ศูนย์ข่าวภูเก็ต - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงใต้มาภูเก็ตพรุ่งนี้ เปิดอุโมงค์ห้าแยกฉลอง แก้ปัญหาจราจรติดขัด ตรวจเยี่ยมการฝึก IDMEx 2019 พร้อมติดตามแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต รองรับการเป็นฮับเรือสำราญจากทั่วโลก
ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการที่จะเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นประธานเปิดทางลอดห้าแยกฉลอง (อุโมงค์) ซึ่งทางกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณห้าแยกฉลอง และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดที่จะเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของภูเก็ต ทั้งหาดราไวย์ หาดกะตะ กะรน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต ทำให้ในช่วงเร่งด่วนทั้งช่วงเช้าและเย็นการจราจรจะติดขัดมาก
ทางลอดห้าแยกฉลอง เป็นการสร้างทางลอดจุดตัดบนทางหลวงหมายเลข 4021 กับ 4024 กับ 4028 กับถนนเทศบาล (ห้าแยกฉลอง) จังหวัดภูเก็ต ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง และมีบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด เป็นผู้รับจ้างทำการก่อสร้าง โดยลักษณะของโครงการเป็นงานก่อสร้างทางลอด มีความยาว 720 เมตร ความกว้าง 9.50 เมตร-10.50 เมตร และมีหลังคาทางรอด มีความยาว 361 เมตร
โดยระยะเวลาในการก่อสร้างเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2558 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 พ.ค.2562 และได้เปิดใช้มาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2562 เพื่อทดสอบระบบอำนวยความปลอดภัย ทั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างทางลอด ระบบพัดลมระบายอากาศ และระบบปั๊มน้ำดับเพลิง และจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการในที่ 8 ก.ค.นี้ โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาเป็นประธานเปิด
หลังเปิดใช้ทางลอดห้าแยกฉลองอย่างเป็นทางการแล้ว ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปยังท่าเรียบเรือน้ำลึกภูเก็ต บ้านแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อม และตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2562 หรือ IDMEx 2019
สำหรับการฝึก IDMEx2019 นั้น เป็นการจัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ.2562 (Integrated Disaster Management Exercise) เพื่อให้ทุกหน่วยงานทดสอบกลไกกระบวนการแจ้งเตือนภัยและอพยพประชาชน การบัญชาการเหตุการณ์ การประสานการปฏิบัติ การจัดการผลกระทบจากสึนามิอย่างรอบด้าน เพื่อให้การจัดการภาวะฉุกเฉินมีเอกภาพ และประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว และเป็นการเตรียมความพร้อมและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นระบบและมีเอกภาพ
โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน กรณีภัยจากสึนามิ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล
การฝึกจะจำลองสถานการณ์การจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) ภายใต้สถานการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียและ เกิดสึนามิขนาดใหญ่ซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบสื่อสารหลักไม่สามารถใช้งานได้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก รวมถึงคลื่นสึนามิได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าเรือที่รองรับทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือสำราญ โดยทางกรมธนารักษ์ได้ให้สัมปทานบริษัท ภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต จำกัด เป็นเวลา 30 ปี ในเนื้อที่ 106 ไร่
โดยก่อนหน้านี้ ทางบริษัท ภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต ได้เคยนำเสนอแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ภายหลังได้สัมปทานที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือน มิ.ย.2561 โดยบริษัทกำหนดแผนในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตออกเป็น 4 เฟส โดยเฟสแรกเป็นการก่อสร้างอาคารสำหรับรองรับผู้โดยสารในพื้นที่ 900 ตร.ม. ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบท่าเรือภูเก็ต ขยายหน้าท่าให้สามารถรองรับเรือโดยสารหรือเรือสำราญให้ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการขยายหน้าท่าเพิ่มอีก 60 เมตร ด้วยการลงทุนขยายหน้าท่าให้ลักษณะของเสาผูกเรือ จากเดิมที่หน้าท่ามีความยาว 360 เมตร เป็น 420 เมตร สามารถรองรับเรือสำราญ หรือเรือครุยส์ที่มีความยาว 240 เมตร ได้พร้อมกัน 2 ลำ เป็นการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือภูเก็ตในการรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลด้วยเรือสำราญมากยิ่งขึ้น
เฟสที่ 2 จะดำเนินการหลังพัฒนาในเฟสแรกแล้วเสร็จ โดยการขอใช้พื้นที่อีก 40 ไร่ ในส่วนที่อยู่ถัดไปจากพื้นที่ 106 ไร่ ในเฟสแรก ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าท่าภูเก็ต และกรมศุลากร เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม ทั้งร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี ร้านจำหน่ายของที่ระลึก อาคารสำนักงาน และอื่นๆ และตามมาด้วย เฟสที่ 3 ที่วางแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์ประชุมหรือศูนย์แสดงสินค้า และเฟสที่ 4 คือ การเจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงที่อยู่ติดกับท่าเรือ พัฒนาเป็นโรงแรมหรูต่อไป การพัฒนาท่าเรือภูเก็ตทั้ง 4 เฟส ตามที่บริษัทวางแผนไว้ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเป็นประธานเปิดทางลอดอุโมงค์ห้าแยกฉลองแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยี่ยมพะยูนน้อย “ยามีล” หนุ่มรูปงามแห่งท้องทะเล ที่ถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะนี้ได้ถูกนำมาอนุบาลที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต