xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต ศึกษาใหม่ หลังคนไม่เอายกระดับ มุดลงดินงบเพิ่มอีก 10 % มั่นใจปี 67 ได้เห็นแน่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต ศึกษาใหม่ หลังคนไม่เอายกระดับ เตรียมมุดลงดินในจุดสำคัญอย่างน้อย 3 จุด ยันปลายปี 63 ประกาศหาผู้ร่วมทุนได้ ขณะที่งบประมาณเพิ่มจากเดิมอีก 10 % มั่นใจปี 67 ได้เห็นแน่

วันนี้ ( 20 มิ.ย.) นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งฯ (สนข.) พร้อมด้วย นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ร่วมแถลงความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตระยะที่ 1 หรือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จ.ภูเก็ต ณ ห้องประชุมอาคารคอซิมบี้ ศาลากลาง จ.ภูเก็ต

นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตต่อจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) โดย รฟม.แบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานีและระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ทั้งนี้ รฟม.กำหนดเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน คือเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 

ซึ่งที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินการจัดการทดสอบความสนใจของนักลงทุน( Market Sounding) ทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดภูเก็ตโดยมีนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับฟังข้อมูลโครงการเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างการหารือกับกรมทางหลวงในประเด็นต่างๆ เพื่อขอใช้พื้นที่ทางหลวงในการดำเนินโครงการได้แก่รูปแบบสถานี,ทางวิ่ง,ระบบระบายน้ำ,ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง,ป้ายจราจร รวมทั้งการจัดการจราจรตามแนวเส้นทางโครงการบนทางหลวง เป็นต้น โดยจะทำการศึกษาออกแบบใหม่ในบางจุดเนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นชาวจังหวัดภูเก็ตพบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้างเส้นทางเดินรถยกระดับ และอยากให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานีในระบบแนวราบ ทำให้บางจุดต้องออกแบบให้มุดลงดิน ซึ่งมีหลายจุดด้วยกัน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่จุดที่ต้องลงดินแน่ๆ คือ จุดบริเวณสามแยกบางคู โดยจุดนี้จะไม่เกี่ยวกับอุโมงค์เดิมเป็นการสร้างทางต่างหาก จุดอื่นๆก็เช่นเดียวกัน

ซึ่งภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้นแล้ว รฟม. จะนำมาปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการได้ภายในปี 2563 จากนั้น รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการเพื่อออกแบบรายละเอียดและโครงการก่อสร้างคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2567

ขณะที่ นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งฯ (สนข.) ในส่วนของรูปแบบการก่อสร้างจะคำนึงถึงความสะดวกของพี่น้องประชาชนที่จะใช้บริการให้มากที่สุด โดยคาดว่าเมื่อมีการก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนมีการปรับตัวและระบบเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนความคุมทุน คิดว่าถ้าคิดในแง่ของกำไรนั้นรายได้ที่จะเข้ามามีไม่มาก แต่ถ้าคิดในแง่ของคุณภาพชีวิต และมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นในเส้นทางที่รถไฟฟ้าผ่านมีความคุ้มทุนแน่นอน

ส่วนการลงทุนนั้นยังคงเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องมาดูว่ารัฐจะอุดหนุนเท่าไหร่ แต่ที่ผ่านมาพบว่าเอกชนให้ความสนใจหลายราย ส่วนงบประมาณในการดำเนินการก่อนหน้านี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการกว่า 30,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่มีการปรับเส้นทางบางจุดจากยกระดับเป็นลงใต้ดินก็จะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 %



กำลังโหลดความคิดเห็น