xs
xsm
sm
md
lg

จักสาน “ต้นคลุ้ม” สุดคุ้ม! ต่อยอดจากฝาชีตะกร้าสู่โคมไฟฟอสซิล หนึ่งในเส้นทางจีโอปาร์ค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
สตูล - กลุ่มต้นคลุ้มจักสานบ้านวังตง ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล รวมกลุ่มหาซื้อ “ต้นคลุ้ม” นำต่อยอดจากฝาชีตะกร้าสู่โคมไฟฟอสซิล หนึ่งในเส้นทางจีโอปาร์ค พร้อมเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้

วันนี้ (4 มิ.ย.) พาไปดูการจักสานต้นคลุ้ม ที่มีลักษณะคล้ายต้นข่าที่เป็นกอๆ ที่กลุ่มต้นคลุ้มจักสานบ้านวังตง หมู่ 4 ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล โดยกลุ่มนี้มีประธานชื่อ นางอรุณี เกาะกลาง ประธานกลุ่มต้นคลุ้มจักสานบ้านวังตง ซึ่งที่นี่มีแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร โดยเอาต้นคลุ้มที่ขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าเขา และที่ปลูกเองก็มี ซึ่งเป็นพืชที่หายาก ปัจจุบันนี้ต้องรับซื้อต้นคลุ้มจากที่อื่นมา

โดยต้นคลุ้มที่พร้อมนำมาสาน จะสังเกตลักษณะของต้นคลุ้ม โดยจะดูที่ลำต้นต้องมีใบที่แตกเป็นสามยอด สาเหตุเพราะต้นคลุ้มเมื่อแตกยอดเป็นสามแฉก หมายถึงลำต้นดูแก่เหมาะแก่การตัด โดยตัดที่โคนใกล้ราก จากนั้นก็นำมาขูดเปลือกสีเขียวด้านนอกออกให้เป็นสีน้ำตาล ขั้นตอนต่อไปก็ผ่าลงตรงลำปล้อง โดยผ่าเป็น 4 ซีกเอาไส้ด้านในออก และก็เหลาเป็นเส้นเล็กๆ ให้เรียวเล็กลง จากนั้นก็ทำแบบโครงไว้ โดยขึ้นโครงด้วยหวายใหญ่ จักสานด้วยต้นคลุ้มสลับไปมาจนได้รูปร่างที่สวยงาม ผสมผสานใส่ลวดลายต่างๆ มีลายขัด และบริเวณขอบจะเป็นลายฉัตร
 

 
นางอรุณี เกาะกลาง ประธานกลุ่มต้นคลุ้มจักสานบ้านวังตง กล่าวว่า ส่วนราคานั้นเราขายอยู่ที่ขั้นต่ำตั้งแต่ 100 บาท จนสูงสุด 5,000 บาท มีฝาชีหลายขนาด มีแบบรุ่นจิ๋ว รุ่นเล็ก สู่ขนาดใหญ่ 200-3,000 บาท ส่วนตะกร้าจะผลิตหลายขนาด มีตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาทเช่นกัน แต่ที่โดดเด่น คือ โคมไฟที่จักสานด้วยต้นคลุ้ม ราคาสูงถึง 5,000 บาท เราส่งขายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ ไปโชว์ตามสถานที่ราชการ ปัจจุบันนี้ถือว่าสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้มีเงินจากการทำจักสานต้นคลุ้ม ซึ่งมีสมาชิกถึง 60 คน ทุกคนจะรับผิดชอบแต่ละฝ่าย มีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาทเลยทีเดียว อีกทั้งทางกลุ่มฯ จะรับซื้อต้นคลุ้มในราคาต้นละ 10 บาท สั่งได้ตามเบอร์นี้เลย 09-1315-1142 และ 06-2654-0788 หรือติดต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก “อรุณี เกาะกลาง”

ด้าน นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายก อบต.นาทอน กล่าวว่า ทาง อบต.เองสนับสนุนด้านการตลาด ช่วยหาตลาดให้ในหลายจังหวัด และพาออกงานด้วย ปัจจุบันนี้กลายเป็นสินค้าของฝากของ จ.สตูล ไปแล้ว โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีการต่อยอดเพิ่มลวดลายฟอสซิล หอย ปลาหมึก กลายเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจีโอปาร์ค อีกทั้งทางกลุ่มนี้ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ และมีนักท่องเที่ยวมาดูงานมากมาย
 





กำลังโหลดความคิดเห็น