xs
xsm
sm
md
lg

“ทานตะวัน” เอื้อเศรษฐกิจครัวเรือนยันอุตสาหกรรม ใช้ทุกส่วนเป็นยาได้ แต่สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย... สกนธ์  รัตนโกศล
  
1
 
“ทานตะวัน” มีถิ่นกำเนิดและเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกา จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี ชื่อสามัญคือ Common sunflower, Sunflower, Sunchoke ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)
 
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า บัวทอง บัวตอง ทานตะวัน (ภาคเหนือ), บัวผัด บัวทอง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ชอนตะวัน ทานตะวัน (ภาคกลาง), ทานหวัน (ภาคใต้), เซี่ยงยื่อขุย เซี่ยงยื้อขุย (จีนกลาง), เหี่ยงหยิกขุ้ย (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น
 
2
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 
 .
“ต้นทานตะวัน” มีความสูงของต้นประมาณ 3-3.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นสีเขียวแกนแข็ง ไม่มีการแตกแขนง (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ตามต้นมีขนยาวสีขาวค่อนข้างแข็งปกคลุมตลอด ส่วนรากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดินประมาณ 150-270 เซนติเมตร มีรากแขนงค่อนข้างแข็งแรงและแผ่ขยายไปทางด้านข้างได้ถึง 60-150 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการค้ำจุนต้นและสามารถใช้ความชื้นระดับผิวดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
“ใบทานตะวัน” ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน หลังจากที่มีใบเกิดแบบตรงกันข้ามได้ 5 คู่แล้ว ใบที่เกิดหลังจากนั้นจะมีลักษณะวน โดยจำนวนของใบบนต้นอาจมีตั้งแต่ 8-70 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม หรือกลมเป็นรูปไข่ หรือเป็นรูปหัวใจ และสีของใบอาจมีตั้งแต่เขียวอ่อน เขียว และเขียวเข้ม (แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์) ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบหยาบและมีขนสีขาวทั้งสองด้าน มีก้านใบยาว
 
3
 
“ดอกทานตะวัน” ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกที่ปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดใหญ่เป็นสีเหลืองเข้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีกลีบดอกเป็นจำนวนมากเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีเหลืองสด ส่วนด้านในคือช่อดอก มีลักษณะเป็นจาน ประกอบไปด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลางดอกมีเกสรสีน้ำตาลอมสีม่วงและภายในมีผลจำนวนมาก ดอกมีเกสรเพศเมียอยู่ตรงกลาง 1 อัน ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 อัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว 
 
“ผลทานตะวัน” หรือโดยทั่วไปเรียกว่า “เมล็ดทานตะวัน” ผลเป็นผลแห้งและมีจำนวนมากอยู่ตรงฐานดอก ผลขนาดใหญ่จะอยู่วงรอบนอก ส่วนผลที่อยู่ใกล้กับกึ่งกลางจะมีขนาดเล็ก ผลมีลักษณะเป็นรูปรีและแบนนูน ด้านหนึ่งมน อีกด้านหนึ่งแหลม ผลมีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร เปลือกหุ้มผลแข็ง เปลือกผลเป็นสีเทาเข้มหรือสีดำและเป็นลาย ภายในผลมีเมล็ดสีเหลืองอ่อนเพียง 1 เมล็ด ลักษณะรียาว และในเมล็ดพบว่ามีน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยผลหรือเมล็ดทานตะวันจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ เมล็ดที่ใช้สกัดทำน้ำมัน (ผลเล็ก สีดำ เปลือกบาง), เมล็ดที่ใช้กิน (ผลใหญ่ เปลือกหนาไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด) และเมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนกหรือไก่
 
4
 
“ทานตะวัน” จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง ชอบแสงแดดจัดเพราะเป็นไม้กลางแจ้ง
 .
สรรพคุณแผนโบราณของทานตะวัน 
 .
“ราก” แก้เสียดแน่นหน้าอก
“ไส้ในลำต้น” แก้บาดแผล เลือดออกไม่หยุด
“ใบ” ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร
“ดอก” ใช้แก้ไข้ ขับลม แก้วิงเวียนศีรษะ
“ฐานดอก” แก้ปวดศีรษะ วิงเวียน แก้ปวดฟัน
“เมล็ด” ใช้ขับปัสสาวะ
  
5
 
ประโยชน์ของทานตะวัน 

 .
“เมล็ด” ใช้บริโภคโดยตรง เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ได้ ในเมล็ดมีธาตุเหล็กสูงใกล้เคียงกับไข่แดงและตับ เมื่อนำมาบดเป็นแป้งจะได้แป้งสีขาว มีไขมันสูง มีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง โดยเมล็ดทานตะวัน (แห้ง) ในส่วนที่กินได้ 100 กรัม จะได้พลังงาน 490 แคลอรี่ ไขมัน 32.8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 38.6 กรัม เส้นใย 3.7 กรัม โปรตีน 16.7 กรัม แคลเซียม 92 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 632 มิลลิกรัม เหล็ก 5.8 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.07 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.4 มิลลิกรัม  

“น้ำมัน” น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดทานตะวันเป็นน้ำมันคุณภาพสูง ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว และยังประกอบไปด้วยวิตามินอี ซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ แม้ว่าค่าการต้านอนุมูลอิสระจะต่ำกว่าน้ำมันรำข้าวและน้ำมันถั่วเหลืองประมาณ 2 เท่า
 
มีการทดลองระบุว่า การรับประทานน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันเมล็ดทานตะวัน มีผลช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลในเลือดของหนูทดลอง และมีการทดลองทางคลินิกพบว่า น้ำมันเมล็ดทานตะวันที่มีการเติมสาร hydroxytyrosol (พบได้ในน้ำมันมะกอก) ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
 
6
 
“ต้นอ่อนทานตะวัน” นำมาบริโภค ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยมีงานวิจัยระบุว่าต้นอ่อนทานตะวัน ประกอบด้วยสารประกอบฟีนอล (phenolic compounds) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
 .
ประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เปลือกของลำต้นมีลักษณะเหมือนเยื่อไม้นำมาทำกระดาษ รากใช้ทำแป้งเค้ก กากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และยังมีงานวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาระบุว่า กลีบสวยๆ ของดอกทานตะวันมีสาร triterpene glycosides มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลองได้
 .
จะเห็นได้ว่านอกจากความสวยงามของดอกทานตะวันแล้ว ส่วนต่างๆ ของทานตะวันยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งใช้ในการบริโภคและการผลิตทางอุตสาหกรรม 
 
7
 
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรทานตะวัน 
 .
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
 .
สำหรับทีมาของการที่ได้ชื่อว่า “ทานตะวัน” นั่นเป็นเพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบนั้นจะหันไปตามทิศทางของดวงอาทิตย์ โดยในตอนเช้าจะหันไปทางทิศตะวันออก และในช่วงเย็นจะหันไปทางทิศตะวันตกตามดวงอาทิตย์ แต่การหันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ หลังมีการผสมเกสรแล้วไปจนถึงช่วงดอกแก่ ซึ่งช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ
 .
ที่สำคัญ “ทานตะวัน” นอกจากจะปลูกเป็นพืชรอง หรือพืชเสริมรายได้แก่เกษตรกรแล้ว ทานตะวันยังสามารถนำมาปลูกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ดีนะขอรับ 
 
8
9
10
 
บรรณานุกรม 
 
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/249/ทานตะวัน
https://medthai.com/ทานตะวัน/
 


กำลังโหลดความคิดเห็น