ศูนย์ข่าวภาคใต้ - รองอธิการบดี ฝ่ายบริหาร ม.วลัยลักษณ์ ยืนยัน ม.วลัยลักษณ์ยินดีรับฟังทุกคนในเรื่องการพัฒนา แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริหารและสภาฯ แจงกรณี “ป่าเหี้ยน-ดินหาย” ในรั้ว ม.วลัยลักษณ์ ชี้พื้นที่เดิมไม่ใช่ “ป่า” แต่เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ “สุสานตอไม้” มาจากการปรับพื้นที่ ทั้งของชาวบ้านและมหาวิทยาลัยตัดเอง ย้ำไม่มีนโยบายตัดต้นไม้ใหญ่ มีบ้างที่จำเป็น “ดิน” ขุดไปใช้งานก่อสร้าง-ปลูกต้นไม้ในพื้นที่
จากกรณีที่มีประชาคมและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช นำเสนอเกี่ยวกับการตัดต้นไม้และขุดดินจำนวนมากใน ม.วลัยลักษณ์นั้น MGR Online ภาคใต้ ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ ผศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ม.วลัยลักษณ์ โดย ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกคนอยู่แล้วเพื่อการพัฒนา ผู้บริหารทุกคนไม่ใช่เจ้าของ ม.วลัยลักษณ์เป็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วมได้ที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องการพัฒนา แต่การตัดสินใจเรื่องการพัฒนาขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยว่า เราจะรับฟังแล้วเอามาพิจารณาแล้วจะเดินหน้าไปทางไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยด้วย”
ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า จากการที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องพื้นที่ของ ม.วลัยลักษณ์ จึงได้ไปดูข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้าง ม.วลัยลักษณ์นั้น เมื่อปี 2533 ได้มีการมาดูที่ดินบริเวณนี้พบว่า เป็นที่สงวนไว้เพื่อเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ หมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีอาหารสัตว์คือหญ้า ไม่ใช่ป่าตั้งแต่แรก เมื่อ ม.วลัยลักษณ์เข้ามาใช้พื้นที่ก็ปรับปรุงพื้นที่ค่อนข้างมาก ทุกพื้นที่ที่มีการพัฒนา เราจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยางนา ต้นตะเคียน จะเว้นไว้ เราเก็บเอาไว้
ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ไปดูภาพเก่าๆ ในเอกสาร พื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ก็มาก ซึ่งขณะนั้นมีนโยบายปลูกต้นไม้ เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ได้รับงบประมาณเพื่อปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นการปลูกตามแผนผังที่ ม.วลัยลักษณ์ได้วางไว้ ไม่ใช่เป็นของเดิม แต่ก็มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ ม.วลัยลักษณ์ไม่ได้เข้าไปทำอะไรเลย ขอย้ำว่าเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ก็มีต้นไม้ขึ้นมา เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไม้ที่ชาวบ้านปลูกก่อนที่ ม.วลัยลักษณ์จะเข้ามา เช่น ต้นยางพารา กะท้อน จนปัจจุบัน ชาวบ้านบางหลังที่ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ก็ยังกรีดยางอยู่ ทำมาหากินได้ตามคำสั่งศาล บางหลังออกไปแล้วก็ตัดต้นไม้ เราไปยุ่งเขาไม่ได้ เขาก็ไม่ได้แจ้งเราด้วยเวลาที่เขาตัด เพราะเขาดูแลมาตั้งแต่แรก
ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับภาพตอไม้จำนวนมาก ที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลนั้น ตนได้ไปดูในพื้นที่ พบว่า ส่วนหนึ่งเป็นตอของยางพาราและกะท้อน ทำไมกองเยอะขนาดนั้น เพราะในพื้นที่ที่เราพัฒนาหลายพื้นที่ เมื่อมีการตัดไม้ก็ต้องขุดตอ หรือชาวบ้านเอาไม้ไปแล้ว เมื่อเราต้องการไปใช้พื้นที่ก็ต้องขุดตอออก แล้วไปรวมไว้ที่เดียว เผื่อชาวบ้านต้องการใช้ตอไม้ เช่น เอาไปเผาถ่าน จะได้ไปเอาไปได้ หรือบางพื้นที่มีการเลื่อยไม้ เช่น กระถินเทพา แรกที่ปลูก คาดว่าจะสร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัย แต่เมื่อปลูกแล้ว ราคาไม่ได้ดีมาก จึงตัดและขายไป แล้วเปลี่ยนพื้นที่หากในอนาคต มหาวิทยาลัยต้องการใช้พื้นที่ในการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านการเกษตร เรากำลังขยายพื้นที่ฟาร์มประมาณ 3 พันกว่าไร่ บางพื้นที่ก่อสร้างอาคารธรรมชาติวิทยา ซึ่งมีบางส่วนเป็นต้นยางนา
ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการขุดดินนั้น มีการนำดินไปใช้สำหรับการก่อสร้างของ ม.วลัยลักษณ์ ที่มีอยู่จำนวนมาก และพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้ จึงเห็นรถขนดินจำนวนมาก ซึ่ง ม.วลัยลักษณ์มีนโยบายจะไม่ปลูกไม้พุ่มและไม้ดอก ดังนั้น ที่ปลูกเอาไว้จึงจำเป็นต้องเอาออก ดังนั้น จึงต้องปรับพื้นที่ด้านข้าง ซึ่งต้องใช้ดินข้างคลอง ที่นำมาปลูกต้นไม้ได้ เพราะดินที่นี่มีความเป็นกรดสูง เคยปลูกต้นไม้หลายรอบแล้วตายหมด จึงตรวจสอบความเป็นกรด ปรากฏว่า พีเอชสูงถึง 45 ปลูกต้นไม้ไม่ได้
ผศ.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า สังคมต้องบอกมหาวิทยาลัยมาว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ มหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการ เมื่อทราบเรื่อง เราก็ตรวจสอบตามคนที่มีหน้าที่ เรื่องขนดิน เราให้เอกชนทำ ก็ไปดูว่าคุณขุดและขนดินไปเท่าไหร่ ตรวจปริมาตรดิน ศิษย์เก่าก็แจ้งมาแล้ว เราก็ไปดูกับเขาและอธิบาย มหาวิทยาลัยก็ต้องกลับมาดูว่าสิ่งที่เขาโพสต์ในโซเชียลเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ แล้วพยายามอธิบาย แต่เราไมได้อธิบายในโซเชียล เราอธิบายปากต่อปาก ที่เราคุยกัน นัดมาคุยกัน อธิบายเขา
แต่บางสิ่งที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น เพราะมีบางคนไปหมิ่นประมาทผู้บริหารบางคน จึงเป็นประเด็น ความคิดเห็นสาธารณะไม่เป็นประเด็นอยู่แล้ว แต่มีบางเรื่องที่ไปกระทบบุคคล ซึ่งเราฟ้องในนาม ม.วลัยลักษณ์ เพราะไปใส่ชื่อ มหาวิทยาลัย และตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงต้องฟ้อง