xs
xsm
sm
md
lg

“พลเมืองอันดามัน” ลุกสร้างการเมืองที่กินได้ภายใต้ “อันดามันโกกรีน”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้  /  โดย... ไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข
 

 
เมื่อหลายปีก่อน “พลเมืองกระบี่” โดยการนำของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดกระบี่ รวมกับภาคีอื่นๆ ลุกขึ้นมากำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดด้วยวิสัยทัศน์ “กระบี่โกกรีน” ซึ่งกระบี่อาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ เช่น ถนนคนเดินปลอดโฟม ลดขยะ ลดน้ำเสีย สถานประกอบการ โรงแรมกรีน เป็นต้นแบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมของอันดามันมาหลายปี
 
เมื่อ 8 ปีก่อนจังหวัดพังงาโดยเฉพาะ “ภาคประชาสังคม” จับมือกัน หลังจัดทัพสร้างทีมกำหนดวิสัยทัศน์ เปิดพื้นที่หามิตรร่วมสร้างเมือง “พังงาแห่งความสุข” ซึ่งจับมือกับหอการค้าจังหวัดพังงา เดินหน้าขยายเพื่อนสร้างเมืองอย่างทรงพลัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นเห็นด้วยกับแนวทาง “พังงาแห่งความสุข” จึงประกาศนโยบาย “รัฐร่วมราษฎรเดินหน้าพัฒนาสู่พังงาแห่งความสุข”  ซึ่งเป็นจุดเปิดทางที่สำคัญในการบรรจุในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดพังงา พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนไปพร้อมกันด้วย ทำให้มีพัฒนาการมาจนถึงวันนี้ที่พังงากำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพลเมืองพังงา สู่การจัดทำผังการพัฒนาเมืองอยู่ในขณะนี้
 
กระบี่และพังงาจับมือสร้างเมือง หลังจากช่วงการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้การพัฒนากำหนดมาจากส่วนกลาง จนพื้นที่อันดามันตั้งรับไม่ทัน ทั้งโครงการเล็ก โครงการใหญ่ โดยพื้นที่ 2 จังหวัดถูกกระทำจาก “คนนอก” ที่หวังแย่งชิงทรัพยากร ทั้งท่าเรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขตเศรษฐกิจพิเศษอันดามัน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ จนคนพังงากระบี่ขอให้หยุด ชะลอ ทบทวนในหลายโครงการ แต่นั่นเราก็ยังกำหนดทางเลือกใหม่ได้ไม่ทันกับการพัฒนาที่ถาโถม และกำลังการต่อรองก็ไม่เพียงพอ 
 

 
เพิ่มพลังพลเมืองกำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาอันดามันด้วย “อันดามันโกกรีน”
 .
“อันดามันโกกรีน” จึงกลายเป็นแนวทางใหม่ที่พลเมืองอันดามันต้องมาถกแถลง แลกเปลี่ยนคำจำกัดความ และกำหนดการพัฒนาอันดามันร่วมกัน โดยหอการค้า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ และ จ.พังงา จับมือกันเพื่อหมุนเวียนกันไปหา ไปเยี่ยม ไปเยือนภาคี หมุนเวียนกันไปแลกเปลี่ยนเป้าหมาย ประสบการณ์การพัฒนาของกันและกัน ทำให้ขยายเพื่อน ขยายงาน ขยายพื้นที่ไปจนถึง จ.ตรัง จ.สตูล จ.ระนอง และ จ.ภูเก็ต ตามลำดับ 
 .
แล้วก็นำไปสู่การค้นพบครั้งสำคัญว่า การสร้างโมเดล “อันดามันโกกรีน” มี 2 ระดับคือ ระดับองค์กรและพื้นที่
 .
การทำงานในองค์กรหากผู้บริหารเข้าใจสั่งการเดินหน้าได้เลย เช่น โรงแรมปลอดโฟม ปลอดพลาสติก หรือพลังงานทดแทน แต่หากเป็นงานอาหารปบอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ต้องใช้พื้นที่ปฏิบัติการที่มีองค์กรชุมชนเข้าร่วมที่หลากหลาย
 

 
จากการพบปะกับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน สภาองค์กรชุมชน และสภาเกษตรกร จนทำเป้าหมายร่วมกัน แบ่งบทบาทหนุนเสริมกันและกันอย่างลงตัว และมีแผนงานขับเคลื่อนร่วมกันชัดเจน จึงมีมติร่วมที่จะประกาศเจตนาและบันทึกความร่วมมือกันทั้ง 6 องค์กร 6 จังหวัด “อันดามันโกกรีน” เมื่อปี 2561 ณ เขาหลัก จ.พังงา จากนั้นก็มีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอีก 2 ครั้ง
 
วันที่ 16 มิถุนายน 2562 เครือข่ายอันดามันโกกรีนจัดประชุมใหญ่อีกครั้ง โดยมีตัวแทนจาก 6 องค์กร  ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หอการค้า สภาเกษตรกร สภาองค์กรชุมชน เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชน และ เครือข่ายประมงพื้นบ้าน รวมทั้ง 6 จังหวัดกว่า 60 คนมาสัมมนาใหญ่ร่วมกันอีกครั้ง ณ โรงแรมภูงา อ.เมือง จ.พังงา
 
นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าอันดามัน ทำหน้าที่ประธานเปิดการประชุมย้ำว่า การเริ่มต้นวันนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะเราไม่ใช่ทำอันดามันโกรีนตามความต้องการของเรา แต่เราจะไปเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้จังหวัดต่างๆ เป็นทิศทางการพัฒนา “กรีน” ในแบบของตนเอง
 
“โดยที่ทีมเราเป็นเพียงกลไกหนุนเสริมให้เกิดขึ้น เช่น กระบีโกกรีน หรือพังงาแห่งความสุขที่ทำกันอยู่แล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ขอให้ช่วยกันออกแบบกันในพื้นที่ การที่พลเมืองของแต่ละจังหวัดมีเป้าหมายร่วมกันกำหนดการพัฒนา จากพื้นที่ ก็จะตอบโจทย์คนในพื้นที่นั้นเอง
 

 
การกำหนดเป้าหมาย “อันดามันโกกรีน” คือการสร้างกระบวนการการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นการค้นหาคำจำกัดความร่วมกัน เช่น การขับเคลื่อนผักปลอดสารอาหารปลอดภัย การขับเคลื่อนจังหวัดปลอดโฟม การขับเคลื่อนถนนปลอดภัย การขับเคลื่อนสถานประกอบการพลังงานสะอาด การจัดการขยะ การลดขยะ การลดถุงพลาสติก
 
หรือแม้แต่การสร้าง “สังคมกรีน” เช่น การดูแลระบบสวัสดิการชุมชนสู่การสวัสดิการสังคม การดูแลที่อยู่อาศัยให้มันคงสำหรับทุกคน การสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินให้กรีนจากความขัดแย้ง การสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยวชุมชนให้กรีนด้วยความเป็นธรรมและกระจายรายได้ การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด การดูแลผู้สูงวัย การทำการประมงกับการอนุรักษ์ท้องทะเล การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การเชื่อมต่อระบบผู้ผลิตกับผู้บริโภคท้องถิ่น เป็นต้น
 

 
“อันดามันโกกรีน” เป็นเป้าหมายร่วมกันอย่างมีทิศทาง แต่กระบวนการพลเมืองที่จะก่อเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะแพร่ระบาดออกไปทั่วภาคใต้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งพลเมืองจะตื่นร่วมกันขับเคลื่อนและลงขันกันทำในเรื่องที่คนในพื้นที่คิด ออกแบบ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
 
“อันดามันโกกรีน” เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างการเมืองให้กินได้ในพื้นที่ชุมชน ตำบล จังหวัดตนเองได้ โดยไม่ต้องรอการเมืองที่หลงทางและอาจไม่หวนคืนก็เป็นได้ 
   



กำลังโหลดความคิดเห็น