xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสัตวแพทย์วางแผนสร้างอ่างอนุบาลให้ “เจ้ามาเรียม” เพื่อความปลอดภัยช่วงมรสุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ทีมสัตวแพทย์สำรวจวางแผนรับมือมรสุมใหญ่ เตรียมสร้างอ่างอนุบาลแก้ปัญหา “เจ้ามาเรียม” เกยตื้นขณะน้ำลง เพื่อความปลอดภัยของพะยูนน้อยและเจ้าหน้าที่

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่อ่าวดุหยง ใกล้เขาบาตู หมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลอนุบาล “เจ้ามาเรียม” พะยูนน้อยวัยประมาณ 6 เดือนแบบธรรมชาติในทะเล โดยทีมสัตวแพทย์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กลุ่มพิทักษ์ดุหยง และเจ้าหน้าที่อาสา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม และคลื่นลมจะมีกำลังแรง จึงเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่เริ่มทำงานยากลำบากและเป็นอันตราย ทั้งจากแมงกะพรุน และปลากระเบน รวมทั้งเป็นอันตรายกับเจ้ามาเรียม ที่ยังเป็นพะยูนวัยเด็กที่ร่างกายยังไม่แข็งแรง ยังต้องป้อนนม ป้อนหญ้า และยังไม่รู้จักทะเลดีพอ ทั้งจากการถูกคลื่นซัดออกจากฝั่งไปสู่ทะเลใหญ่ หรืออาจเกยตื้นหลังจากน้ำลง ทำให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คิดหาวิธีการวางแผนดูแลอนุบาลเจ้ามาเรียม ให้เกิดความปลอดภัย
 

 
ล่าสุด นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ให้การต้อนรับ รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับมอบหมายจากกรมอุทยานฯ ให้ลงมาศึกษาพื้นที่เพื่อวางแผนในการเตรียมพร้อมรับมือการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลอนุบาลเจ้ามาเรียม รวมทั้งการสำรวจพื้นที่ทำบ่ออนุบาลชั่วคราว ซึ่งเป็นแผนการหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการดูแลอนุบาลพะยูนน้อยในช่วงฤดูมรสุมนี้

โดยเบื้องต้น ดร.นันทริกา ได้ประสานหารือไปยังบริษัท เอสซีจี จำกัด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่วิศวกรรมที่สามารถให้คำปรึกษาในการสำรวจออกแบบ เพื่อให้เข้ากับสภาพพื้นที่ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม น้ำสามารถไหลเวียนได้ หรือหากเป็นช่วงน้ำทะเลลงก็สามารถกักเก็บน้ำได้ โดยจะให้เจ้ามาเรียมพักในบ่อช่วงขณะที่น้ำลง ป้องกันปัญหาเกยตื้น หรือขณะให้อาหารนมและหญ้าทะเลในช่วงขณะน้ำขึ้นหรือเกิดมรสุมใหญ่

รวมทั้งจะเร่งหารือกับผู้นำชุมชน รวมทั้งประชาชนชาวตำบลเกาะลิบง เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการออกแบบดังกล่าว ทั้งนี้ หากจะมีการสร้างบ่อชั่วคราวในการอนุบาลเจ้ามาเรียม จะใช้พื้นที่ไม่มากริมชายฝั่งในรัศมีประมาณ 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร และหากสามารถทำได้ จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของเจ้ามาเรียม และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
 

 
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ ต้องคิดหาทางออกในการดูแลเจ้ามาเรียม ในช่วงมรสุมใหญ่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของพะยูนน้อย และของเจ้าหน้าที่ เพราะทุกคืนขณะนี้เมื่อน้ำลงต่ำ เจ้าหน้าที่จะต้องออกลาดตระเวนตามหาตัวเจ้ามาเรียม เพราะเกรงจะเกยตื้นลงตามน้ำไม่ได้ และหากเกิดมรสุมใหญ่เจ้าหน้าที่ก็สามารถดูแลได้ และเกิดความปลอดภัยทั้งคนและสัตว์ จึงได้ส่งทีมสัตวแพทย์เดินทางดูสถานที่ และเตรียมก่อสร้างอ่างอนุบาลเจ้ามาเรียมในทะเลตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันมิให้เกยตื้นและป้องกันภัยในช่วงมรสุม

ขณะที่ ดร.นันทริกา กล่าวว่า ทุกวันนี้ทุกคนที่ติดตามข่าวจะรู้สึกเป็นห่วงเจ้ามาเรียม เพราะยังเป็นพะยูนวัยเด็ก ยังซุกซนตามประสา เจ้าหน้าที่เป็นห่วงจะต้องตามหาทุกครั้งเวลาน้ำลง เพราะจะไปเกยตื้นอยู่ในหลายๆ จุด จึงคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องมีพื้นที่ให้เจ้ามาเรียมอยู่ในตอนกลางคืนที่ปลอดภัย ลักษณะเหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ทั่วไปที่ตอนกลางคืนจะต้องเอาเข้าบ้าน พอตอนเช้าก็ปล่อยเขาออกไปวิ่งเล่น

โดยจะใช้วิธีการที่ทำให้เกิดความปลอดภัยในวิธีธรรมชาติ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หากเราสามารถทำได้ ไม่ใช่เฉพาะในช่วงมรสุมเท่านั้น แต่หากเกิดสัตว์ทะเลเกยตื้น บาดเจ็บ ล้มป่วย ทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้บ่อดังกล่าวนี้ในการดูแลรักษาในระบบธรรมชาติ และสามารถดูแลได้ตลอด 24 ชม.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น