คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย... จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ข้าพเจ้าจำได้ว่าในช่วงของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากประชาชนในจังหวัดสงขลา เพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 หลังจากการยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2559 พวกเราในฐานะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นฯ จังหวัดสงขลา ภายใต้การนำของ นายนิมิตร ชัยจิระธิกุล (ผู้ล่วงลับ) ได้นำเสนอรูปแบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปลี่ยนจาก “การแต่งตั้ง” และ “การเลือกตั้ง” มาเป็น “การสรรหา” อันเป็นรูปแบบกระบวนการที่เราไม่เคยทดลองใช้กับการได้มาซึ่ง ส.ว.
เนื่องจากเราเคยมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมาตั้งแต่ต้น แล้วต่อมาถูกมองว่าไม่สง่างาม ไม่ยึดโยงกับประชาชน ปี 2543 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 เราจึงมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผลจากการเลือกตั้งออกมากลายเป็น “สภาผัวสภาเมีย” หรือ “สภาเครือญาติ” กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งใหญ่
ดังนั้น ในการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่วันนั้น ชาวสงขลาส่วนหนึ่งโดยกลุ่มย่อยของพวกเรา จึงเสนอรูปแบบ “การสรรหาผสมผสานกับการเลือกตั้ง” โดยให้บัญญัติไว้เป็นหลักการกว้างๆ ในรัฐธรรมนูญถึงที่มาของ ส.ว.ชุดต่อไป เพื่อให้ ส.ว.มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน และไม่เป็นสภาผัวสภาเมียให้ถูกครหาอีกต่อไป
“กระบวนการสรรหา” เป็นการแสวงหาผู้เข้าสู่อำนาจสาธารณะที่สำคัญ เป็นกระบวนการที่พบกันครึ่งทางระหว่าง “การแต่งตั้ง” หรือที่ถูกเรียกขานแบบประชดประชันว่า “การลากตั้ง” กับ “การเลือกตั้ง” ที่ถูกมองว่าเป็นแบบ “พวกมากลากไป” และสร้างความขัดแย้งแตกแยก มีความไม่โปร่งใส มีการทุจริตในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการซื้อสิทธิขายเสียง มาเป็น “การสรรหา” ที่กำหนดคุณลักษณะที่เหมาะสมของบุคคลที่จะเข้าสู่อำนาจ มีคณะกรรมการสรรหาที่เป็นกลางและเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
จะเห็นว่า “กระบวนการสรรหา” มีบทบาทในการแสวงหาบุคคลเข้าสู่อำนาจ เพื่อทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ องค์กรสาธารณะ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กมส.) อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย คณบดี ฯลฯ และมักมีข้อครหาต่างๆ นานาในแทบทุกวงการ เพราะกฎเกณฑ์กติกาและพฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรมแตกต่างกันไป เช่น กรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย “ผลัดกันเกาหลังกับอธิการบดี” เป็นต้น เพราะอธิการบดีบางมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยและนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่สรรหาและรับรองการเข้าสู่ตำแหน่งของอธิการบดี
ที่ผ่านมา กระบวนการสรรหาถูกกล่าวหาว่า ไม่เที่ยงธรรม มีการวิ่งเต้นตามเส้นสายตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงระดับชาติ เช่น กกต.จังหวัด กกต.ระดับชาติ อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ ส.ว.
ล่าสุด กรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 10 คน 6 ใน 10 คนสรรหาตัวเองมาเป็น ส.ว. ในจำนวน 194 คนด้วย จึงถูกครหาว่าไม่สง่างาม ไม่น่าเชื่อถือ มิหนำซ้ำยังมีการสรรหาญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันกับตนมาเป็น ส.ว.อีกด้วย
มาตรา 90 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 บัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรกให้วุฒิสภาประกอบด้วย สมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง จากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคน แต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้”
ดังนั้น แม้ว่า ส.ว.แต่ละคนหรือส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมากพอจะทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ แต่เมื่อมีที่มาที่ไม่สง่างาม จึงน่าเสียดายที่ ส.ว.ชุดนี้ขาดความน่าเชื่อถือในที่มา โดยกระบวนการสรรหาที่ไม่โปร่งใส
นี่ยังไม่นับบทบาทหน้าที่ในการรับรองการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ที่เคยเป็นประเด็นถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงก่อนหน้านี้ และขณะนี้ยังมีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลกำลังดำเนินการกดดัน เพื่อเรียกร้องให้กระบวนการสรรหา ส.ว.ชุดนี้เป็นโมฆะอีกด้วย
“กระบวนการสรรหา” โดยหลักการมันย่อมดีกว่ากระบวนการแต่งตั้งและกระบวนการเลือกตั้งในบางมิติ แต่เมื่อมีการใช้วิธีการและรูปแบบที่ไม่สง่างาม ก็ทำลายความชอบธรรมของ ส.ว.ลงอย่างน่าเสียดายด้วยประการฉะนี้แหละสาธุชน