xs
xsm
sm
md
lg

เปิดอบรมการเพิ่มศักยภาพการทำงานของท่าเทียบเรือประมงฯ รุ่น 4 ที่สงขลา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ร่วมกับกรมประมง เปิดอบรม “การเพิ่มศักยภาพการทำงานของท่าเทียบเรือประมงในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ” รุ่นที่ 4 ที่ จ.สงขลา เดินหน้าสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านประมง

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการ สำนักงานกฎหมายและคดี/ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมด้วย นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการทำงานของท่าเทียบเรือประมงในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ” รุ่นที่ 4 ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2562 โดยมีผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมง เจ้าหน้าที่กรมประมงใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จำนวน 203 คน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงกัน

พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการ สำนักงานกฎหมายและคดี/ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย กล่าวว่า ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือประมง ต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง และต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ จากการกำหนดดังกล่าว กรมประมงได้ดำเนินการออกกฎหมายลูกหลายฉบับเพื่อให้การปฏิบัติของท่าเทียบเรือประมงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
 

 
กล่าวคือให้ท่าเทียบเรือประมงเป็นผู้จัดทำรายงานข้อมูลการนำสัตว์น้ำที่ได้จากการจับรายงานต่อกรมประมง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งการรวบรวมข้อมูล และการจัดเก็บดังกล่าวนั้น ต้องมีความครบถ้วนถูกต้อง และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good governance) โดยการมีส่วนร่วมจากท่าเทียบเรือประมง การได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการป้องกันการทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิต หรือควบคุมมิให้มีการจับสัตว์น้ำที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน อีกทั้งการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายของท่าเทียบเรือประมงจะเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้การซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเชื่อมั่นได้ว่าสัตว์น้ำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำนั้น ไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated : IUU fishing)

ด้านนายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยปรับปรุงระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมประมง (Thai Flagged Catch Certification system) การใช้งานระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยการจัดทำแบบบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ นำสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำแบบสรุปรายวันบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้ามาใช้บริการจอดเรือ ขนถ่าย หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (ขนส่งสัตว์น้ำทางรถยนต์) และการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (MCPD)
 

 
อีกทั้งมีการปรับกฎหมายประมงให้เป็นปัจจุบัน จึงกำหนดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการขึ้น มีเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล เจ้าหน้าที่กรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 864 คน รวมจำนวน 4 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 จัดอบรม ณ โรงแรมทีซิกซ์ไฟว์ โฮเทล จังหวัดชลบุรี, รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต โภคีธรา จังหวัดภูเก็ต, รุ่นที่ 3 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอา บีช รีสอร์ต จังหวัดเพชรบุรี และรุ่นที่ 4 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งครอบคลุมท่าเทียบเรือประมงใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU), ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติตามระบบตรวจสอบย้อนกลับของท่าเทียบเรือประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560, ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมประมง (Thai Flagged Catch Certification system) ในการตรวจสอบย้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นการแลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นผู้ใช้งานระบบ

นอกจากนี้ ยังเป็นการขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
 




กำลังโหลดความคิดเห็น