xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัย มรภ.สงขลา ต่อยอด “ปอเทือง” สู่ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
สตูล - ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ร่วมต่อยอด “ปอเทือง” สู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มชุมชนรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา เสริมความแข็งแกร่งฐานรากของชุมชน

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้นำผลิตภัณฑ์จาก “ปอเทือง” อย่างชาปอเทือง สบู่ แชมพู เสื้อ กระเป๋า หมวกที่ได้จากเส้นใยปอเทือง มาโชว์ในเวทีการยกระดับ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปอเทือง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มชุมชนรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีหมาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งได้ร่วมกับทาง สกสว. งานสนับสนุนทุนซึ่งเดิมชื่อ สกว. งานคณะกรรมการการวิจัย ซึ่งได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ทางมหาวิทยาลัย มาขับเคลื่อนเรื่องราวของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของชุมชนรำแดง พื้นที่ภายในโครงการซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในพระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

ฉะนั้น ทางมหาวิทยาลัยเองก็ได้นำทีมนักวิจัยลงไปศึกษาถึงพืชสำคัญ ที่ทางชุมชนได้นำเสนอถึงความสวยงาม และต้องการที่จะเชื่อมโยงเรื่องของการท่องเที่ยว แต่เราเองอยากจะให้เห็นว่าพืชดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ก็เลยให้นักวิจัยได้ศึกษาค้นคว้าดูจากตัวปอเทืองว่ามีสารอะไรอยู่บ้าง ตั้งแต่ในเฟสที่ 1 เมื่อปีที่ผ่านมา ก็เป็นกระบวนการภายในแล็บ เพื่อที่จะหาสารหรือสรรพคุณต่างๆ ก็พบว่าปอเทืองนี้มีสรรพคุณในการต้านสารอนุมูลอิสระ รวมทั้งตัวเส้นใยมีความแข็งแรงคงทน แล้วก็สามารถที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้
 

 
ต่อมา ในปีที่ 2 หรือเฟสที่ 2 ทางมหาวิทยาลัยเอง โดยคณะนักวิจัยพยายามที่จะพัฒนา product และดีไซน์ผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับอัตลักษณ์ของชุมชนรำแดง เพื่อที่จะยกตัวอย่าง ยกระดับให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว มุ่งเน้นสร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน รวมไปถึงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนรำแดง ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่พระราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

โดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจฐานรากเป็นส่วนสำคัญมากๆ จะเป็นฐานลำดับล่างที่จะส่งผลให้ประเทศชาติเข้มแข็ง มันต้องมาจากฐานของชุมชน เพราะว่าฐานคนส่วนใหญ่ของประเทศนั่นคือชุมชน ทรัพยากรส่วนใหญ่ชุมชนเป็นเจ้าของ เมื่อฐานรากเข้มแข็ง ก็จะส่งผลให้ประเทศเข้มแข็งไปด้วย ฉะนั้นทางราชภัฏเองได้ให้ความสำคัญในเชิงพื้นที่ ให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นอย่างมากที่จะร่วมเดินไปด้วยกันกับชุมชน ทั้งในพื้นที่ของ จ.สงขลา พัทลุง รวมถึงใน จ.สตูล และอีกหลายๆ พื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือได้ ก็พร้อมที่จะเดินเคียงคู่ไปกับชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน
 

 
ด้าน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผอ.ฝ่ายวิจัยมุ่งเป้า สกสว. กล่าวว่า สนับสนุนทุนวิจัยในพื้นที่รำแดง รวมทั้งทะเลสาบสงขลา ก็เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557-2558 เดิมทีก็ทำในมิติการท่องเที่ยว แล้วก็พยายามที่จะเชื่อมโยงให้เห็นวิถีวัฒนธรรมของชาวลุ่มน้ำ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 3 จังหวัด แล้วจะมุ่งเน้นในเรื่องของการเคลื่อนเรื่องการยกระดับรายได้ด้วย แล้วจะมีชุมชนต่างๆ เข้ามาร่วมกับทางนักวิจัย มันไม่ใช่เป็นลักษณะของงานวิจัยที่เป็นงานวิชาการอย่างเดียว แต่จะดึงภาคีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกสว. มองว่า การเคลื่อนงานในลักษณะแบบนี้มันเป็นต้นแบบที่ดี พยายามที่จะนำในเรื่องของการพัฒนาชุมชนในเรื่องของการท่องเที่ยว การเดินทาง การโยกย้ายของนักท่องเที่ยวที่เป็นโลจิสติกส์ เราเลยเอาทุนวิจัยมาอุดหนุนเสริมในชุดของการท่องเที่ยวโดยตรง เป็นชุดของ SMEs และโลจิสติกส์ ก็จะเห็นงานที่ออกมาเป็นรูปธรรม แล้วสามารถนำไปใช้ได้

อย่างเช่น จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดที่เป็นหนึ่งใน 55 เมืองรอง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างเยอะมาก เพราะจากกระบวนการวิจัย เรามีทีมนักวิจัยรายงานว่า มี ททท.ทั้งในส่วนของปาร์ค ของปารีสต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการในฝั่งของประเทศไทยด้วย ให้ความพยายามที่จะดำเนินงานต่างๆ ที่เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวในเชิงวิถีวัฒนธรรม นำไปเผยแพร่ในระดับโลก ทั้งงานของประเทศอังกฤษ และงานที่ประเทศเยอรมนี ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างมาก ถ้าวัดระดับรายได้แล้วของ จ.พัทลุง ขยับขึ้นมาเป็นลำดับ 3 ของ 55 จังหวัดที่เป็นเมืองรอง อันนี้ถือได้ว่าเป็นการวัดผลในเชิงประจักษ์ ทั้งพี่น้องชาวลุ่มน้ำกับท้องถิ่นด้วยมีการเข้ามาขับเคลื่อนในเรื่องของการทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี อันนี้เป็นแนวทางที่ทาง สกว.เดิมให้การหนุนเสริมอยู่ โดยฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ต้องขอบคุณทางภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของชุมชน ในส่วนของเจ้าของบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันขยับงานชิ้นนี้
 

 
ในอนาคตตามที่ได้เรียนในตอนต้นว่าเป็นกระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เราจะให้โอกาสแก่ภาคีแก่ชุมชน ในการที่จะเข้ามาเชื่อมโยงกับภาควิชาการ และของบประมาณไปดำเนินการ เรื่องของงานวิจัยได้โดยตรง ในขณะเดียวกัน เวลาทำงานไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยที่ลงไปยังชุมชน ถ้ามองในด้านของการตลาด เราพยายามที่จะเข้าไปเสริมในส่วนที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาแต่เราก็จะเน้นความยั่งยืน เน้นความเป็นวิถีเดิม

เนื่องจากว่าความเข้มแข็งของ สกว.เดิม มีโครงการชุด 1 ที่เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน เรียกว่าเป็นการเปิดเวทีชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเข้ามาเป็นนักวิจัย ซึ่งอยู่ในรอบลุ่มน้ำทะเลสาบ 3 จังหวัดค่อนข้างเข้มแข็งมาก ซึ่งเป็นโหนดของการวิจัยเพื่อชุมชน การวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ CBR เดิม อันนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่เสริมศักยภาพให้แก่ชุมชน ชาวบ้านมาเป็นนักวิจัยเลย แต่จะมีพี่เลี้ยงด้วย

เรามีกระบวนการพี่เลี้ยง หมายความว่าในส่วนที่จะเป็นโมเดล หรือในส่วนที่จะเป็นเมทโทรโลยี ระเบียบวิธีวิจัยต่างๆ จะขึ้นอยู่ทางฟากของพี่เลี้ยงที่จะเข้าไปช่วย แต่ไม่ได้ทำเพียว จะเป็นลักษณะของการปรับประยุกต์ให้เข้ากับแนวทางให้เข้ากับวิถี การพัฒนาของพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก อันนี้ถือเสมือนว่าไม่ได้ทำงานเป็นนักวิชาการ ที่จะเข้ามาแล้วไม่ได้รับฟังความคิดอะไรเลย แต่เป็นการทำงานร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน
 

 
ขั้นตอนในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ เราจะต้องของบประมาณแผ่นดินเข้ามาหนุนเสริม จะมีการพัฒนาโจทย์ร่วมกัน ต้องมาจากฐานความต้องการที่จะพัฒนาของชุมชนของพื้นที่เป็นหลัก เราจะไม่ได้ปล่อยโจทย์ในลักษณะที่เป็นความต้องการของนักวิจัย หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น จะเอาความต้องการความประสงค์ในการที่จะพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ในการทำให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืน

หรืออาจจะเป็นเรื่องติดขัด อันนี้ยกตัวอย่างทะเลน้อย ในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ ความปลอดภัยหรืออะไรต่างๆ เราจะเอาฐานความจำเป็นเร่งด่วนตรงนี้ จึงมาเติมเรื่องของกระบวนการวิจัย เพื่อให้งานวิชาการเข้าไปเป็นแกนในการที่จะเสนอยุทธศาสตร์เชิงนโยบายไปยังรัฐบาล งบประมาณก็จะกลับเข้าคืนมาในส่วนของพื้นที่

ในส่วนของงานวิจัยสามารถโยกย้ายไปยังพื้นที่อื่นได้เลย ไม่ต้องทำการวิจัยใหม่แล้ว เป็นลักษณะของการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะเอาต้นแบบที่ทำสำเร็จเอาไปขยายผลในพื้นที่อื่น ไม่ต้องเสียเวลาทำวิจัยต่อแล้ว แต่ว่านักวิจัยซึ่งตอนนี้อยู่ในมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก จะต้องเชิญพี่น้องชุมชนภาคีต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย จะได้ทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะว่าถ้าจบงานวิจัยแล้วชุมชนต้องสามารถอยู่เอง ทำเองได้ อันนี้เป็นเป้าประสงค์หลักอันหนึ่ง
 







กำลังโหลดความคิดเห็น