xs
xsm
sm
md
lg

ระดมกำลังทั่วประเทศเข้าดูแล “เจ้ามาเรียม” ทั้งวันทั้งคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - สัตวแพทย์ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่ออนุบาล “เจ้ามาเรียม” ทั้งวันทั้งคืนจนหลายคนเริ่มอ่อนล้า จนต้องระดมกำลังมาจากทั่วประเทศ

วันนี้ (21 มิ.ย.) นับตั้งแต่ทางเจ้าหน้าที่ได้นำ “เจ้ามาเรียม” พะยูนน้อยเพศเมีย อายุประมาณ 6 เดือน ที่พลัดหลงกับแม่ที่ทะเล จ.กระบี่ แล้วนำมาอนุบาลดูแลที่ จ.ตรัง โดยปล่อยให้อยู่ในธรรมชาติในทะเล บริเวณอ่าวดุหยง ใกล้เขาบาตู หมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้รวมเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว เพื่อให้มาเรียมได้มีโอกาสเติบโตอยู่ในธรรมชาติที่มีแหล่งหญ้าทะเลอาหารพะยูนผืนใหญ่ และฝูงพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดประมาณ 180 ตัวในประเทศไทย เพื่อได้มีโอกาสเติบโตกลับเข้าฝูงได้อย่างปลอดภัย

โดยกำลังเจ้าหน้าที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายดูแลความปลอดภัยให้เจ้ามาเรียม ซึ่งจะต้องดูเรื่องเรือไม่ให้เข้าใกล้พะยูนที่อนุบาล รวมทั้งคอยลาดตระเวนตามหามาเรียมขณะน้ำลง เพื่อช่วยเหลือไม่ให้เกยตื้น และฝ่ายโภชนาการ ที่มีหน้าที่ในการป้อนนมป้อนหญ้า
 

 
ทั้งนี้ กำลังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องการป้อนอาหารให้แก่พะยูนคือ ทีมสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) อาสาสมัคร และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง ที่มีเพียงไม่กี่คน ที่ทำงานกันอย่างหนักหมุนเวียนกันลงไปลอยคออยู่ในน้ำเพื่อป้อนนมป้อนหญ้าให้แก่เจ้ามาเรียมเกือบตลอดทั้งวัน จนเนื้อตัวเปียกปอนทั้งวันทั้งขณะน้ำขึ้นหรือน้ำลง เสี่ยงต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย เสี่ยงกับสัตว์มีพิษในทะเล เช่น แมงกะพรุนกล่อง ปลากระเบน รวมทั้งยังต้องยืนบนเปลือกหอย แง่งหินต่างๆ ที่มีโอกาสจะได้รับบาดเจ็บได้ตลอดเวลา แต่ทุกคนก็เต็มใจที่อยากจะช่วยเจ้ามาเรียม ให้เติบโตแข็งแรง และกลับลงสู่ทะเลได้โดยไม่ต้องอาศัยคนอีกต่อไป

สัตวแพทย์หญิงชวัญญา เจียกวธัญญู สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า ตอนนี้ต้องมีการจัดเวรในการดูแลอนุบาลเจ้ามาเรียม นำโดยทีมแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ละเวรจะต้องรับผิดชอบยาวนาน 1 สัปดาห์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คนต่อนักวิชาการ 1 คน เป็นอย่างน้อย โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีทั้งหมด 5 ศูนย์ที่ดูแลสัตว์เลี้ยงหายาก แต่ในบริเวณนี้อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ภูเก็ต ดังนั้น ในการผลัดเปลี่ยนเวรจะมีการขอความอนุเคราะห์จากศูนย์อื่นๆ มาช่วยในบางผลัด เนื่องจากทีมสัตวแพทย์ศูนย์ภูเก็ตเริ่มมีอาการล้า ซึ่งขณะนี้ทุกศูนย์มาช่วยกันอย่างเต็มที่ ทั้งเข้าใกล้และคุ้นชินกับเจ้ามาเรียม แล้ว
 

 
ทั้งนี้ การดูแลเจ้ามาเรียมเชื่อว่าอย่างน้อยต้อง 6 เดือนขึ้นไป เพราะมันอยู่ในช่วงที่ยังไม่หย่านม หรือจนกว่าที่เจ้ามาเรียมจะหย่านมแล้วออกไปได้เอง ตอนนี้จะมีการดูแลสุขภาพโดยรวม โดยทุกวันในช่วงเช้าจะมีการวัดสัญญาณชีพ ทั้งหัวใจ การหายใจ กระเพาะว่ามีอาการท้องอืดหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจอุจจาระและปัสสาวะว่ามีหรือเปล่า ก่อนนำไปออกกำลังกาย โดยทางทีมแพทย์จะพิจารณาเป็นไปตามพฤติกรรมของเจ้ามาเรียมว่า ต้องการจะทำอะไรเป็นหลัก ก็จะให้มันทำ

“ส่วนการกินหญ้าทะเลนั้น ด้วยวัยขนาดนี้ยังกินหญ้าทะเลไม่เป็น และหาแหล่งหญ้าทะเลไม่เป็น จึงต้องพาไป โดยยังกินได้เล็กน้อย และจะให้กินเต็มรูปแบบอย่างตัวใหญ่ยังทำไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปรับให้เขากินไปเรื่อยๆ ก่อน” สัตวแพทย์หญิงชวัญญา เจียกวธัญญู สัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น