xs
xsm
sm
md
lg

จับคนยากจนเข้าคุกสร้างบาดแผลให้แผ่นดิน! ขอถาม “กรมอุทยานฯ” ทำแบบนี้แล้วผืนป่าจะเพิ่มขึ้นไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา  /  โดย : ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟช่อง NEWS1
 
บรรยากาศการรับขวัญลูกสาวแม่ทองปั่น มีแต่สายสิญจ์กับน้ำตาเพื่อปลอบขวัญก่อนไปเรือนจำ ทำกับเขาแล้วผืนป่าจะเพิ่มขึ้นในอุทยานฯ ไหม?!
 
ตั้งใจว่าจะลืมเรื่องนี้ไปเสีย แต่มโนสำนึกบอกเราว่า คุณลืมมันลงได้หรือ? เพราะนี่คือประเทศไทย!
 .
มีคนยากคนจนถูกกฎหมายเล่นงานจริง ถูกจับกุมจริง ถูกดำเนินคดีจริง และถูกขังจริงอยู่ในเรือนจำจริงๆ ด้วย!
 .
แผ่นดินที่เรารัก แผ่นดินที่เรามีพี่น้องคนยากคนจนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เลยตั้งใจเขียนเรื่องนี้มาหารือกับ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” และเพื่อนร่วมแผ่นดินของเรา!!
 .
14 ชีวิตที่ถูกเอาไปขังเรือนจำ สมาชิกครอบครัวอีกจำนวนมากที่ร้าวราน ยิ่งยากจนข้นแค้นแสนเข็ญอย่างแสนสาหัส ลูกเล็กเด็กแดง ลูกหลานที่พ่อกับแม่พบชะตากรรมดังกล่าว ใครจะหุงข้าวแล้วให้เอาไปกินที่โรงเรียน ใครจะซักล้างชุดนักเรียนให้เขา
 .
ใครจะหุงข้าวให้พวกเขาอิ่มท้องในค่ำคืนที่ปวดร้าวเช่นนี้ ก่อนนอนใครจะนำสวดมนต์ในบ้านขนำเพิงพัก เพื่อให้พวกเขาได้มีศรัทธาและเกิดกำลังใจในชีวิตในประเทศที่รักยิ่งของเรา!
 .
ตามรายชื่อที่ได้รับมา 14 ชีวิต 19 คดี ในเบื้องต้นที่ถูกดำเนินคดีด้วยเพราะทำการเกษตร ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด ทำอยู่ทำกินในผืนดิน จ.ชัยภูมิ ก่อนที่จะมีการประกาศทางราชการทับที่ดินที่พวกเขาอยู่อาศัยกันมาก่อนไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี
 .
ปี 2535 ทางราชการเพิ่งมาประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ หรือเมื่อไม่นานมานี้เอง
 .
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 ชีวิตถูกคำพิพากษาลงโทษทั้งจำและปรับแทบทุกราย เท่าที่หาข้อมูลพบ ประกอบด้วย 
นางสุภาพร สีสุข ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 เดือน
นางสากล ประกิจ ศาลชั้นต้นจำคุก 6 ปี
นายวันชัย อาพรแก้ว ศาลชั้นต้นจำคุก 10 เดือน
นางพุธ สุขบงกช ศาลชั้นต้นจำคุก 10 เดือน
นางสุณี นาริน ศาลชั้นต้นจำคุก 10 เดือน
นางสีนวล พาสังข์ ศาลชั้นต้นจำคุก 8 เดือน
นายสมร สมจิตร ศาลชั้นต้นจำคุก 1 ปี
น.ส.นิตยา ม่วงกลาง ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 8 เดือน
นางทองปั่น ม่วงกลาง (แม่ของลูกสาวอีก 3 คนที่ถูกจับกุม) ศาลจำคุกรวมกันเกือบ 2 ปี
นายสมพิตร แท่นนอก ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 1 ปี
และ น.ส.สุวลี โพธิ์งาม ศาลชั้นต้นจำคุก 8 เดือน
เป็นต้น
 .
บรรยากาศการรับขวัญลูกสาวแม่ทองปั่น มีแต่สายสิญจ์กับน้ำตาเพื่อปลอบขวัญก่อนไปเรือนจำ ทำกับเขาแล้วผืนป่าจะเพิ่มขึ้นในอุทยานฯ ไหม?!
  .
เรื่องราวชีวิตของชาวบ้านคนยากคนจนในชุมชนซับหวาย ชุมชนซับสเลเต ชุมชนหนองผักแว่น ชุมชนซอกตะเคียน ชุมชนหินรู ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ
 .
วิถีชีวิตและประวัติการตั้งชุมชนหมู่บ้านของชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ต่างกับหมู่บ้านในภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคต่างๆ ของประเทศไทย
 .
พื้นที่บริเวณที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีก่อนนี้หลายสิบปี เป็นพื้นที่มีการสัมปทานทำไม้ เพื่อเปลี่ยนความมั่งคั่งจากต้นไม้ใหญ่เมื่อครั้งอดีตมาบำรุงชาติ มีการอนุญาตให้ตัดโค่นโดยราชการ เพื่อความเจริญของบ้านเมืองในยุคนั้น
 .
เมื่อต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นด้วยกำลังของนายทุนสัมปทาน พื้นที่เหล่านี้ก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นชุมชน เป็นพื้นที่ทำกิน ปลูกต้นไม้ปลูกสารพัด ปลูกขึ้นมาแทนที่ตามกาลเวลา สร้างบ้านแปลงเมืองกันขึ้นมา ทำนา ทำไร่ ปลูกมัน ปลูกสารพัดที่จะปลูกกันตามหัวใจที่ขยันขันแข็ง ไม่งอมืองอเท้า
 .
เพื่อสร้างสรรค์ประเทศด้วยมือของคนที่จับจอบ จับพร้า จับเสียม!
 .
ด้วยปัญหาที่อยู่ที่ทำกินมีปัญหา เพราะมีการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนไปบนผืนดินที่ชาวบ้านอาศัยมาก่อน สมัยรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ในช่วงปี 2534-2535 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมารองรับการอยู่อาศัยของชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาในที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาเหล่านี้ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ
 .
“ให้ชาวบ้านสามารถได้อาศัยในถิ่นฐานที่พวกเขาอยู่อาศัยกันมา และทางราชการได้ทำการขอขึ้นทะเบียน เพื่อเปิดโอกาสในการขอสำรวจ เพื่อทำการออกเอกสารทางราชการขึ้นมารองรับในสิทธิของการทำอยู่ทำกินในถิ่นฐานเดิม” 
 .
วันเวลาผ่านไปเอกสารที่ทางราชการทำการสำรวจเอาไว้ก็หายไป ซึ่งจะด้วยจุดประสงค์อะไรไม่ทราบได้!
 .
ทั้งนี้ ก็เพราะการจัดการสำรวจ การยื่นขออนุญาตเพื่อการได้สิทธิที่ดินทำกินชาวบ้านต้องยื่นต่อทางราชการอยู่แล้ว
 .
แม่สีนวล พาสังข์ (ซ้าย) กับ แม่ทองปั่น ม่วงกลาง (ขวา) ที่ถูกจำคุกร่วมกับลูกสาวอีก 3 คน บ่ายวันนี้ (4 มิ.ย.) เพื่อนบ้านจะไปส่งที่หน้าเรือนจำ
 
สำหรับ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ผมยังจำได้ว่านายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแถลงเรื่องนี้เอาไว้ว่า นโยบายนี้มิให้กระทบต่อคนยากคนจน ไม่เชื่อลองย้อนกลับไปดูข่าวจากไทยรัฐเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2560 อันนโยบายของรัฐบาลภาคใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 
 .
ในมาตรการทวงคืนผืนป่านั้น รัฐบาลจะดำเนินการเฉพาะกลุ่มของนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกพื้นที่ป่า
 .
“แต่สำหรับประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ รัฐบาลได้มีมาตรการให้ได้รับการผ่อนผัน ไม่มีการจับกุม ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และที่ 66/2557”
 .
ข้างต้นเป็นข้อความจากเว็บไซต์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2561
 .
คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย.2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย.2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านป้องกันและปราบปรามทรัพยากรป่าไม้ ดำเนินมาตรการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้ผ่อนผัน “ชาวบ้านผู้ยากไร้/ไร้ที่ทำกิน” สามารถอยู่อาศัยในเขตป่าและทำกินได้ต่อไปได้โดยไม่มีผลกระทบ
 .
จากข้อมูลที่ติดตามปัญหาที่ดินทำกินที่ทางราชการประกาศทับที่ชาวบ้าน เรื่องราวการจับกุมชาวบ้านนั้น คุณสมัคร ดอนนาปี ในฐานะอดีตเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกรมอุทยานฯ ที่ได้เคยบอกเล่าให้ผมฟังว่า
 .
“มีกระบวนการของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ (ซึ่งไม่ใช่ทหาร) ส่วนใหญ่แล้วแต่งชุดคล้ายกัน พร้อมอาวุธครบครัน มักจะลงไปในพื้นที่ นำกระดาษไปให้ชาวบ้าน คนยาก คนจนเซ็นในไร่ ในป่า โดยพูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า เซ็นไปก่อนนะ อยู่ๆ กันก่อนไม่จับกุม ให้ยอมรับว่าได้เข้ามาบุกรุกทำกินในเขตอุทยานฯ”
 .
“ในสภาวะเช่นนี้เจ้าหน้าที่อาวุธครบครัน ในป่าในดง ผมถามคุณยุทธิยง ว่า หากคุณยุทธิยงเป็นชาวบ้าน ในสภาวการณ์แบบนั้นคุณยุทธิยงจะทำอย่างไร”
 .
สภาพบ้านที่แร้นแค้นแสนเข็ญของนางสุณี นาริน ผู้ต้องหาที่ถูกจำคุกเช่นกัน
 
เหตุการณ์กับชาวบ้านที่ จ.ชัยภูมิ ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีได้สอบถามไปทางชาวบ้าน เชิญพวกเขาไปที่ทำเนียบรัฐบาลก็ได้นะครับ เพื่อให้ได้รับรู้ว่า
 .
มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เอากระดาษอะไรไปให้พวกเขาเซ็น เจ้าหน้าที่ที่ไปได้ให้ข้อมูลบอกกล่าวกับชาวบ้านว่าอย่างไร? ทำไมถึงมีการจับกุมชาวบ้านมากมายขนาดนี้อย่างน่าเวทนา!
 .
ขณะที่เรื่องราวปัญหาการจับกุมชาวบ้านที่ จ.ชัยภูมิ เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง มีการตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัด หลังจากที่ชาวบ้านมาร้องเรียนที่สำนักนายกรัฐมนตรี
 .
และพบความจริงในที่ประชุมจังหวัดว่า ด้วยความเข้าใจวิถีการทำอยู่ทำกิน การตั้งรกรากถิ่นฐานของชาวบ้าน มีความเห็นกันเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง คืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน
 .
คณะกรรมการในระดับจังหวัดพบข้อเท็จจริงว่า ชาวบ้าน 187 รายได้ทำอยู่ทำกิน ปลูกพืชผัก ปลูกต้นไม้ ทำสวน ทำไร่กันมาก่อน และเมื่อสำรวจตรวจสอบจากหลักฐานอื่นแล้ว ไม่มีการบุกรุกแผ้วถางเพิ่ม!
 .
มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมกลไกในระดับจังหวัดน่าจะช่วยยืนยันเรื่องนี้ในการพิจารณาคดีชั้นอัยการและชั้นศาลก่อน เพื่อจะได้ไม่ต้องจับกุมคุมขังในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในคำพิพากษาของศาล
 .
มีคำถามเกิดขึ้นว่า เอาชาวบ้านคนยากคนจนเหล่านี้ที่เขาทำมาหากินด้วยความสุจริต ใช้จอบเสียมสร้างสรรค์ยังชีพเลี้ยงดูครอบครัวก่อนที่อุทยานแห่งชาติจะประกาศทับที่ดินทำกินพวกเขา การทำหน้าที่เร่งรัดเร่งรีบฟ้องชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ 
 .
การกระทำเยี่ยงนี้ก่อกุศลอะไรให้แก่แผ่นดิน?
 .
สภาพบ้านที่แสดงถึงความยากแค้นแสนเข็ญของนางสุณี นาริน หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจำคุก
  .
มาตรการต่างๆ ที่หลงลืมชีวิตคน เอาคนยากคนจนเข้าเรือนจำ เอาไปขังคุกขังตะราง
 .
ต้นไม้ในอุทยานฯ จะงอกงามเพิ่มขึ้นมา แล้วเริงร่าท่ามกลางความทุกข์เวทนาหรือ!
 .
เส้นทางการเพิ่มป่าแบบนี้ ถามหัวใจทุกคนในแผ่นดินว่า มีหนทางเลือกที่เป็นกุศลกว่านี้หรือไม่ครับ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ที่นับถือ!
 .
.  
หมายเหตุ ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก ดร.เฟียต, คุณอรนุช ผลภิญโญ และพี่สุรชา บุญเปี่ยม
 


กำลังโหลดความคิดเห็น