xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหน้าที่ปรับแผนนำ “แม่ส้ม” สอนพะยูนน้อยให้เรียนรู้ธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - เจ้าหน้าที่ปรับแผนนำ “แม่ส้ม” ไปลอยลำบริเวณร่องน้ำลึก เพื่อสอนให้ “เจ้ามาเรียม” เรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้น พร้อมวางตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนทำอันตรายเจ้าหน้าที่

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่บริเวณอ่าวดูหยง ใกล้เขาบาตู ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ใช้สำหรับการดูแลอนุบาล “เจ้ามาเรียม” พะยูนน้อยเพศเมีย วัยประมาณ 5-6 เดือน โดยทีมสัตวแพทย์ประจำกลุ่มกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยง นำโดย นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์.ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) และนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงฤดูมรสุมซึ่งน้ำมีสีขุ่น ทำให้ยากต่อการตามหาตัวเจ้ามาเรียมเพื่อมาป้อนนมป้อนหญ้า เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้ "แม่ส้ม" (เรือคายัค) ลอยลำอยู่กับเจ้ามาเรียมให้มากขึ้น เพื่อให้มันอยู่ในพื้นที่ที่ต้องการ สามารถหาตัวได้ง่าย และมีความปลอดภัย

ส่วนในช่วงกลางคืนจะต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันเจ้ามาเรียมเกยตื้นในช่วงน้ำทะเลลงต่ำสุด ซึ่งนับจากคืนนี้เป็นต้นไปจะใช้แผนเอาแม่ส้ม (เรือคายัค) ไปลอยลำกลางร่องน้ำลึกหน้าเขาบาตู โดยใช้ทรายบรรจุในกระสอบถ่วงเรือไว้ เพื่อให้เจ้ามาเรียมไปนอนในบริเวณร่องน้ำใต้แม่ส้ม เพราะเจ้ามาเรียมเข้าใจว่าแม่ส้มคือแม่พะยูน เพื่อให้มันสามารถเรียนรู้ธรรมชาติด้วยตัวเองและมีการปรับตัว เพราะการแก้ปัญหานั้นทางทีมงานต้องคิดในระยะยาวด้วยว่า ต้องให้พะยูนน้อยอยู่ได้ด้วยตัวเขาเองในธรรมชาติกับเพื่อนพะยูนตัวอื่นๆ โดยไม่มีมนุษย์ จึงต้องให้เจ้ามาเรียมเรียนรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย
 

 
นายก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องบ่ออนุบาลพะยูนน้อย ตอนนี้ได้มีการเตรียมบ่อยางไว้เป็นบ่อชั่วคราวแล้ว สามารถเป่าลมเข้าไปแล้วก็ใช้ได้เลยในกรณีฉุกเฉิน แต่สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่เอาเจ้ามาเรียมมาเลี้ยงในธรรมชาติ เพราะไม่อยากเห็นอนาคตของมันอยู่ในบ่อเลี้ยงหรืออยู่กับคน ซึ่งแม้ในธรรมชาติมีความเสี่ยงแต่เราก็ต้องยอมรับ และต้องเห็นแก่อนาคตของเจ้ามาเรียม เพราะปกติพะยูนน้อยจะต้องอยู่กับแม่ประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี เจ้าหน้าที่จึงต้องให้กินนมเช่นนี้ต่อไปอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าจะมีความยาวของลำตัวประมาณ 1.50 เมตร

แต่ปัจจุบัน เจ้ามาเรียม ยังมีความยาวแค่ 1.20 เมตรเท่านั้น ซึ่งการจะออกจากการดูแลของมนุษย์ได้เร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของเจ้ามาเรียมเอง จึงพยายามจะดูแลในลักษณะของสัตว์ป่าที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงหรือปัจจัยเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของเจ้ามาเรียม ก็คือ กิจกรรมทางน้ำ การสัญจรของเรือ

ส่วนปัญหาที่เกิดกับเจ้าหน้าที่และจิตอาสาคือ อันตรายจากหอยที่ทิ่มแทงจนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งเรื่องแมงกะพรุนกล่อง และปลากระเบน ซึ่งขณะนี้ต้องให้เจ้าหน้าที่สวมชุดที่ห่อหุ้มและปกปิดมิดชิดที่สุดเพื่อป้องกัน รวมทั้งเตรียมแผนใช้ตาข่ายล้อมบริเวณที่เจ้าหน้าที่ให้อาหารเจ้ามาเรียม เพื่อไม่ให้แมงกะพรุนกล่องเข้ามาเป็นปัญหากับเจ้าหน้าที่ให้ได้รับบาดเจ็บ แต่แมงกะพรุนไม่ส่งผลใดๆ ต่อพะยูนน้อย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น