xs
xsm
sm
md
lg

“โอทอปน้ำมันเถื่อนใต้” เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยง “นักการเมือง-ขรก.-นายทุน” ยันชาวบ้านร้านตลาดครบถ้วน!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
น้ำมันเถื่อนริมทางที่ถือเป็นสินค้าโอทอปภาคใต้ไปแล้ว
 
อะไรเอ่ย? สินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจากมาเลเซีย แล้วสร้างรายได้ให้ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นายทุนเป็นกอบเป็นกำ ยังเกลี่ยรายได้ให้ผู้ค้ารายย่อยมากมาย แถมชาวบ้านร้านตลาดก็ได้รับอานิสงส์ไปถ้วนทั่วด้วย คนในภูมิภาคอื่นๆ อาจจะหาคำตอบได้ยาก แต่สำหรับคนปักษ์ใต้คงไม่ลังเลที่จะตอบว่า…
 .
“น้ำมันเถื่อน” ทั้งชนิดเบนซินและดีเซล?!
 .
น้ำมันเชื้อเพลิงที่ซื้อหาได้ทั้งในปั๊มและในคลังฝั่งมาเลเซียหลักๆ มีเพียง 2 ชนิดคือ เบนซินกับดีเซล และรัฐบาลเสือเหลืองก็ไม่ได้บวกภาษีเข้าไปแม้แต่สลึงเดียวอย่างที่รัฐบาลไทยทำมาตลอด เพราะต้องการให้ประชาชนของเขาได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจริงๆ แบบไม่มีอะไรแอบแฝงหรือถ่ายเทเข้าพกเข้าห่อใคร
 
เวลานี้รัฐบาลมาเลเซียผลักดันราคาขายน้ำมันเบนซินไม่ว่าชนิด 95 หรือ 97 ให้ประชาชนได้ใช้ในราคาเฉลี่ยไม่เกิน 20 บาท/ลิตร ด้านดีเซลลดลงอีกเฉลี่ยแค่ 18 บาท/ลิตร แต่พอหันกลับมาดูราคาน้ำมันในไทยเรากลับเป็นที่น่าตกใจยิ่ง เพราะเฉลี่ยแล้วไม่ว่าจะน้ำมันชนิดไหน เบนซินไร้สารตะกั่วหรือผสมแก๊สโซฮอลล์ ดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซลด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่ว่า 91, 95, 97 หรือ E 20 หรือ E 85 ล้วนมีราคามากกว่าที่มาเลเซียเกิน 10 บาท/ลิตรทั้งนั้น
 
ตัวอย่างเช่น ในไทยเราน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเฉลี่ย 35 บาท/ลิตร ส่วนดีเซลขายกันอยู่ที่เฉลี่ย 28 บาท/ลิตร หรือบางครั้งขยับขึ้นไปถึงกว่า 30 บาท/ลิตรก็มี โดยอ้างว่าเป็นไปตามการขึ้น-ลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์
 
จึงเห็นชัดเจนว่า เมื่อนายทุนสามารถลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากมาเลเซียเข้ามาขายในบ้านเราได้ พวกเขาจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาทันทีอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 10 บาท/ลิตร ซึ่งในภาคใต้มีขบวนการน้ำมันเถื่อนอยู่มากมาย และแต่ละรายก็ลักลอบขนกันวันละหลายแสนลิตร ถ้านายทุนรายใดสามารถขนเข้ามาได้แค่วันละจิ๊บๆ 100,000 ลิตร นั่นก็หมายความว่าวันนั้นพวกเขาจะมีกำไรไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทแน่นอน
 
กวาดล้างเท่าไหรไม่ยักกับหมด
 
นี่เป็นการฉายภาพขบวนการลักลอบนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซียแค่ผ่านเส้นทาง “บก” ที่ก็กระจุกตัวอยู่แต่ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น ยังไม่ได้เลยรวมไปถึงเส้นทาง “ทะเล” ซึ่งว่ากันว่าเป็นนายทุนรายใหญ่และมีเส้นสายโยงใยใหญ่โตกว่ามากต่อมาย แถมกระจายไปในแทบทุกจังหวัดชายทะเลภาคใต้
 
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำขบวนการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนทางบก จึงมักใช้จังหวัดที่อยู่ประชิดติดกับเส้นเขตแดนไทย-มาเลเซียในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเป็นฐานที่มั่น ดังนั้นในพื้นที่ จ.สงขลา จ.สตูล และ จ.นราธิวาส จึงมีปรากฏการค้าน้ำมันเถื่อนกันอย่างคึกคัก เพราะเพียงข้ามแดนเข้าไปยังมาเลเซียแค่ 1-2 กิโลเมตรก็สามารถหาซื้อน้ำมันจากปั๊มและคลังเพื่อขนข้ามกลับมายังไทยได้แล้ว
 
สำหรับใน จ.สงขลา ต้องยกให้พื้นที่ของ ต.ปาดังเบซาร์ และ ต.ทุ่งหมอ ในความรับผิดชอบของ อ.สะเดา เป็นแหล่งที่ขบวนการน้ำมันเถื่อนลงทุนสร้าง “โกดังขนาดใหญ่” เพื่อใช้เก็บกักน้ำมันเถื่อนให้ได้มากที่สุด แม้แต่ในเขตเทศบาลตำบลปาดังเบซาร์ อันเป็นที่ตั้งของ สภ.ปาดังเบซาร์และสำนักงานศุลกากรปาดังเบซาร์ ก็เต็มไปด้วยโกดังน้ำมันเถื่อนที่นายทุนทำขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บกักน้ำมันลักลอบนำเข้าขนาดใหญ่ ก่อนจะขนถ่ายใส่รถบรรทุกไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคใต้
 
เช่นเดียวกับในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ. ของ จ.นราธิวาส และที่ อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งก็มีการสร้าง “โกดังขนาดใหญ่” เพื่อใช้รวบรวมน้ำมันเถื่อนมาเก็บกักไว้ก่อนกระจายต่อให้พ่อค้ารายย่อยเช่นกัน จนกลายเป็นว่านทุกพื้นที่เหล่านั้นและผู้คนในพื้นที่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันนอกระบบนี้ไปด้วย โดยปริยายได้ กลายเป็นองคาพยพหนึ่งของนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการลับลอบค้ามันเถื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงการที่จะลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนจากมาเลเซียข้ามมายังไทยก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดาย เนื่องจากต้องใช้รถยนต์ดัดแปลงไปบรรทุกเข้ามา ซึ่งจะทำอย่างเปิดเผยไม่ได้ แล้วอย่างไรเสียการเข้า-ออกก็ต้องผ่านช่องทางของ “ด่านตรวจศุลกากร” เพราะเส้นทางธรรมชาติอื่นๆ ไม่มีเส้นทางให้รถยนต์ข้าม แถมรอบๆ ด้านชายแดนก็มีการสร้างกำแพงกันไว้ทั้งหมด
 
กวาดล้างเท่าไหรไม่ยักกับหมด
 
วิธีการของขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนจึงต้องใช้รถยนต์กระบะดัดแปลงให้สามารถติดตั้ง “เซฟ” เพื่อซุกซ่อนน้ำมันไว้ ซึ่งจะมีอู่รถยนต์หลายแห่งที่รับดัดแปลงในราคาคันละประมาณ 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งบรรทุกน้ำมันได้เที่ยวละตั้งแต่ 1,000 ลิตร ไปจนถึงสูงสุดถึง 3,000 ลิตร
 
แล้วเมื่อต้องผ่านด่านศุลกากรทั้งตอนออกและเข้าต้องมีวิธีการอย่างไร สามารถเข้า-ออกได้วันละกี่ครั้ง แล้วทำอย่างไรไม่ให้เป็นที่สังเกตหรือสะดุดตาผู้คน และโดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้เกิดความสงสัยนั้น ปัญหาเหล่านี้ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนเขารู้ว่าจะต้องพึ่งพา “นายหน้า” เข้ามาจัดการให้ เพียงยอมเสียค่าใช้จ่ายในอัตรา 1 บาทต่อ 1 ลิตร แถมหากมีเหตุผิดพลาดอะไรเกิดขึ้น บรรดานายหน้าจะเข้าไปรับผิดชอบเองทั้งหมด พร้อมกับกันเอาคนในขบวนการและเจ้าหน้าที่ออกไปไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
ความจริงแล้วรูปแบบการใช้ “นายหน้า” เข้าไปจัดการแทนในลักษณะนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นกับเฉพาะการลักลอบน้ำเข้าน้ำมันเถื่อนเท่านั้น แต่โยงใยไปในทุกขบบวนการขนสินค้าเถื่อนอื่นๆ และมีแทรกไปในทุกด่านชายแดนและทุกเมืองชายแดนด้วย 
 
เมื่อผ่านจากด้านชายแดนระหว่างประเทศเข้ามาได้แล้ว นำน้ำมันเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาก็จะถูกนำไปเก็บไว้ในโกดังที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองชายแดนต่างๆ จากนั้นก็จะมีระบบกระจายให้ถึงมือผู้บริโภคในหลายจังหวัดของภาคใต้ ด้วยการใช้รถกระบะบรรทุกไปส่งเฉลี่ยคันละ 2,000-3,000 ลิตร โดยขั้นตอนนี้ผู้ขับขี่รถกระบะดังกล่าวจะถูกเรียกว่า “ตีนผี” เพราะต้องทำเวลาและรู้เส้นทางหลบหลีกเป็นอย่างดี
 
กองทัพมดที่ใช้เส้นทางลักลอบขนทางบก
 
เป็นที่น่าสังเกตว่ารถกระบะบรรทุกน้ำมันเถื่อนส่งผู้ค้ารายย่อยทั่วภาคใต้เหล่านี้ต้องวิ่งบนถนนหลวง ซึ่งก็ต้องผ่านโรงพัก ผ่านจุดตรวจ ผ่านด่านความมั่นคง ด่านตำรวจทางหลวงและอื่นๆ อีกมากมาย ทำไม่จึงไม่เคยปรากฎข่าวการจับกุมจากเจ้าหน้าที่เหล่านั้น แต่กลับเคยมีแต่ข่าวว่า “ทหารชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน” เท่านั้นที่ได้สร้างผลงานการจับกุมไว้บ้าง
 
ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ “นายหน้า” อีกเช่นกันที่เข้าไปบริหารจัดการให้ทั้งในเรื่องของการแจ้ง “ทะเบียนรถ” และการ “จ่ายภาษีที่ไม่มีใบเสร็จ” ตามข้อตกลงคันละเท่าไหร่ต่อเดือน ไม่เพียงเท่านั้นตามปั๊มและร้านค้ารายย่อยต่างๆ ที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดของภาคใต้ก็ต้องมีภาระค่าใช่จ่ายให้นายหน้าตกราว 500 บาท/เดือนเป็นอย่างน้อย หรือหากมีประมาณสินค้าหมุนเวียนมากๆ ก็อาจจะขยับไปถึง 5,000 บาท/เดือนก็มี
 
เป็นที่รับรู้กันว่า น้ำมันเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจากมาเลเซียแค่กระจายในจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ ปรากฏว่าขนเข้ามาได้จำนวนมากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ที่สำคัญผู้บริโภคจำนวนมานิยมใช้นำมันเถื่อนเหล่านั้นด้วยความพึ่งพอใจเสียด้วย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันถูกกฎหมายตามปั๊มหรือสถานบริการต่างๆ มีราคาถูกไม่ต่ำกว่า 3 บาท/ลิตรเป็นอย่างน้อย 
 
ดังนั้นจึงอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้เป็นที่รับรู้กันกว้างขวางว่า น้ำมันเถื่อนกล่าวเป็น “สินค้าโอทอป” ของภาคใสต้ไปแล้ว เพราะสามารถเห็นปั๊มเถื่อน เห็นการกระจายในรูปบรรจุแกลอนหรือบรรจุขวดวางขายตามร้านโชห่วยแบบเกลื่อนกลาดไปทั่วทุกเส้นทางชนบทและทุกมุมในเขตเมือง บางถนนหนทางหรือบางย่านถูกเรียกว่าเป็น “ถนนน้ำมันโอทอป” หรือ “ถิ่นน้ำมันโอทอป” ไปเลยก็มี
 
เรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบขนได้คราวละมากๆ
 
ข้อมูลข้างต้นคือเรื่องราวของขบวนการค้าน้ำเถื่อนทางบกเท่านั้น ส่วนขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนทางทะเลจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนายทุนส่วนใหญ่เป็น “นักการเมือง” ในจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งทะเลนั้น เช่น สงขลา สตูล นราธิวาส ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น และนายทุนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงอยู่ในมือด้วย เช่น โรงน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น โรงงาตนปลากระป๋อง มีเพียงน้อยรายเท่านั้นที่เป็นผู้ค้าน้ำมันเถื่อนโดยเฉพาะ
 
นายทุนกลุ่มค้าน้ำมันเถื่อนทางทะเลเหล่านี้มักจะสั่งซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นที่สิงคโปร์หรือมาเลเซียโดยตรง แล้วนำใส่เรือมาจอดเรือลอยลำในน่านน้ำสากล ซึ่งอาจะเข้ามาในน่านน้ำไทยบ้างครั้งในช่วงที่ทหารเรือเผอเรอ โดยจะลอยลำขายน้ำมันเถื่อนให้กับเรือประมงดัดแปลงที่ซื้อแล้วนำมาขึ้นฝั่งอีกทอดหนึ่ง จากนั้นส่งน้ำมันให้กับลูกค้าที่ส่วนมากจะเน้นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้รถบรรทุก 10 ล้อหรือ 6 ล้อมารับน้ำมันจากท่าเรือเถื่อนไปเอง เพื่อส่งให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นปั๊มน้ำมันและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
 
ทั้งหมดทั้งปวงทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไร ทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียเงินภาษีไปปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ขบวนการเหล่านี้ที่เติบโตได้เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยไม่ว่าจะเป็นศุลกากร สรรพสามิต ตำรวจและทหาร ต่างทำตามหน้าที่อย่างจริงจัง เชื่อว่าขบวนการน้ำมันเถื่อนก็จะถึงจุดสิ้นสุดแน่นอน
   


กำลังโหลดความคิดเห็น