xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลวิจัยหนุน “รัฐปาตานี” ประชาสังคมชูนิ้วโป้ง แต่สุดท้ายหายวับจากเว็บ สกว.?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวภาคใต้ - บก.เว็บไซต์ Deep South Watch แฉงานวิจัยทรงคุณค่าเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูก สกว.ถอดออกจากเว็บไซต์แล้ว เผยงานวิจัยถามเหตุผลคน “ปาตานี” 1 พันคนที่อยากได้เอกราช แบ่งเป็น 5 กลุ่มเหตุผล เสนอรัฐไทยหยุดห้ามคนปาตานีฝันอยากได้เอกราช เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีขบวนการเอกราชปาตานี ที่ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง

วันนี้ (12 ก.ค.) นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Romadon Panjor เกี่ยวกับงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัด 3 ชายแดนภาคใต้ เรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท ซึ่งปัจจุบัน สกว.ได้ถอดงานวิจัยชิ้นนี้ออกจากเว็บไซต์ของ สกว.แล้ว โดยงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้เป็นการตั้งคำถามคนใน “ปาตานี” 1,000 คน ว่า ถามเหตุผลว่าเหตุใดต้องการเอกราชให้ปาตานี ซึ่งได้คำตอบกลับมา 1,660 เหตุผล ก่อนจะจัดกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม คือ (1) ความเป็นเจ้าของดินแดน (2) การเป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา (3) การเป็นพันธะทางศาสนา (4) การเป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด และ (5) อื่นๆ

“งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่มีคุณูปการต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ชายแดนภาคใต้และปาตานีได้เป็นอย่างดี ในงานยังเสนอให้รัฐไทยใจกว้างและเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพื่อรับฟังเสียงเหล่านี้ หากมุ่งจะลดความรุนแรงอย่างจริงจัง ความพีกของงานวิจัยที่ใช้ชื่อซอฟท์ๆ แต่เรื่องราวหนักหน่วงชิ้นนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 4 จุด ด้านแรก นี่คืองานของคนที่เรียกได้ว่าเป็น อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพในฝ่ายรัฐบาลไทย ในยุคที่กระบวนการยังคงปิดลับอยู่ (รัฐบาลสุรยุทธ์+อภิสิทธิ์) เป็นหัวหน้าคนเดียวในรอบ 15 ปีมานี้ ที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่ข้าราชการ”

นายรอมฎอน เขียนไว้อีกว่า อีกด้านคือ เป็นคุณประโยชน์ต่อนักวิจัยและนักวิเคราะห์มากมายต่อจากนี้ เพราะในตัวเล่มบรรจุต้นฉบับคำตอบทั้งหมดเอาไว้ด้วย เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับงานวิจัยของคนอื่น ซึ่ง รศ.ดร.มารค ตั้งใจใส่เอาไว้เพื่อให้คนศึกษาต่อ ด้านต่อมา เป็นเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่าง รศ.ดร.มารคนักวิจัยและผู้ช่วยวิจัย ซึ่งเป็นคนของ PerMas และ The Patani ซึ่งถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก แต่ก็แน่นอน นี่คือจุดเปราะบางที่จะถูกโจมตีโดยบรรดาเสือสิงห์ ที่ใจไม่กว้างขวางนักในหน่วยงานความมั่นคงไทย และด้านสุดท้าย จริงๆ ไฟล์งานวิจัยถูกแขวนเอาไว้ในเว็บไซต์ของ สกว. แต่ตอนนี้ถูกถอดออกแล้ว

นายรอมฎอน โพสต์ภาพงานวิจัยหน้า 233 ระบุถึงข้อเสนอสำหรับลดความรุนแรงและสร้างสันติสุขในชีวิตของคนที่อยู่ในปาตานีทุกคนว่า รัฐไทยควรจะยุติความพยายามที่จะทำให้คนปาตานี ที่มีความฝันที่จะได้เอกราช ทิ้งความฝันนี้ เพราะความพยายามดังกล่าวจะไม่สำเร็จ แต่ควรจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีขบวนการเอกราชปาตานี ที่ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อให้มีการถกกันอย่างเปิดเผยและกว้างขวางระหว่างคนปาตานีกันเองว่า การไปสู่เอกราชคือเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับปาตานีหรือไม่

นายรอมฎอน ยังได้โพสต์ภาพของงานวิจัยนี้ไว้บางส่วน โดยในส่วนของบทคัดย่อนั้น ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะหาเหตุผลของคนปาตานี ที่ต้องการเอกราชว่ามีอะไรบ้าง ได้สัมภาษณ์ชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช จำนวน 1,000 คน การรู้เหตุผลนี้สำคัญ เพราะจะทำให้รู้ถึงคุณค่าที่เป็นฐานของเหตุผลเหล่านั้น เมื่อรู้ว่าคุณค่าชุดนั้นคืออะไร ก็จะศึกษาลักษณะของคุณค่านั้น เพื่อใช้หาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขมาให้คนที่อาศัยในพื้นที่ทุกคน อีกทั้งจะช่วยวางขบวนการเอกราชปาตานีในกลุ่มขบวนการเอกราชอื่นๆ ที่มีมากมายในโลกปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญในการทำความเข้าใจกับแนวทางสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุผลหลักที่ชาวปาตานี ซึ่งสนับสนุนเอกราชให้ไว้ทั้ง 5 กลุ่ม มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม แบ่งเป็น (1) ความเป็นเจ้าของดินแดน 70.1% (2) การเป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา 24.1% (3) การเป็นพันธะทางศาสนา 21.2% (4) การเป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด 40.2% และ (5) อื่นๆ 10.5% โดยในบทคัดย่อระบุว่า เหตุผลที่ 1, 2 และ 3 เป็นเหตุผลที่วางอยู่บนฐานคุณค่าที่เรียกกันว่า “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นคุณค่าที่แลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้ และจะเกิดปฏิกิริยาทางลบ ถ้าคนอื่นพยายามโน้มน้าวเสนอของตอบแทนเพื่อให้ทิ้งเสีย ส่วนเหตุผลที่ 4 วางอยู่บนคุณค่าที่จัดการได้โดยที่รัฐไทยเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและเปลี่ยนนโยบายในบางเรื่อง

ทั้งนี้ 5 คำว่า “ปาตานี” หมายถึงรัฐปัตตานี คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน และเมื่อค้นหางานวิจัย เรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง : การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ในเว็บไซต์ google พบว่า ยังมีในหน้าค้นหา แต่เมื่อเปิดไปตามลิงก์ที่ปรากฏคือ https://elibrary.trf.or.th/project.asp?page=2 และ https://elibrary.trf.or.th/search_ab4.asp?search=ชายแดน ปรากฏว่าไม่มีงานวิจัยนี้อยู่ในเว็บไซต์ของ สกว.แล้วตามที่นายรอมฎอน ได้เขียนเอาไว้ และเมื่อดูในหน้าเว็บแคช ที่กูเกิลได้เก็บไว้ ปรากฏว่าได้เก็บหน้าที่ยังมีงานวิจัยนี้ไว้ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2562 โดยระบุว่า เป็นงานวิจัยที่ได้รับทุน 2561
 







กำลังโหลดความคิดเห็น