xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมชนท่าสัก” บนเกาะภูเก็ต อีกต้นแบบการพัฒนาครอบคลุมทุกมิติ จนก้าวสู่ความมั่นคงในชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้  /  โดย… สุวัฒน์ คงแป้น
 

 
“ชุมชนท่าสัก” ต.ป่าครอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นชุมชนประมง ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ในอดีตเป็นท่าเรือของชาวประมงที่เข้ามาอาศัยในยุคแรกๆ เพื่อออกเรือหาปลา ที่สำคัญคือ “ตัวเคย” ที่ใช้ทำกะปิ บริเวณท่าเรือก็จะปลูกเพิงเพื่อพักอาศัย หลบคลื่นลมไปด้วย จนกลายมาเป็นชุมชนกว่า 108 ครอบครัว ปัจจุบันที่ดินอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก
 
ชุมชนท่าสักสภาพพื้นที่จะเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม สลับกับป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ถนนในชุมชนจะเป็นถนนลูกรังแคบๆ มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่มีทางเดินถาวรในชุมชน ระบบไฟฟ้าต้องต่อพ่วงกัน ไม่มีระบบไฟฟ้าที่ถาวร ไม่มีระบบน้ำประปา ต้องซื้อจากรถขายน้ำใส่ถังเก็บไว้ใช้ ส่วนการบำบัดน้ำเสียจะมีการปล่อยน้ำทิ้งจากบ้านลงสู่ธรรมชาติ ไม่มีท่อระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชน มีขยะบริเวณชายฝั่งและป่าชายเลนทั้งที่เกิดจากชาวชุมชนเอง และไหลมากับน้ำเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนการตั้งบ้านเรือจะเรียงรายไปตามถนนริมคลองและบริเวณริมทะเล
 
หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ชุมชนท่าสักเข้าร่วมกับ “เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต” ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนจนในภูเก็ต 25 ชุมชน ทำให้แกนนำชุมชนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น แล้วนำประสบการณ์มาพัฒนาชุมชนของตนเอง ตลอดจนการร่วมกันเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดินในรูปแบบ “สิทธิร่วม” หรือ “โฉนดชุมชน” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยและความมั่นคงในที่ดิน เป็นต้น
 
รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ ตามมา โดยเริ่มจากการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ให้เป็นกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่สนับสนุนโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มีการระดมเงินออมทั้งเจ้าของบ้านและครอบครัวขยาย เก็บออมรายละ 50 บาทต่อเดือน และกำลังเตรียมการตั้งเป็นกองทุนสำหรับเป็นสวัสดิการในการประกอบอาชีพ และเพื่ออุดหนุนเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนในอนาคต
 


 
กลุ่มออมทรัพย์เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2550 สมาชิกเริ่มแรกเพียง 48 คน เงินออม 2,400 บาท จนกระทั่งปี พ.ศ.2551 มีสมาชิก 94 คน ทั้งสมาชิกที่เป็นเจ้าบ้านและลูกหลาน เด็กนักเรียน และมีจำนวนสมาชิกและเงินออมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ได้ยกระดับเป็น “กลุ่มวิสาหกิจประมงพื้นบ้านและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์บ้านท่าสัก-บ้านพารา” มีการต่อยอดกิจกรรมขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาอาชีพของชุมชน
 
เนื่องจากชุมชนท่าสักส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการบำรุง ดูแล รักษาทรัพยากรทางทะเลจึงเป็นภารกิจสำคัญ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญคือ การทำบ้านปลาจากเครื่องมือประมงที่ไม่ใช้งานแล้ว เช่น การนำอวนมาทำบ้านปลา การปลูกป่าชายเลน พร้อมมีกฎระเบียบในการดูแลรักษา มีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่ม ห้ามทิ้งขยะลงในทะเล การใช้อวนมาจับดักขยะในทะเล และที่ขาดไม่ได้คือการรณรงค์ให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย
 
กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ชาวชุมชนท่าสักมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการปูพื้นฐานสำคัญในการอยู่อาศัยอย่างมั่นคงในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอีกด้วย 
 
ถึงแม้ว่าการทำประมงจะเป็นอาชีพหลัก แต่ความสมบูรณ์ทางทะเลเริ่มลดลง ส่งผลให้มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ชาวท่าสักจึงได้รวมตัวกันทำวิสาหกิจชุมชนในหลากหลายรูปแบบ โดยใช้กลุ่มออมทรัพย์เป็นฐาน เพื่อให้เกิดรายได้เสริมแก่ชุมชน เช่น กลุ่มผลิตเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย ผลิตกล้าไม้ กลุ่มแปรรูปอาหารจากสัตว์ทะเล เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้คือ การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างยั่งยืน
 

 
นายชัยทวี พันธ์ทิพย์ ประธานชุมชนท่าสัก เล่าว่า ด้วยเหตุที่ท่าสักมีธรรมราชาติที่งดงาม เชื่อมโยงจากเขา-สู่ทะเล มีความหลากหลาย “จากเขาพระแทว ถึงโหนลูกไม้” จึงเกิดแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ขึ้น มีคำขวัญว่า “เช้าขึ้นควน เที่ยงลงเล” เป็นการท่องเที่ยวแบบ “สวนสัตว์น้ำฟาร์มทะเลชุมชน” ชมสันหลังมังกร ทั้งนี้เราถือว่าแหล่งประมง ป่าชายเลนและวิถีชุมชน ล้วนเป็นแหล่องท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ทั้งสิ้น ปัจจุบันกลุ่มท่องเที่ยวของเราได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแล้ว (ปี พ.ศ.2562)
 
หลังจากมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์และมีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ชุมชนก็มีข้อตกลงการอยู่อาศัยร่วมกัน โดยสมาชิกจะต้องร่วมประชุมทุกวันที่ 11 ของเดือน ต้องไม่บุกรุกที่ดินเพิ่ม และต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายเลนและธรรมชาติรอบๆ ชุมชน 
 
หลักจากได้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ก็ได้มีการสำรวจข้อมูลและสภาพภายในชุมชน ทั้งด้านกายภาพและปัญหาที่มีอยู่ โดยได้รับการหนุนเสริมจากเครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ตในการจัดทำข้อมูลครัวเรือน ผังชุมชนในเบื้องต้น และระบบการออมทรัพย์ โดยการจัดทำผังแบ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็น 3 ประเภทคือ เพื่อที่อยู่อาศัย 17 ไร่ครึ่ง พื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ 7 ไร่ครึ่ง พื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลน 23 ไร่ และทำเป็นรูปแบบโฉนดชุมชน โดยมีกติการ่วมกันว่า ห้ามบุกรุกเพิ่ม ห้ามทำลายระบบนิเวศน์ และห้ามซื้อขายกับบุคคลภายนอก
 
ในส่วนของพื้นที่ ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้น หลังจากที่ได้ข้อมูลครัวเรือนก็มีการออกแบบร่วมกับสถาปนิกชุมชนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยมีการออกแบบผังชุมชนให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย มีความเป็นระเบียบมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มเรียกว่า “ระบบกลุ่มย่อย” ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยมีสมาชิกไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ โดยกลุ่มที่ 6 มีอยู่ 39 รายเป็นกลุ่มที่รองรับครอบครัวขยาย
 

 
สำหรับระบบสาธารณูปโภคนั้น มีการทำถนนสายหลักในชุมชน ซึ่งเดิมเป็นหลุมเป็นบ่อ พัฒนาระบบไฟฟ้า ประปา ทางเดินเท้า ระบบบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำ การจัดทำศาลาอเนกประสงค์ และที่น่าสนใจก็คือ การปรับภูมิทัศน์ของแต่ละบ้าน โดยการปลูกพื้นสวนครัว ทำให้บ้านและชุมชนมีความร่มรื่นและน่าอยู่ อีกทั้งมีพืชผักบริโภคช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว
 
สำหรับ “โครงการบ้านมั่นคง” ได้ดำเนินการในปี 2533 ทำให้ชาวท่าสักมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน 
 
การพัฒนาที่ท่าสักจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในแง่ของการใช้เป้าหมายร่วมคือ ความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยในการสร้างความร่วมมือจากชาวบ้าน จนเกิด “จิตอาสาชุมชน” ที่เสียสละเวลามาพัฒนาชุมชนร่วมกัน ครอบคลุมทุกมิติ 
 
เป็นการพัฒนาที่เอื้อและพึ่งพาต่อกันระหว่างคนกับคน ทั้งไทยพุทธและมุสลิม คนกับธรรมชาติ โดยมีภาคีพัฒนาต่างๆ เข้ามาหนุนเสริม
 



กำลังโหลดความคิดเห็น