ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ล้อมวงถกและหาทางออกกรณีตัดไม้และขุดดินจำนวนมากในพื้นที่ ม.วลัยลักษณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งท้าผู้บริหาร ถ้าอยากฟ้องก็เชิญ คนทั้งโลกจะได้รู้ ไม่กลัวเพราะสู้กันด้วยข้อเท็จจริง แปลกใจเหมือนโจรขึ้นบ้าน ตะโกนบอกกลับโดนด่า อดีตนายก ส.ศิษย์เก่า ชี้ ม.วลัยลักษณ์เป็นป่าที่มีคุณค่ามหาศาล มีพืชพื้นเมือง 300 กว่าสายพันธุ์ ไม่ได้ห้ามก่อสร้าง แต่ต้องทำภายใต้หลักวิชาการ
จากกรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ตัดต้นไม้และขุดดินจำนวนมากนั้น MGR Online ภาคใต้ ได้ตั้งล้อมวงเสวนาร่วมหาทางออก ในหัวข้อ “ป่าเหี้ยน-ดินหาย” ในรั้ว ม.วลัยลักษณ์ “ศิษย์เก่า-คนคอน-คนไทย” ต้องไม่วางเฉย?! กับนายบุญเสริม แก้วพรหม และ นพ.รังสิต ทองสมัคร เครือข่ายประชาคมท่าศาลา ในฐานะคณะทำงานก่อตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ชุดแรก ร่วมด้วยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่า มวล.
นายบุญเสริม กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของชุมชนชาวท่าศาลา ชาวนครศรีธรรมราช และชาวใต้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของลูกหลาน ตั้งแต่ปี 2510 พวกตนเข้ามาร่วมก่อตั้งเมื่อปี 2520 จนเกิดเป็น ม.วลัยลักษณ์ ป่าในพื้นที่ ม.วลัยลักษณ์เป็นป่าของคนทั้งโลก เป็นปอดให้คนนครศรีธรรมราช ที่นี่มีมากกว่าที่อื่น คุณค่ามีมากกว่าที่จะประเมินได้ จึงสงสัยว่า ไม่รู้คุณค่าของป่าที่นี่หรืออย่างไร ยุคต้นๆ ในการก่อสร้าง ม.วลัยลักษณ์ต้องหลีกอาคารและถนนเพื่อให้ต้นไม้บางต้นได้อยู่ต่อ เป็นหลักการของ ม.วลัยลักษณ์
“วันนี้ ผู้บริหารฟ้องคนที่มาบอกกล่าว เหมือนโจรขึ้นบ้าน แล้วคนข้างบ้านตะโกนบอก แทนที่จะจัดการสิ่งผิดปกติในบ้าน กลับกลายเป็นมาด่าคนร้องบอก” นายบุญเสริม กล่าว
นพ.รังสิต กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอย่างนี้ในพื้นที่การศึกษาการเรียนรู้ที่มีคนที่มีการศึกษา ได้ยินปัญหานานแล้ว แต่ที่ทำให้ทนไม่ได้คือ แถลงการณ์ว่า ม.วลัยลักษณ์ไม่มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว จึงทำให้ออกมาเคลื่อนไหว หลังจากนี้ ต้องการเห็นว่า ม.วลัยลักษณ์จะทำอะไรต่อไปเพื่อหยุดการตัดต้นไม้ในพื้นที่ ตอนนี้ทำไปแล้ว 80 ใน 100 ส่วน ไม่อยากให้ไปถึง 90 เหลือไว้สัก 20 ก็ยังดี
“ขอเหอะ ไม่ต้องการให้ผู้บริหารมองพวกเราว่าเป็นผู้ร้าย เราไม่ได้อิจฉาเพื่อน แต่อยากให้พื้นที่ตรงนี้อยู่สืบไปถึงลูกหลาน อย่ามองเราว่าทำอะไรแล้วคุณก็จะฟ้อง จริงๆ ก็อยากให้ฟ้องนะ อยากให้เรื่องนี้กระจายไปอีก ทุกคนไม่มีใครกลัวเรื่องถูกฟ้อง เพราะเราเอาข้อเท็จจริงมาสู้กัน ยิ่งถูกฟ้อง คนทั้งประเทศ ทั้งโลกจะเห็นว่าที่เราทำอยู่นี่ จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร” นพ.รังสิต กล่าว
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า เรื่องการตัดต้นไม้ใน ม.วลัยลักษณ์มีมานานแล้ว ประมาณ 10 ปี ตัดมาเรื่อย ในขณะที่ทั่วโลกมีความพยายามจะรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งมีสมบัติล้ำค่า มีพันธุ์พืชพื้นเมือง 300 กว่าชนิด ทั้งไม้เลื้อย ไม้พุ่ม ไม้สูง ที่เกื้อกูลกันเป็นป่า มากชนิดที่ที่อื่นก็ไม่มี มีคุณค่ามหาศาล แต่กลับมีการตัดต้นไม้ออก ตัดกันเป็นพันไร่ ไม่รู้กี่ร้อยต้น ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้าง ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่การปรับพื้นที่ต้องทำตามหลักวิชาการ ไม่ใช่ไถหมดทั้งแปลง ส่วนกรณีที่ผู้บริหาร ม.วลัยลักษณ์บอกว่าพื้นที่เดิมของ ม.วลัยลักษณ์ไม่ใช่ป่า เป็นเพียงทุ่งเลี้ยงสัตว์นั้น เวลานิยามคำว่าป่า ดูอย่างไร ถือว่าเป็นความตกต่ำทางวิชาการหรือไม่ หากจะนิยามว่าป่าคือเป็นแบบป่าดงดิบ แล้วแบบอื่นมองว่าไม่ใช่ป่า
“ม.วลัยลักษณ์พยายามปกป้องตัวเองตลอดเวลา แต่ไม่ได้แก้ปัญหา ถามว่าจะจัดผังได้หรือไม่ว่า ตรงไหนจะก่อสร้างอะไร จะก่อสร้างโดยรักษาต้นไม้ไว้ได้หรือไม่ ไม่ได้ห้ามไม่ให้ก่อสร้าง แต่กรณีที่เกิดขึ้น ม.วลัยลักษณ์ปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ต้นไม้และป่าใน ม.วลัยลักษณ์เป็นสมบัติของคนทั้งโลกที่ควรจะต้องมีป่าแบบนี้เอาไว้” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว