xs
xsm
sm
md
lg

‘มาเรียม’ ดังไม่หยุด! พอช.จับมือ DEPA นำร่องใช้ “โดรน” บินดูแลพะยูนและอนุรักษ์ทะเลที่ตรัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย... สุวัฒน์ กิขุนทด
พะยูนน้อย น้องมาเรียม ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังและถูกใช้เป็นต้นแบบของโครงการนี้
 
เปิดตัวโครงการนำร่องใช้ “โดรน” ส่งเสริมการท่องเที่ยว-ปกป้องพะยูน 180 ตัวที่เกาะลิบง จ.ตรัง ยกเคส “น้องมาเรียม” พะยูนน้อยเป็นต้นแบบความร่วมมืออนุรักษ์และดูแลระบบนิเวศน์ในทะเล อันเป็นผลจาก “พอช.” จับมือ “depa” ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชน
 
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนในชนบทเสนอโครงการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตร แปรรูป ท่องเที่ยวโดยชุมชน ฯลฯ วงเงินสนับสนุนไม่เกินโครงการละ  500,000 บาท
 
พะยูนน้อย น้องมาเรียม ที่กำลังเป็นข่าวโด่งดังและถูกใช้เป็นต้นแบบของโครงการนี้
 
ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2562 มีโครงการต่างๆ เสนอขอรับการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก  โดยขณะนี้ผ่านการอนุมัติจาก depa แล้ว 3 โครงการ และ 1 ใน 3 โครงการนั้นอยู่ในภาคใต้คือ “โครงการใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เกาะลิบง จ.ตรัง”
 
สำหรับโครงการที่ จ.ตรังดังกล่าวเพิ่งมีการเปิดตัวโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลเกาะลิบงไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2562 ที่โรงแรมเรือรัษฎา จ.ตรัง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง ซึ่งได้รับการอนุมัติและสนับสนุนโครงการจาก depa แล้ว โดยจะใช้ “โดรน” หรือ “อากาศยานไร้คนขับ” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก depa มาใช้ในการถ่ายภาพทางอากาศเพื่อติดตามฝูงพะยูนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งเกาะลิบง รวมทั้งเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
 
นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริม สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ชุมชน ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดย ดร.ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์ ผอ.depa และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. มีนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และนายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้
 

 
ยกเคส ‘มาเรียม’ เป็นต้นแบบความร่วมมืออนุรักษ์ท้องทะเล “พะยูนอยู่ได้ คนอยู่ได้” 
 .
นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในการสนับสนุนชุมชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลครั้งนี้ เป็นการตอบโจทย์ของชุมชน โดยเฉพาะกรณีการใช้โดรนที่เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งอยู่อาศัยแหล่งใหญ่ของพะยูนประมาณ 180 ตัว ถือเป็น “เมืองหลวงพะยูน” และแสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ในเกาะลิบง ซึ่งการใช้โดรนบินถ่ายภาพพะยูนจะทำให้ไม่รบกวนการอยู่อาศัยของพะยูน และจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านด้วย
 
“กรณีของพะยูน ‘น้องมาเรียม’ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมมือกันดูแลพะยูน ทั้งหน่วยงานราชการ ชาวบ้านและภาคเอกชน เพราะตอนนี้มาเรียมมีอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาดูแลให้มาเรียมมีอายุประมาณ 1 ปี เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง สามารถไปใช้ชีวิตกับพะยูนตัวอื่นๆ ได้ ขณะที่การใช้โดรนเฝ้าระวังพะยูนจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย กล่าวคือ พะยูนก็อยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ มีรายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังช่วยกันดูแลและส่งเสริมระบบนิเวศน์ของท้องทะเลด้วย” ผู้ว่าฯ จ.ตรัง กล่าว 
 
นายอีสมาแอน เบ็ญสอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง กล่าวว่า เกาะลิบงเป็นแหล่งอยู่อาศัยของพะยูนแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีหญ้าทะเลที่เป็นอาหารของพะยูนอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ มีพะยูนอาศัยอยู่ประมาณ 170-180 ตัว จากพะยูนทั้งหมดในท้องทะเลไทยที่มีอยู่ประมาณ 200 ตัว แต่ที่ผ่านมามีเรือประมงต่างถิ่นลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้หญ้าทะเลถูกทำลาย และบางครั้งก็มาลักลอบจับพะยูนไปด้วย
 
“เราจะใช้โดรนขึ้นบินตรวจพื้นที่จุดเสี่ยงที่อาจจะมีเรือประมงลักลอบเข้ามาทำประมงผิดกฎหมาย หรือเข้ามาจับพะยูน หรือมาขโมยตัดไม้บนเกาะเพื่อเอาไปขาย โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เพราะโดรนสามารถบินตรวจการณ์ได้ นอกจากนี้ยังใช้โดรนบินถ่ายภาพฝูงพะยูนแล้วต่อสัญญาณภาพมาที่จอโปรเจคเตอร์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดู ไม่ต้องนั่งเรือลงไปดูใกล้ๆ เป็นการรบกวนพะยูน และอาจทำให้พะยูนได้รับอันตราย เพราะเมื่อก่อนเคยมีเรือสปีดโบ๊ทพานักท่องเที่ยวมาดูแล้วชนพะยูนท้องแก่ตาย” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากโดรนเพื่อปกป้องทรัพยากรและส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะลิบง 
 

 
ทั้งนี้ depa ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อโดรนจำนวน 1 ลำ ในราคา  366,700 บาท โดยชาวบ้านเกาะลิบงร่วมสมทบเงินเพื่อซื้อโดรนจำนวน 150,000 บาท ซึ่งตามแผนงานจะสามารถนำโดรนมาใช้ได้ภายในเดือน ก.ค.2562 นี้
 
นายชัยพฤกษ์ วิระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง กล่าวว่า ตนเข้ามาทำงานที่เกาะลิบงเมื่อปี 2554 ซึ่งในปีนั้นมีพะยูนตายประมาณ 10 ตัว ส่วนใหญ่ตายเพราะติดอยู่ในเครื่องมือประมง โดยเฉพาะอวนปลาหมึกและเบ็ดราไวย์ ต่อมาจึงได้มีการรณรงค์เพื่อไม่ให้ชาวประมงใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งวางทุ่นเพื่อไม่ให้เข้ามาทำประมงในเขตหญ้าทะเลและแหล่งอยู่อาศัยของพะยูน ซึ่งก็ได้ผล ทำให้มีพะยูนเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละ 10-11 คู่ และมีอัตราการตายน้อยลงเรื่อยๆ
 
“ปีนี้มีพะยูนตายประมาณ 3 ตัว ซึ่งเราจะต้องร่วมกันดูแลพะยูนให้มีอัตราการตายไม่เกิน 5  ตัวต่อปี เพราะหากเกินจำนวนนี้จะทำให้พะยูนในท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นสัตว์หายากสูญพันธุ์ภายใน 10 ปี นอกจากนี้จะต้องระวังเรื่องผลกระทบจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสียจากรีสอร์ตและชุมชน มลพิษและขยะ เพราะจากการตรวจพิสูจน์ซากพะยูนที่ตายพบว่า มีการติดเชื้อหนอง ซึ่งอาจจะมาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต่อไปนี้เราจะต้องมีความเข้มงวดเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้พะยูนและสัตว์อื่นๆ อยู่ได้ มนุษย์ก็อยู่ได้” หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง กล่าว
 
นอกจากนี้หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบงยังกล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนให้มีการใช้โดรนเพื่อดูแลพะยูน เพราะหากเป็นช่วงน้ำแห้งหรือตอนกลางคืนจะออกเรือไปดูแลพะยูนไม่สะดวก แต่โดรนสามารถทำได้ เพราะมีระบบการถ่ายภาพตอนกลางคืน และอยากให้นักท่องเที่ยวดูฝูงพะยูนจากภาพถ่ายจากโดรน หรือขึ้นไปดูบนเขา ไม่ใช่นั่งเรือไปดูซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพะยูน
 
นายอีสมาแอน เบ็ญสอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงกับ โดรน ที่จะใช้อนุรักษ์ดูแลพะยูนและท้องทะเล
 
“พอช.” ยังเดินหน้าจับมือ “depa” ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลชุมชน
 .
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.กล่าวถึงบทบาทภารกิจของ พอช.ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การประสานงาน การเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีฯ แก่องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และเสนอพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมถึงหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีฯ
 
นอกจากนี้ยังมีการติดตาม สนับสนุนการนำใช้เทคโนโลยีฯ ในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามเป้าหมายและผลลัพธ์ที่กำหนดเอาไว้
 
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.depa กล่าวถึงบทบาทภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า depa จะให้คำปรึกษา ให้ข้อมูล นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ประสาน เชื่อมโยงหน่วยงาน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเข้าร่วมหนุนเสริมพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีฯ แก่องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน รวมถึงภาคประชาสังคม ตามที่ได้รับการสนับสนุนและประสานงานจาก พอช.
 

 
อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกาะลิบงแล้ว ยังมีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก depa อีก 2 โครงการคือ โครงการใช้ภาพถ่ายและวิดีโอภาพเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และโครงการเทคโนโลยีการพ่นสารน้ำทางการเกษตรด้วยอากาศยานไร้คนขับ ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
 
นอกจากนี้ยังมีอีก 12 โครงการที่กลุ่มวิสาหกิจ สหกรณ์ และเครือข่ายองค์กรต่างๆ เสนอโครงการเข้ามาและอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติโครงการจาก depa เช่น ระบบสัญญาณเซนเซอร์เพื่อเตือนภัยช้างป่า ต.พวา  อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี, เครื่องวัดระดับอ๊อกซิเจนบ่อเลี้ยงปลาดิจิทัล สหกรณ์การประมงบางจะเกร็ง-บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสาคร, ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์การจัดการร้านค้าชุมชน ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ฯลฯ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ depa จะให้งบประมาณสนับสนุนไม่เกินโครงการละ 500,000 บาท
 
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้จะเป็นกลไกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะที่เกาะลิบงที่จะใช้โดรนมาเป็นเครื่องมือ โดยมีหน่วยงานและภาคีต่างๆ 7 ภาคส่วน เช่น พอช., depa, จ.ตรัง, บริษัทประชารัฐรักสามัคคี จ.ตรัง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ หน่วยงานในท้องถิ่น ภาคประชาชนและชุมชนร่วมกันหนุนเสริมและแบ่งหน้าที่กันทำงาน
 
แม้ว่าจะมีปัญหาอุปสรรค แต่ทุกหน่วยงานก็จะต้องร่วมกันฟันฝ่า เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือ ความสมบูรณ์พูนสุขของพี่น้องประชาชน
 



กำลังโหลดความคิดเห็น