xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิต “พี่มาลี” จากอีสานบ้านนอกสู่กรุง เรื่องที่อยากให้ถึงหูตา "ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง”?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย... ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS1
 
พี่มาลี ลูกชาวนาจากอีสานที่ต้องทิ้งบ้านเกิดเข้ามาหางานในเมืองหลวง
 
มีโอกาสตื่นเช้าเพื่อติดรถไปให้ทันนัดหมายกับ อ.ปานเทพ พัวพงพันธ์ คณะบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะต้องเดินทางไปจังหวัดสุพรรณ ไปทำข่าวการเดินเพื่อผู้ป่วยและเพื่อให้กัญชาเป็นยารักษาโรคของ อ.เดชา ศิริภัทร
 .
นัดหมายกับ อ.ปานเทพว่าจะต้องเดินทางกันเช้า มีจุดนัดหมายกันที่ตึกฟอร์จูน ถนนรัชดาฯ

บริเวณตึกฟอร์จูนทาวน์ สำนักงานร้านค้าและห้างเปิดกันประมาณ10โมง ปิดทำการก็หนึ่งทุ่ม ตามมาตรฐานของร้านค้า สำนักงานธนาคารในตึกห้างใหญ่ๆ ผมเองไปถึงแปดโมง ร้านค้าและธนาคารยังไม่เปิดทำการ จากป้ายที่ติดประกาศคือ เปิดทำการ 10.00-19.00 น.
.
ก็แปลกใจว่าทำไมแม่บ้าน “พี่มาลี” ถึงมาถึงก่อนเวลา มานั่งที่พื้นอย่างเรียบร้อย กินอาหารเช้าอย่างที่เห็น 
 .
เราเองด้วยความสนใจในเรื่องราวชีวิตคนเล็กๆ ในสังคมเมืองหลวง ยามนี้อยากรู้ว่าเขามีชีวิตอย่างไร? คุณภาพชีวิตเป็นอยู่อย่างไร? มีเงินเหลือออมเหลือเก็บยามชราบ้างไม่? มีบ้านอยู่กันไหมหรือเช่าหอพักเพื่อดิ้นรนหา “เงินสด” กันในเมืองหลวง? ฯลฯ
 .
ระหว่างรอ อ.ปานเทพ ซึ่งยังไม่ถึงเวลานัดหมาย ผมก็ใช้เวลายามเช้าแบบนี้สนทนากับพี่มาลีเสียเลย!
 .
เหตุผลที่ต้องสนทนากับคุณพี่มาลีก็เพราะว่า พี่มาลีเขาช่างรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน กล่าวคือ ถึงที่ทำงานนั่งทานอาหารเช้าหน้าสาขาธนาคารที่พี่มาลีรับผิดชอบในฐานะแม่บ้านทำความสะอาด
 .
ผมเองแนะนำตัวเองว่าชื่อ ยุทธิยง มีอาชีพเป็นผู้สื่อข่าว ขออนุญาตสนทนาด้วยนะครับ พี่มาลีก็ไม่รังเกียจ
 .
อาหารจากอุตสาหกรรมที่ช่วยต่อชีวิตในแต่ละวันแบบวนไปวยมา
 
ธนาคารเปิดทำการประมาณ10โมง พี่มาลีถึงที่ทำงานเจ็ดโมงกว่าๆ ก่อนแปดโมง มาถึงที่ทำงานก่อนตั้ง 2 ชั่วโมง และนั่งหน้าสำนักงานด้วยความเรียบร้อยเพื่อกินอาหารเช้า มีน้ำเปล่าหนึ่งขวดประมาณ 10 บาท โจ๊ก (Cup Jok) อาหารระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่บรรจุกระป๋อง 18 บาท เพียงแค่เปิดฝากระป๋องเติมน้ำร้อนที่ร้านค้าเตรียมไว้ให้ก็เป็นโจ๊กให้ได้กินเป็นอาหารเช้า
 .
ผมเองซื้อโจ๊กให้ลูกในตลาดข้างบ้านยามเช้ากินไปโรงเรียนพร้อมไข่หนึ่งใบถุงละ 50 บาท
 .
แต่พี่มาลีกินโจ๊กอุตสาหกรรม 18 บาท ในถุงข้างตัวพี่มาลีบอกผมว่ามีขนมแซนวิชอุตสาหกรรมอีกหนึ่งชิ้น 12 บาท รวมแล้วค่าอาหารเช้าวันนี้ใช้จ่ายไป 50 บาท มื้อเที่ยงก็ประมาณนี้คือ 50 บาท ตกเย็นก็จะซื้อข้าวถุงแกงถุงกลับไปเป็นอาหารเย็นอีก 60 บาท เฉพาะค่ากินที่ต้องกินทุกวันเพื่อการหล่อเลี้ยงปะทังชีวิต 3 มื้อ 160 บาทต่อวัน
 .
จากบ้านเอื้ออาทร นั่งมอเตอร์ไซค์ในซอยอีก 10 บาท นั่งรถเมล์สองต่อ 20 บาทถึงที่ทำงาน ทั้งไปและกลับวันหนึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวม 60 บาทต่อวัน
 .
ค่าแรงที่ได้จากการทำงานวันหนึ่ง 325 บาท ได้พาะวันทำงาน ในหนึ่งวันที่ลืมตาขึ้นมาสู้ชีวิตพี่มาลีเหลือเงินสดเหลือในกระเป๋า 105 บาท
 .
ในแต่ละเดือนจ่ายค่าผ่อนบ้านเอื้ออาทร 3,500 บาท ค่าน้ำและค่าไฟ 1,300 บาท ค่าผงซักฟอก สบู่ แชมพู ฯลฯ ตกเดือนละ 300 ค่าโทรศัพท์มือถือ 450 บาท รวมรายจ่ายต่อเดือน 5,550 บาท
 .
หากคำนวณในแต่ละวันที่พี่มาลีเหลือเงินในกระเป๋า 105 บาท ให้พี่มาลีทำงานเดือนละ 30 วันแบบไม่ต้องหยุดกันเลย พี่มาลีจะเหลือเงิน 3,150 บาท
 .
เมื่อนำไปหักลบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ข้างต้นที่ 5,550 บาท นั่นแสดงว่าพี่มาลียังต้องติดลบอีกเดือนละ 2,400 บาท!
 .
ฮวก แขยง และพืชผักธรรมชาติที่ราคาแพงกว่าไก่ขาว หมูขุน
 
ชีวิตจริงของพี่มาลบีในหนึ่งวันหรือ 24 ชั่วโมง ออกจากบ้านตอนเช้าราว 6.30 น. นั่งมอเตอร์ 1 ต่อและนั่งรถเมล์สองต่อ ถึงที่ทำงานก่อน 08.00 น. หลังเลิกงาน 19.00 น. นั่งรถเมล์กลับบ้านแบบสุดแสนจะแออัดยัดเยียดถึงบ้านราว 21.00 น. ถึงบ้านจึงได้กินข้าวเย็นตอนสามทุ่มกว่า แล้วก็อาบน้ำอาบท่าพักผ่อนหลับตาข่มลงได้ราวเที่ยงคืน แล้วตื่นมาอีกเช้าวันหนึ่ง 06.00 น. เพื่อเตรียมตัวไปให้ถึงที่ทำงานก่อน 08.00 น.
 .
พี่มาลีเล่าว่า ในสัปดาห์หนึ่งๆ ยิ่งเป็นวันอาทิตย์ด้วยแล้วจะไม่หยุดเด็ดขาด เพราะจะได้ค่าแรงสองเท่า แต่ในหนึ่งเดือนพี่มาลีขอหยุดวันอาทิตย์ 1 หน จึงมีรายได้เพิ่ม 975 บาท จากจำนวน 3 หนของวันอาทิตย์
 .
ผมถามว่าทำไมไม่ทำครบสี่วันในหนึ่งเดือน พี่มาลีบอกว่าในหนึ่งเดือนขอหยุดหนึ่งวันเพื่อทำความสะอาดบ้าน ซักผ้า ถูบ้าน มีชีวิตที่เป็นวันหยุดจริงหนึ่งเดือนแค่หนึ่งวัน เพื่อให้ชีวิตได้พักบ้าง ทั้งจิตใจและร่างกาย
 .
แทบทุกเดือนเมื่อดูจากตัวเลขรายได้และค่ากินค่าอยู่ พี่มาลีต้องเป็นหนี้อย่างน้อย 1,425 บาท 
 .
พี่มาลีออกจากท้องทุ่งนา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี 2537 ด้วยเพราะดิ้นรนหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว พี่มาลีมีลูก 2 คน การศึกษาสูงสุดระดับ ม.3 ทั้งคู่และทำงานพึ่งตนเองได้แล้ว
 .
วิถีชีวิตประจำวันของพี่มาลีก็เป็นเช่นนี้ ผ่อนบ้านเอื้ออาทร ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ใช้บริการรถเมล์มาโดยตลอด ไม่ใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต เพราะไม่ชอบภาระการสร้างหนี้ ขณะเดียวกันก็รู้ศักยภาพแห่งตนว่า การหารายได้เสริมจากชีวิตช่างยากเย็นแสนเข็ญ ลำพังชีวิตเดินทางบนท้องถนนในเมืองหลวงเพื่อมาทำงานก็เอาเวลาของชีวิตไปหมดแล้ว 
 .
ปีหนึ่งมีวันหยุดรวมเบ็ดเสร็จ 12 วัน หรือเดือนหนึ่งขอหยุด 1 วันเท่านั้นเอง
 .
ความแออัดหน้่าแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐในเมืองหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยทำมาหาอยู่หากินในกรุงเทพฯ ภาพจากเฟซบุ๊ก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
 
ถามเรื่องสุขภาพว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง พี่มาลีบอกว่าก็น่าจะเหมือนกับคนอื่นๆ เขาแหละ ภาวะไขมัน เบาหวานก็มีครบ ไม่ขาดตกบกพร่องเหมือนคนไทยทั่วไป
 .
ก่อนจะลาจากกันด้วยเพราะถึงเวลานัดหมายกับ อ.ปานเทพ ผมขออนุญาตนำเรื่องราวที่ได้สนทนามาเล่าต่อ เพื่อสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนตัวเล็กๆ แต่เป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่สำหรับของสังคมไทย 
 .
ระหว่างนั่งมาในรถกับ อ.ปานเทพ ผมถามอาจารย์ว่า คนยากคนจนที่มีรายได้ไม่มาก พวกเขาต้องกินอาหารในระบบอุตสาหกรรม เพราะเป็นอาหารที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ สามารถหล่อเลี้ยงพยุงสังขารให้อิ่มท้องได้ในแต่ละวัน
 .
ถึงตรงนี้มีคำถามที่อยากจะถามกับท่านผู้อ่านและพี่น้องคนไทยว่า มันนานแค่ไหนแล้วที่มีพี่มาลีไม่ได้กินผักสดและผลไม้ เพื่อจะได้สารอาหาร ได้วิตามินแร่ธาตุ เพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บไม่ป่วย
 .
มันนานสักเท่าไหร่กันแล้วที่ของกินบ้านๆ แต่มากสารที่มีคุณค่าทางอาหารอย่างหมกฮวก ผักกระแยง แมงอีนูน ฯลฯ ไม่ได้สร้างความสุขเล็กๆ ให้กับวิถีชีวิตของคนบ้านนอกอย่างพี่มาลี
 .
ทั้งที่ในตำราเรียนหลักสูตรของเด็กนักเรียน ป.4 หรือในตำราที่สอนเด็กๆ ในโรงเรียนของลูกๆ บอกผมว่า มนุษย์เราควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน
 .
ความแออัดหน้่าแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐในเมืองหลวง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยทำมาหาอยู่หากินในกรุงเทพฯ ภาพจากเฟซบุ๊ก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
 
นี่คือชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องละทิ้งบ้านนอกมาอยู่หากินอยู่ในเมืองหลวง การจะมีอาหารประเภทพืชผักผลไม้กินครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการช่างยากลำบากเข้าไปทุกวัน!
 .
ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่เวลานี้เงินทองหาได้ยากยิ่งนัก ความเสื่อมทรุดของร่างกายคนเล็กคนน้อยก็คงได้รับผลกระทบกันไปอย่างแน่นอน
 .
เส้นทางสายการพัฒนาประเทศที่ถูกกุมบังเหียนโดย “ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง” สายนี้จะนำพาคนไทยไปสู่จุดหมายใดกันหนอ?!?!
  


กำลังโหลดความคิดเห็น