต่วันนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำกฎหมายลูก เมื่อกฎหมายลูกออกมาเสร็จจะมีผลบังคับใช้ 100%
ประเด็นที่ 3 รัฐบาลตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพราะปัญหาอย่างที่เรียนแล้วในข้างต้น เรารู้สึกอยู่ตลอดว่าขาดอะไรซักอย่าง ที่เป็นคนบูรณาการหรือเชื่อมต่อการทำงานน้ำทั้งหมดให้เป็นเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงออกทะเล ตั้งแต่เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ
ประเด็นที่ 4 เรื่องนวัตกรรม ก็คือเรื่องข้อมูล ผมถามเวลาพูดเรื่องน้ำท่านไปขอข้อมูลจากใคร ท่านบอกไปขอกรมอุตุฯ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ มีหน่วยงานเยอะแยะ แล้วตัวเลขมันเป็นตัวเลขกันเดียวหรือไม่ แล้วเวลาเราไปแจ้งเตือนประชาชนว่าจะเกิดปัญหานี้ ตัวเลขที่เราแจ้งก็เป็นคนละหลัก คนละทฤษฎี คนละวิธี เพราะฉะนั้นนี้คือนวัตกรรมที่รัฐอยากให้เราทำ มีศูนย์รวมของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมาดูที่นี้ที่เดียวแล้วตอบโจทย์ได้ทั้งหมด นี่คือ “4 เสาหลักในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย”
ที่นี้ผมจะเชื่อมโยงมาสู่เรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ จากปัญหาที่ผมพูดไปแล้ว คำว่าประเมินสิ่งแวดล้อมพอมีคำว่าสิ่งแวดล้อมเข้ามา มันจะมีความรู้สึกว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับสิ่งแวดล้อม เหมือนกับการทำ EIA เหมือนกับอะไรหรือไม่ นั้นคือความเป็นห่วงของประชาชน
โดยผมขอเรียนว่า SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก เขาคิดอะไร โดยเขาคิดแบบที่ผมบอกก็ปัญหามันเกิดขึ้นอยู่ตลอด หน่วยงานที่ปฏิบัติก็ต่างคนต่างทำ เขาเลยบอกว่าเอาแบบนี้ละกัน สทนช.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการดูภาพรวมว่า วันนี้รัฐบาลมีนโยบาย มีแผนในเรื่องน้ำอะไรบ้าง คงต้องเริ่มตั้งแต่ปรับแผนชาติ ปรับแผนแม่บทเรื่องน้ำ เอาไปดูเรื่อง SDG ความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ คือให้ทุกคนมีน้ำบริโภคก็มาจากตังนี้นะครับ
ไปดูแผนพัฒนาภาคสิว่าเขาพูดถึงเรื่องอะไร แผนพัฒนาภาคใต้พูดถึงเรื่องท่องเที่ยวทั้งนั้นนะครับ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว มาดูแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด มาดูแผนพัฒนาจังหวัด เมื่อวานเราไปเยี่ยมผู้ว่าราชการจังหวัด มีแผนพัฒนาจังหวัด มีการศึกษาในระดับจังหวัด ทบทวนแผนทุกอย่าง ดูการศึกษาอะไรที่มีความเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อันที่ 1
อันที่ 2 ไปศึกษาปัญหาเหมือนที่เรามาคุยกันวันนี้ แต่นี่คือภาพรวมของลุ่มน้ำ หลังจากนี้เราลงไปลุ่มน้ำย่อยๆ ไปเจาะลึกกันเลยว่าต้นน้ำของท่านมีปัญหาอะไร ป่าเสื่อมโทรมหรือไม่ ป่าเดิมมันมีอยู่ 50% ของพื้นที่ วันนี้เหลือกี่เปอร์เซ็นต์ กลางน้ำละขุดกันตะบี้ตะบันเลยหรือเปล่า หรือมีระบบที่เหมาะสมอยู่แล้ว ปลายน้ำละมีอุตสาหกรรมมาไหม ทิ้งน้ำเสียลงหรือเปล่า มีกรมวิธีการจัดการที่ดีหรือยัง เราดูทั้งระบบอย่างนี้ศึกษาปัญหา ไปดูแผนการพัฒนาของหน่วยงานว่า เขามีแผนจะพัฒนายังไง
เมื่อเราได้พวกนี้แล้วเอามาประมวล มารับฟังความคิดเห็น เหมือนเรามาคุยกันวันนี้ว่า ท่านเห็นหรือไม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำของท่านนี้ ท่านคิดอย่างไร แล้งไม ท่วมไม ท่านคิดว่าควรจะมีวิธีแก้อย่างไร และวันนี้เรามาฟังเราจะเห็นว่ามีความคิดเห็นต่างๆ นานา บางมุมมองในเชิงอนุรักษ์ มุมมองในเชิงการพัฒนา อาจจะมาจาก 1 ภารกิจของหน่วยงาน
แต่การศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เราไม่ได้มองในมิติใดมิติหนึ่ง เรามองทั้งในมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม แถมไปดูเรื่องวัฒนธรรมถิ่นอะไรก็มีอีก แม้คำว่าเราจะไม่ได้มองในมิติเดียว วันนี้ที่นี่ผมพูดมา 2 ข้อ แล้วการพิจารณามันต้องครอบคลุมใน 3 มิติที่ผมพูด หลังจากนั้นก็มาประมวล อ้าวลองมากำหนดเป็นทางเลือก ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกแบ่งเป็น 13 ลุ่มน้ำย่อย สมมติลุ่มน้ำย่อยที่ 1 ท่านคิดว่าลุ่มน้ำของท่านควรพัฒนาไปทางทิศไหน คำตอบก็อาจจะคือ เออลุ่มน้ำนี้ต้องมาพัฒนาลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำนี้ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ลุ่มน้ำนี้น้ำท่วมตาปีตาชาติท่วมอยู่อย่างนี้ ลุ่มน้ำนี้มีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ท่านคิดและท่านต้องช่วยหาคำตอบด้วย นี่คือเราถามประชาชน เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ท่านคิดว่าควรจะแก้อย่างไร
: ทีนี่ทำไม่วันนี้เราศึกษาแต่ฝั่งตะวันออก แล้วฝั่งตะวันตกของภาคใต้ละ
.
ผมเรียนอย่างนี้ครับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติตั้งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ปีกว่าๆ วันนี้เราทำแผนแม่บท เราทำกฎหมายลำดับรอง เรากำลังจะลงไปทำแผนแม่บทในระดับลุ่มน้ำ เพราะฉะนั้นการที่จะไปทำแผนในระดับลุ่มน้ำ วิธีเก่าที่เราเคยคิดเราไม่ดูและ เดิมเวลาเราจะทำโครงการเรากำหนดโครงการขึ้นมา 1 โครงการ เป็นความต้องการจากภาครัฐลงไป หรือจากผู้ที่กำหนดนโยบายลงไป แล้วไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าโครงการนี้จะสร้างนะ แต่เกิดผลกระทบอะไรบ้างเดี๋ยวหาวิธีแก้
.
แต่หลักคิดใหม่ไม่ใช่อย่างนั้น เราลงมาคุยก่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำของท่าน ปัจจุบันปัญหามันคืออย่างไรไร แล้วท่านมีวิธีคิดว่าท่านควรจะแก้ปัญหาอย่างไร นั่นคือเอาปัญหา เอานโยบาย แล้วเอาหลักคิดหรือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หน่วยงาน มาช่วยกันกำหนดกรอบก่อน การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้มีกำหนดว่าเป็นโครงการ A B C D เราจะได้กรอบ ว่าทิศทางการที่จะขับเคลื่อนลุ่มน้ำนี้ควรจะไปในทิศทางไหน
.
: ทีนี้มันมีคำถามว่า ทำไมต้องศึกษาฝั่งตะวันออก ไม่มีฝั่งตะวันตกด้วย ว่าจริงๆ แล้วลุ่มน้ำฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกมันมีความเชื่อมโยงกันหมด
.
ไม่เชื่อมโยงครับ มีงบประมาณแค่นี้
.
: ชัดเจน (หัวเราะ)
.
เรียนอย่างนี้ละกัน เราจะทำครอบคลุมทั้งประเทศนะ เพราะปีนี้เราทำในกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผมใช้คำว่ากลุ่มลุ่มน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาไล่มาตั้งแต่สาละวิน ปิง วัง ยม น่าน กก โขงเหนือ เจ้าพระยา สะแกกรัง ท่าจีน รวมเป็นกี่ลุ่มน้ำละ ครบตั้งแต่ภาคเหนือยันภาคกลาง เราทำในภาคอีสาน ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำสงคราม เกือบทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือนะครับ เราทำที่ภาคใต้
.
: เป็นโครงการที่เดินไปพร้อมๆ กัน
.
เหมือนกันครับ ทำการประเมิน แล้วหลักการเหมือนกันคือ ต้องการรู้ว่าทิศทางของการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ ปัญหาจริงของลุ่มน้ำคืออะไร ควรจะขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อเอาผลตรงนี้มาจัดทำแผนแม่บท แผนแม่บทลุ่มน้ำเขาก็เข้ามามีส่วนร่วมอีกโดยกรรมการลุ่มน้ำ
.
: แล้วทำไมภาคใต้ต้องแยกเป็นตะวันตกกับตะวันออก
.
อ้าวก็ภาคใต้มันแบ่งเป็นตั้งกี่ลุ่มน้ำล่ะ ภาคใต้มีลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลุ่มน้ำตาปี ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่วนฝั่งตะวันตกมีลุ่มน้ำเดียวคือ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก วันนี้เราแบ่งลุ่มน้ำใหม่ จากที่พูดถึง 4-5 ลุ่มน้ำเมื่อกี้ ฝั่งตะวันออกจะเหลือ 3 ลุ่มน้ำ เราเรียกลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ตรงกลางใช้ชื่อลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตอนล่าง 3 จังหวัดใช้คำว่าลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ส่วนลุ่มนำฝั่งตะวันตกยังอยู่เหมือนเดิมทั้งหมด
.
วันนี้การศึกษาในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกมันก็อีหลักอีเหลื่ออยู่ เพราะมันไปคร่อมกับการเปลี่ยนลุ่มน้ำใหม่ เราก็พยายามที่จะปรับให้เป็น ต่อไปลุ่มน้ำจะเป็นก้อนต่อเนื่องกัน เป็นก้อนต่อเนื่องกัน เดิมมันเว้นตะวันออกแล้วแทรกด้วยตาปี แทรกด้วยทะเลสาบสงขลา แทรกด้วยปัตตานี
.
: มันก็เหมือนกลุ่มลุ่มน้ำ
.
ใช่ครับ เพราะภาคใต้มันเป็นลุ่มน้ำสายสั้นๆ ที่ไหลตรงลงสู่ทะเลอ่าวไทย ยกเว้นทะเลสาบสงขลาที่มีความซับซ้อน
.
: ถ้าอย่างนี้เราจะศึกษาตะวันออกกับตะวันตกของภาคใต้พร้อมกันมันจะไม่ดีกว่า
.
ไม่มีเงินครับ ไม่มีงบประมาณ นี่คือข้อเท็จจริงครับ เพราะฉะนั้นลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกเราก็ไปจัดไว้ศึกษาในปีงบประมาณต่อไป นั่นคือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เราต้องการดูภาพรวมทิศทางของการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ แต่เราปูพรมได้ไม่ทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ จริงๆ อยากจะทำฝั่งตะวันตกด้วย อันนี้หรือเปล่าครับที่เป็นการตะกิดตะกวงใจ ว่าทำไมไม่ทำฝั่งตะวันตก
.
: ใช่ๆ (หัวเราะ)
.
ตอบได้เลยครับว่า ไม่มีเงินครับ
: แล้วจริงๆ สังคมในภาคใต้เองก็ตะกิดตะกวงใจว่า วันนี้เอาง่ายๆ เลย การมาศึกษาระดับยุทธศาสตร์ ท่านก็พูดหลายอย่างว่าเป็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นการบริหารจัดการภาพรวมเพื่อนั้น เพื่อนี้ เพื่อน้ำอุปโภค เพื่ออะไรต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่สังคมคลางแคลงใจมากก็คือ จริงๆ แล้วมันเป็นเพื่อเก็บน้ำเพื่ออุตสาหกรรมหรือเปล่า
.
มันอุตสาหกรรมตรงไหน วันนี้เราให้การศึกษานี้จะมีการทบทวนทิศทาง แผนพัฒนาต่างๆ ทั้งหมดนะครับ ทั้งหมดอะ
.
: เพราสิ่งหนึ่งเราต้องไม่ลืมว่า วันนี้ภาคใต้มันมีความต่อเนื่องมาจากภาคตะวันออก เขาก็กลัวกัน
.
ผมเรียนอย่างนี้ว่า วันนี้คนที่จะตอบคำถามว่าทิศทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับลุ่มน้ำ ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนกำหนด เรามารับฟังความคิดเห็นทั้งภาคราชการ ภาคประชาชน ซึ่งเขามาจากปัญหา มาจากตัวนโยบาย ซึ่งทุกคนจะต้องมองว่านี่เราเอาเรื่องจริงมากางบนโต๊ะว่า นี่เรื่องจริงของภาคใต้ มันเป็นอย่างนี้ แล้วมาช่วยกันกำหนดทิศทาง ผมไม่ได้เป็นคนกำหนด ประชาชน การศึกษานี้ผมเน้นการมีส่วนร่วม ท่านอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วม จะเห็นเลยว่าบางทีเราทำการมีส่วนร่วมบางที่ 50 คน 60 คน วันนี้เรา 300 คน
ให้นโยบายไปจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่า ความสำเร็จของการทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์จะสำเร็จได้ต้องมีส่วนร่วม แล้วการมีส่วนร่วมเราจะต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนร่วมจริงๆ แล้ววันนี้มันเป็นแค่เริ่มต้นอย่างที่ผมบอก หลังจากนี้จะทำในระดับลุ่มน้ำ เราจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
: อันนี้ที่ถาม ผอ.ก็คือ ในส่วนของภาคใต้ วันนี้เขามีความคลางแคลงใจ ไม่ใช่ว่าผมเป็นสื่อแล้วต้องมาถาม แต่ว่าเอาคำตอบไปให้สังคมรับรู้ว่า กรณีของการศึกษา SEA ก็คือระดับยุทธศาสตร์ วันนี้เข้ามามากมายเลยในพื้นที่ภาคใต้ กรณีของการศึกษา SEA ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องการปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือท่าน ผอ.บอกว่าเน้นการมีส่วนร่วม คนภาคใต้หลายเครือข่ายในภาคใต้ก็เข้าไปร่วมหลายเวที ปรากฏว่าขบวนการมีส่วนร่วมเขาก็รู้สึกคลางแคลงใจว่า จริงๆ แล้วมีส่วนร่วมจริงหรือเปล่า เช่น เวที ค.1 โรงไฟฟ้าถ่านหิน เวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึก หรือเวทีนู้น เวทีนี้ เขาก็มีความแคลงใจ เพราะว่าให้มันเป็นไปตามระบบ ทีนี้ที่ผมถามหมายถึงว่า อยากให้ท่าน ผอ.มีโอกาสอธิบายเลยว่า จริงๆ แล้วการศึกษาครั้งนี้มันไม่ใช่เป็นเพื่ออุตสาหกรรม ไม่ใช่เป็นเพื่อ...
ก็อย่างที่ผมเรียนครับว่า เราต้องการที่จะกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้มันจะเกิดขึ้นได้ มันจะสำเร็จได้ แล้วตรงกับความต้องการ ท่านเข้ามามีส่วนร่วม ก็คือเราเน้นการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมเอ่อเราเชิญคน ผมๆ ขอคำแนะนำท่านแล้วกันว่า ใครคือตัวแทน เราพยายามหาตัวแทนที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน เพื่อเข้ามาแสดงความคิดเห็น แล้วก็มันไม่ได้มีนัยแอบแฝง ทุกภาคส่วนเขาก็มี ถามว่าในเซ็กชันของพลังงาน เขาก็อยากกำหนดทิศทางในการ ท่านต้องกลับไปดูนโยบายที่มันเป็นนโยบายของสภาพัฒน์ คือโครงการนี้เปิดเผย ท่านเข้ามาดูได้หมดว่าเอาการศึกษานี้เขาไปทำอะไร เอานโยบายมาดู ท่านดูได้ตั้งแต่แรก ท่านถามได้ตั้งแต่แรก
ผมไปดูนโยบายการพัฒนาภาคใต้ ไม่เห็นมีเรื่องนี้ มีแต่เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขียนเรื่องสะเดา มีเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การสนับสนุนแหล่งน้ำท่องเที่ยวสำคัญ เช่นที่ภูเก็ต เกาะสมุย ที่มีความชัดเจนก็สามเหลี่ยมเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.เบตง หนองจิก และสุไหงโก-ลก การพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ เขาอยากจะได้ทิศทางของการพัฒนา ความต้องการมีเท่าไหร่ เพื่อไปวางแผน หากข้องใจขอดูข้อมูลการศึกษาได้หมด บริษัทที่ปรึกษาก็พร้อมจะเปิดเผย
: ต้องอธิบายในฐานะสื่อ แค่การศึกษา SEA ไฟฟ้าก็ไม่เชิญสื่อ แต่ในขณะนี้เมื่อมาเรื่องน้ำฝั่งตะวันออก มีโอกาสได้คุยทั้งในรอบ นอกรอบ ไม่เหมือนกัน แต่ทั้ง 2 โครงการนี้ชื่อและวิธีการเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องถามแทนชาวบ้านว่า โครงการ SEA น้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีวาระซ่อนอะไรหรือเปล่า
.
ไม่มี จะมีวาระซ่อนเร้นเรื่องอะไร ในเมื่อคนที่จะเข้ามากำหนดทิศทางการขับเคลื่อน คือ คนที่เข้ามามีส่วนร่วมบริษัทที่ปรึกษา โครงการนี้จะใช้ข้อมูลทุติยภูมิเป็นหลัก คือไปทบทวนการศึกษา กรอบนโยบาย แล้วประเมินและมาวิเคราะห์ มีส่วนร่วมทุกกระบวนการ เวทีที่ลงลึกว่านี้เช่นที่ลุ่มน้ำปัตตานี ก็เฉพาะลุ่มน้ำปัตตานี ตอนบนอยู่ที่ยะลา มีอ่างเก็บน้ำ อาจต้องไปดูป่าต้นน้ำว่ามีน้ำมาป้อนอ่างหรือไม่ หรือจะทำเรื่องฝายหรือไม่ ส่วนกลางหากมีเรื่องน้ำท่วม จะบริหารจัดการอย่างไร ท้ายน้ำมีอุตสาหกรรมเข้ามาจะจัดการอย่างไร จะทำเรื่องบำบัดหรือไม่
.
: การศึกษาทั้งหมด มุ่งไปสู่อะไร
.
การกำหนดแผนปฏิบัติ ทิศทางของการปฏิบัติ แต่บางพื้นที่สมมติว่าขาดแคลนน้ำ ผมไม่ได้ไปบอกว่าต้องทำอะไร แต่คุณต้องมาช่วยผมคิด แล้วตัวเลขที่เห็นจะร่วมกันอย่างไร รูปแบบมีเยอะแยะ ไม่เกี่ยวกับการกำหนดโครงการ แต่เป็นกรอบแนวทาง แล้วต้องช่วยกันคิด หน่วยงานคิดอย่างไร ที่ประชุมคิดอย่างไร ต้องคานกันอยู่อย่างนี้ ช่วยกันคิด แล้วรูปแบบละ อาจจะเก็บกักในลำน้ำ หรือระบบน้ำบาดาล เมื่อได้กรอบ เวลาจะกำหนดโครงการก็เอายุทธศาสตร์เป็นตัวขึง ด้านที่ 1, 2, 3 จนถึงด้านที่ 6 มีด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำ ทั้งการอุปโภค บริโภค การแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม มียุทธศาสตร์ของมันหมด เพื่อรองรับการพัฒนา 20 ปี ทำเป็นกรอบ 20 ปี
ผมสมมติว่ามีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แล้วทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไม่ใช่หน่วยงานมากำหนด แล้วจะจัดการอย่างไร โจทย์การศึกษาครั้งนี้เมื่อศึกษาปัญหา นโยบาย ไปรับฟังความเห็น จะเริ่มกำหนดทางเลือก เช่น หนึ่งไม่ต้องพัฒนาอะไรเลย แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เพราะเมื่อขาดน้ำ หรือมีปัญหาน้ำใน 5 ปีข้างหน้า ถ้าทุกคนยอมรับได้ก็จะอยู่อย่างนี้ หรือถ้าจะแก้ปัญหาก็จะมีอีกรูปแบบหนึ่ง แต่จะมีผลกระทบตามมา เช่น เมื่อทำอ่างก็จะกระทบป่า ป่าว่าอย่างไร ป่าบอกไม่ได้ ก็ต้องไปแก้ที่ต้นน้ำ รูปแบบจะเป็นแบบนี้
.
คือไม่ได้ไปปักหมุดเมกะโปรเจกต์ ต้องฝากไปถึงประชาชนว่า การประเมิน SEA เป็นการกำหนดกรอบแนวทาง
.
: ตามมาหลายเวทีมีการเชิญหน่วยราชการ ท้องถิ่น แต่ภาคประชาชนเข้าน้อยมาก โดยเฉพาะ NGOs ภาคใต้ดูเสมือนว่าไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะเขายังคลางแคลงใจอะไรหรือไม่
.
ผมไม่อาจจะไปตอบแทนได้ จริงๆ อยากให้ทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม มาแชร์ไอเดียกัน อย่างที่บอกว่าการจะเกิดโครงการอะไร ต้องมาช่วยกำหนดกรอบกัน
.
: SEA น้ำ ไม่เหมือนกับ SEA อื่นๆ
.
อื่นๆ ผมไม่ทราบ ผมทำแต่เรื่องน้ำ แต่ของเราไม่มีวาระซ่อนเร้น ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ไม่ได้ปักหมุด อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามาคิดและกำหนด