โดย… ศูนย์ข่าวภาคใต้
.
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางเวลานี้ เรื่องการหวนคืนบัลลังก์อำนาจสมัยที่ 2 ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยของ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่นเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว
.
แต่สำหรับ “MGR Online ภาคใต้” ถ้าจะไม่กล่าวถึงปรากฏการณ์ของ “พรรคประชาธิปัตย์” กับทิศทางแห่งอนาคตบนถนนการเมืองบนผืนแผ่นดินด้ามขวานทองของไทย ภายหลังการตัดสินใจครั้งใหญ่ให้ต้องหนุนบิ๊กตู่นั่งกุมบังเหียน “รัฐบาลเผด็จการประชาธิปไตย” ตามคำกล่าวของ ส.ว.อีกระลอกนั้น น่าจะถือเป็นความพลาดอันไม่น่าให้อภัยเลยทีเดียว
.
เหตุที่พรรคประชาธิปัตย์เคยได้สร้างปรากฏการณ์ทั้ง “ปชป.ฟีเวอร์” หรือ “ชวนฟีเวอร์” บนแผ่นดินปักษ์ใต้ ถึงขั้นมีคำกล่าวเล่าขานกันอย่างฝังใจว่า “พรรคของเรา คนของเรา” ต่อให้ส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก็จะได้รับชัยชนะ
.
.
แม้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 จะเกิดแลนด์สไลด์ อันส่งผลให้เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด พรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.เขตในภาคใต้เพียงแค่ 22 คน หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 50 คน แต่เมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่ได้รับทั้งประเทศ ก็ยังถือว่าภาคใต้ยังเป็น “ฐานที่มั่น” สำคัญอยู่ดี
.
เรื่องนี้คงต้องมองย้อนไปยลหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองบนแผ่นดินด้ามขวาน ไปดูอัตลักษณ์เฉพาะตัวของคนใต้กันก่อน
.
คนใต้มีลักษณะสังคมเป็นสังคมเครือญาติ ทั้งสืบสายเลือด การผูกดองและผูกเกลอกับคนนอกสายเลือด ลักษณะนิสัยและคตินิยมดั้งเดิมเป็นนักเลง เป็นคนมือใหญ่ใจกว้าง กล้าได้กล้าเสีย เสียนาไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ ทั้งยังมีคตินิยมต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐหรือระบอบราชการจะช่วยเหลือตนเองได้ จนเกิดคำขวัญในยุค “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” ที่ว่า “ไม่รบนาย ไม่หายจน” แต่ก็ไม่ถึงขั้นตัดขาดจากกรุงเทพฯ หรืออำนาจส่วนกลางเสียทีเดียว
.
ภาพของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตสำหรับคนใต้คือ “ฝ่ายค้านคุณภาพ” อาจเทียบได้กับภาพของการไม่ยอม “นาย” ภาพนี้เคยตราประทับลงใจคนใต้จำนวนมาก ถึงขั้น ส.ส.ของพรรคบางคนยังโดนข้อหา “คอมมิวนิสต์” ด้วยเหมือนกัน จนเกิดหนังสือเล่มดัง “เย็นลมป่า” ของ “นายหัวชวน-ชวน หลีกภัย” นักการเมืองเลือดสะตอผู้มากบารมี
.
ภาพของ “นาย” ในความรู้สึกของบรรดาเลือดสะตอเริ่มดีขึ้นก็ช่วงที่ “คนใต้” ได้มีโอกาสไต่เต้าจากชีวิตทางราชการทหารจนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ “ป๋าเปรม-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ผู้มีถิ่นกำหเนิดจากแผ่นดินสงขลา
.
.
นอกจากนี้ด้วยลักษณะของคนใต้ที่เป็นคนตื่นตัวทางการเมืองสูง ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีทัศนคติทางการเมืองที่ค่อนข้างทันสมัย ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่คนใต้ส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ดี เนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ด้ามขวานทอง ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุต่างๆ พืชผลทางการเกษตร และสัตว์น้ำหลากหลายในทะเล ทำให้คนใต้ส่วนใหญ่มีฐานะดี เมื่อเทียบกับคนไทยในภาคอื่นๆ
.
คนปักษ์ใต้จึงไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้อง อันเป็นเรื่องแรกๆ ในชีวิตที่คนเราต้องจัดการให้ได้เสียก่อนเรื่องอื่น เมื่อไม่ต้องมากังวลว่ามื้อหน้าจะกินอะไร พรุ่งนี้จะอดหรือไม่ จึงมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่าคนที่ต้องมาคิดเรื่องปากท้อง ซึ่งเรื่องที่คนใต้สนใจกันมากคือ การใฝ่หาความรู้ ชอบเรื่องกฎหมาย ทำให้คนใต้มีภาพลักษณ์ของผู้ทรงภูมิ พูดจาเก่ง บางครั้งอาจจะถูกมองว่าเป็น “พวกหัวหมอ” เอาเลยด้วย
.
ด้วยลักษณะเช่นนี้เมื่อคนใต้จาก “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ได้ขึ้นไปเป็น “นาย” ในตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ณ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” คนใต้หลายคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองที่เข้าสนับสนุนจึงได้ดิบได้ดี ได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งเสนาบดีไปตามๆ กัน
.
.
นั่นคือเมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทยเมื่อปี 2523 ก็นำคนใต้มารับตำแหน่งในรัฐบาลหลายคน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย “พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์” หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ก็ได้พ่วงเอาคนใต้ไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจำนวนมาก
.
อาทิ นายชวน หลีกภัย ได้ไปนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้นั่งในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหรือที่เรียกกันว่าโฆษกรัฐบาล นอกจากนั้นในภายหลังก็มีคนอื่นๆ เข้ามารับตำแหน่งร่วมด้วย
.
.
หากมองย้อนไปในในยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์เพิ่งผ่านพ้นความล้มเหลวในการเลือกตั้งเมื่อ 22 เม.ย.2522 ที่เหลือ ส.ส.แค่ 32 คน จากที่เคยมีสูงถึงกว่า 100 คน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ต้องพ่ายแพ้ให้แก่พรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช ที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นายไตรรงค์เองก็เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่สอบตกในครั้งนั้นด้วย
.
ครานั้นพรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.ใน กทม.เพียงหนึ่งเดียวคือ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ จากจำนวน ส.ส.กทม.ทั้งสิ้น 32 เขต ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้นต้องลาออกพร้อมบรรดากรรมการบริหารพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
.
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการยึดกุมฐานเสียงในภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อย้อนดูตัวเลขจำนวน ส.ส.นั้น สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งในปี 2522 แม้ว่าจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ส.ส.ลดวูบจากจำนวนกว่า 100 คน เหลือเพียง 32 คน แต่จำนวน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้กลับมีสัดส่วนที่ถือว่ามากคือ มีถึง 13 คน จากทั้งหมด 38 เขต ส่วนพรรคที่ครองคะแนนเสียงในภาคใต้ คือ พรรคกิจสังคม ที่ได้รับการเลือกตั้งในภาคใต้มา 17 คน
.
.
ชี้ให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มวางฐานทางการเมืองในภาคใต้มาบ้างแล้ว ในช่วงก่อนที่จะมาร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.เปรม ติณส฿ลานนท์ นอกเหนือไปจากในพื้นที่ กทม.ที่คะแนนความนิยมวูบวาบไปตามกระแส
.
เมื่อพิจารณาลึกลงไปในเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2522 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลป๋าเปรมช่วงนั้น ต่างมีฐานเสียงและเคยเป็น ส.ส.มาแล้วหลายคน ทั้งนายชวนผู้เป็น ส.ส.ตรังมาแล้ว 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2512, 2518 และ 2519 โดยเฉพาะในส่วนของ จ.ตรังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ครองเก้าอี้ ส.ส.ทั้งจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2500 แล้ว และอีกคนคือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็เป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานีมาแล้ว 2 สมัยตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งในการเลือกตั้ง 2522 ใน จ.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์กวาดชนะได้ทุกเขต ยกทีมพากันเข้าสภา นอกจากนี้ยังมี นายอำนวย สุวรรณคีรี พี่ชายของนายไตรรงค์ก็เป็น ส.ส.สงขลามาแล้วตั้งแต่ปี 2518 ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เริ่มบทบาททางการเมืองจนได้เป็น ส.ส.สุราษฎร์ธานีในปี 2522 ร่วมกับ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ และ นายมาโนชญ์ วิชัยกุล ที่ได้เป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช
.
ยังมีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่ปักธงในภาคใต้ได้ตั้งแต่ปี 2518 และได้รับเลือกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต่อมาจะวางมือ แต่ก็ยังส่งฐานคะแนนต่อไปยังผู้สืบทอดได้ ทั้งที่เป็นลูกหลาน หรือแม้แต่คนนอกตระกูลก็ตาม ทั้ง นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ บิดาของคุณหญิงสุพัตราที่เป็น ส.ส.มาตั้งแต่ปี 2512 นายสัมพันธ์ ทองสมัคร นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช นายไสว พัฒโน อดีต ส.ส.สงขลา บิดา นายไพร พัฒโน อดีต ส.ส.สงขลาเช่นกัน
.
.
หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลป๋าเปรม พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในฟากฝั่งรัฐบาลมาโดยตลอด ซึ่งทำให้แกนนำพรรคหลายคนเข้ามามีส่วนทำงานในฝ่ายบริหารมากขึ้น มีบารมีในพื้นที่มากขึ้น และก็ส่งผลต่อความนิยมในตัวพรรคและบุคคลของพรรคมากขึ้นด้วย
.
เหตุการณ์สำคัญที่ช่วยหนุนส่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นสู่จุดสูงสุดบนแผ่นดินด้ามขวาน ชนิดที่ใครหลายคนพูดแทบเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งเดียวเท่านั้นที่จะได้รับชัยชนะเช่นนี้ นั่นคือการเลือกตั้ง 2535/2 หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส. 79 คน โดยเฉพาะในภาคใต้กวาด ส.ส.ไปได้เกือบทั้งภาค
.
นั่นก็เพราะว่าในช่วงพฤษภาทมิฬนั้น พรรคประชาธิปัตย์ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรมและพรรคเอกภาพ ไม่สนับสนุนการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้ประกาศมาตลอดว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับมารับตำแหน่งด้วยเหตุผล “เสียสัตย์เพื่อชาติ”
.
จนสื่อมวลชนยุคนั้นเรียก 4 พรรคฝ่ายค้านที่รวมเอาพรรคประชาธิปัตย์ไว้ด้วยนี้ว่า “พรรคเทพ” และเรียกอีก 5 พรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.สุจินดาว่า “พรรคมาร”
.
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกคราครั้ง จากการที่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ซึ่งพื้นเพก็สายเลือดสะตอใต้แห่ง จ.สงขลา ตอนนั่งรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม แต่ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้ทำหน้าที่ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นชื่อของ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่แต่งชุดขาวพร้อมตั้งโต๊ะรอรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ อยู่ที่บ้าน
.
เมื่อนายอานันท์จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 13 ก.ย.2535 หรือที่เรียกกันว่า 2535/2 ในสนามเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ชูภาพ “นายหัวชวน” พร้อมสโลแกน “ลูกชาวบ้าน” พร้อมสร้างกระแส “นายกฯคนใต้” จึงทำให้ตีใจบรรดาพี่ป้าน้าอาและลูกหลานสะตอใต้ได้มากมาย
.
และต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่เคยได้ภาคภูมิใจมาแล้วกับนายกรัฐมนตรีคนใต้ที่ชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
.
.
ในสนามเลือกตั้งครั้งนั้นถือว่า “จุดติด” พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง กวาดที่นั่งเกือบทั้งหมดในภาคใต้ และนับจากนั้นมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ครองพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด ถึงขั้นที่มีคำพูดเป็นที่ติดหูกันสืบมาว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัคร คนใต้ก็เลือก”
.
เรื่องนี้ยืนยันได้จาก นายวีระ มุสิกพงศ์ ศิษย์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้งที่ จ.พัทลุง ในนามพรรคความหวังใหม่ ก็ยังยอมรับว่า “ผมแพ้เสาไฟฟ้ากับหลักกิโล”
.
ความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ของคนใต้ยังคงสูงมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้าในสนามเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ก็ยังไม่มีใครคาดคิดว่า เสาไฟฟ้าจะล้มระเนระนาดได้ขนาดนี้
.
หลายต่อหลายคนมองเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่นำมาสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ในสนามเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีการวิเคราะห์กันไว้แบบมองข้ามไปไม่ได้คือ เป็นเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเดินเกมผิด ประกาศก่อนการเลือกตั้งไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย ซึ่งทำให้ฐานเสียงจำนวนมากในภาคใต้ที่ “กลัวผีทักษิณ” เลือกที่จะไม่เทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ แต่หันไปให้พรรคพลังประชารัฐโดยตรง
.
อีกทั้งยังมีการมองกันว่า ในสนามเลือกตั้งครั้งล่าสุดจำนวนคะแนนเสียงที่คนใต้ยังกาเลือกพรรคประชาธิปัตย์นั้น ส่วนหนึ่งย่อมสนับสนุนจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ แต่หลังการเลือกตั้งผ่านพ้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์อยู่ภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กลับพลิกเกมไปประกาศเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและหนุนบิ๊กตู่กลับสู่บัลลังก์อำนาจ นั่นย่อมมีคำถามตามมาว่า
.
หากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว พรรคประชาธิปัตย์จะเหลือคะแนนเสียงอีกเท่าไหร่?!
.
เนื่องเพราะคนใต้ที่ยังรักและหลงไหล พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่กลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว ส่วนคนใต้ที่ยังสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ พวกเขาย่อมจะต้องทบทวนแล้วว่าในเมื่อพรรคไม่ทำตามที่สัญญาที่ให้ไว้ในช่วงเลือกตั้งหนนี้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรเล่าที่จะต้องมาสนับสนุนกันอีกต่อไป
.
ณ วันนี้การเดินเกมทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์กำลังเป็นที่จับตาแบบแทบไม่อยากกระพริบกันเลย จึงน่าเฝ้ารออย่างยิ่งว่า “อนาคต” ข้างหน้าของพรรคประชาธิปัตย์บนแผ่นดินด้ามขวานจะเป็นเช่นไร แน่นอนปรากฏการณ์ “ชวนฟีเวอร์” น่าจะล้าสมัยไปแล้ว แต่กับปรากฏการณ์ “พรรคของเรา คนของเรา” จะยังมีเหลืออยู่อีกหรือไม่?!
.
เป็นเรื่องที่น่าติดตามชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ควรกระพริบตานับแต่นี้เป็นต้นไป!!
.