xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ควรจะดับได้ในชาตินี้หรือชาติหน้า? ถ้ามองเหตุรุนแรงเดือนรอมฎอนและงบแสนล้านช่วง 15 ปีที่ถมลงไปเป็นเรื่อง “ปกติ”!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
 
ความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นห้วง “รอมฎอน” นั่นถือเป็นสถานการณ์ “ปกติ” ซึ่งรับรู้กันมาเป็นเวลาถึง 15 ปี ดังนั้น สำหรับคนในพื้นที่จึงไม่ได้รู้สึก “ตระหนก” หรือ “ตกใจ” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคนที่นี่ “ชินชา” กับเสียงปืน เสียงระเบิด และเรื่องราวความสูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง
 
เพียงแต่คนในพื้นที่ต้องการรู้ว่า “หน่วยงานความมั่นคง” ที่รับผิดชอบต่อปัญหาความไม่สงบ มีนโยบายอย่างไรที่จะ “ดับไฟใต้” ให้ได้ผล
 
เนื่องเพราะที่ผ่านมามีการใช้ทั้ง “ยุทธวิธี” และ “ยุทธการ” ในหลายรูปแบบจากการกำหนดให้โดย “แม่ทัพ” หลายๆ ท่านที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาต่างก็ไม่เป็นมรรคเป็นผล แม้ก่อนที่จะรับตำแหน่งต่างก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงนโยบายในการดับไฟใต้อย่างมั่นอกมั่นใจ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เคยทำได้อย่างที่พูด
 
หลายแม่ทัพพ้นตำแหน่งต่างได้ “บำเหน็จ” ขึ้นเป็น “นายพลเอก” หลายท่าน “มีทรัพย์สินนับร้อยล้าน” แต่สถานการณ์ไฟใต้ก็ยังดำรงอยู่ และยังคงมีความรุนแรงต่อไปแบบไม่สร่างซา
 
ในห้วงเดือนรอมฎอนปีนี้ผู้คนในพื้นที่ที่รับรู้ข่าวสารจาก “ท่านโฆษก” ของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ว่าแม่ทัพมีการส่งกำลัง “ชุดปฏิบัติการ (ชป.)” ถึงจำนวน 735 ชุดลงลุยพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพื่อป้องกันเหตุร้าย เพราะรู้กันล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็น “เดือนแห่งความตาย” ของเจ้าหน้าที่รัฐและคนในพื้นที่
 
รวมทั้งมีการจัดชุด “ชป.จรยุทธ์” เพื่อตรวจค้น ปิดล้อมและไล่ล่าเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งมีการประกาศใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในพื้นที่
 
อันส่งผลให้คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยแอบดีใจลึกๆ ที่แม่ทัพให้ความสนใจกับเรื่องของ “บีอาร์เอ็นฯ” แทนที่จะ “โชว์เพา” ในเรื่องของการแก้ปัญหา “ยาเสพติด” เพียงอย่างเดียว จึงมีการคาดหวังว่าเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุร้ายแบบแรงๆ น่าจะป้องกันได้
 
แต่เอาเข้าจริงๆ ระเบิดแสวงเครื่องที่จุดตรวจ ชรบ.ที่หน้าสถานีรถไฟ อ.จะนะ จ.สงขลา กับ จยย.บอมบ์ที่ตลาดนัดเขาตูม อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ปลิดชีพทหารพราน 2 นาย และเหตุการณ์ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส รวมถึงการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับ “แนวร่วม” ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา กลายเป็นสถานการณ์ที่ “ทำลายความเชื่อมั่น” ดังกล่าวไปในที่สุด
 
ระเบิดแสวงเครื่องที่จุดตรวจ ชรบ.ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แน่นอนทุกคนย่อมเสียใจกับครอบครัวของผู้สูญเสีย แต่ระเบิดลูกนั้นก็ทำให้เห็นประเด็นของปัญหา 2 ประเด็นด้วยกันคือ
 
ประเด็นแรกการวางกำลังในจุดตรวจป้อมยามยังมี “ช่องโหว่” เช่น ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำจนทำให้ “โจรใต้” หรือแนวร่วมสามารถเอาระเบิดแสวงเครื่องไปใส่ในบังเกอร์ ทำให้สามารถก่อเหตุร้ายเป็นผลสำเร็จ และประเด็นนี้ควรจะเป็น “บทเรียน” ของจุดตรวจและป้อมยามแห่งอื่นๆ ที่จะต้องมีการปรับปรุงการเข้าเวรยามเสียใหม่
 
ประเด็นต่อมา ณ ขณะนี้ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ “พื้นที่ไม่ปลอดภัย” ยิ่งนานวันยิ่งกลายเป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะและซ่องสุมกำลัง สังเกตให้ดีจะพบว่าแนวร่วมที่ถูกจับกุมหรือถูกวิสามัญจากที่ก่อเหตุในหลายพื้นที่ ทั้งใน จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา ต่างมีพื้นเพเป็นคนใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา และโดยเฉพาะ อ.สะบ้าย้อย กับ อ.เทพา
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุการณ์ “ฆ่าหมู่นักฟุตบอล” จำนวน 13 ศพ ที่ อ.สะบ้าย้อย เมื่อปี 2547 ยังถือเป็น “เชื้อไฟ” หลักที่ยังถูกจุดอยู่ในใจของผู้คนจนลุกโชน แถมยังพร้อมลุกลามออกไปได้กว้างขวางอย่างไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับเหตุการณ์  “ตากใบทมิฬ” ที่กระบวนการขนส่งผู้ชุมนุมทำให้มีคนตายราว 80 คน จนกลายเป็นประเด็นของการถูกยกขึ้นมาเป็น “เงื่อนไข” ของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 
ทั้งที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปมากมายในการ “เยียวยา” เพื่อยุติเรื่องราวการฟ้องร้องในข้อกฎหมาย แต่สุดท้ายเงินที่ใช้เยียวยาก็ “สูญเปล่า” เพราะไม่สามารถใช้เงินเพื่อ “ดับไฟแค้น” ในใจของผู้คนทั้งที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบ
 
คำถามคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีนโยบายอย่างไรกับพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่นับวันสถานการณ์ยิ่งมีความเลวร้ายลง นโยบาย ม.21 ที่เคยประกาศใช้ใน 4 อำเภอนี้นั้น วันนี้กลายเป็น “ยาหมดอายุ” ที่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
 
อีกทั้งนโยบายที่จะให้ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี เป็น “พื้นที่กันชน” เพื่อป้องกันการก่อเหตุให้แก่ อ.หาดใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ของ จ.สงขลา นั่นจะยังสามารถคงนโยบายนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะพินิจพิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าวแล้ว ต้องบอกว่า “น่าเป็นห่วง” ยิ่งนัก
 
เช่นเดียวกับ “จยย.บอมบ์” ที่ตลาดนัดเขาตูม อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งไม่ต่างจาก “คาร์บอมบ์” ในชุมชนหลายแห่งที่แม้ว่าเป้าหมายคือ “เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่สุดท้าย “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ก็กลายเป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งอีกทางหนึ่งรัฐสามารถ “ไอโอ” ได้ว่าโจรใต้หรือแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็น “มุสลิม” ซึ่งจะทำให้มวลชนในพื้นที่ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนบีอาร์เอ็นฯ ได้อีกต่อไป
 
แต่ก็คาดหวังไม่ได้มากนัก เพราะเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่บีอาร์เอ็นฯ ก็ยังคงอยู่และยังก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยที่มวลชนส่วนหนึ่งยังให้การสนับสนุน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผู้สูญเสียและครอบครัว รวมถึงคนทั่วไปที่เป็นมุสลิมเชื่อว่า “ความเป็น-ความตาย” ของผู้คนเหล่านั้นล้วนแต่เป็น “พระเจ้า” ได้กำหนดมาแล้ว
 
เพราะฟังจากน้ำเสียงของมวลชนที่ยังสนับสนุน มุ่งหวังเพียงให้บีอาร์เอ็นฯ ออกมา “ขอโทษ” ที่ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้มวลชนที่เป็นมุสลิมต้อง “ถูกลูกหลง” ก็เพียงพอแล้ว
 
ดังนั้น การที่ กอ.รมน.ต้อง “สูญเงิน” ในการ “จัดตั้งมวลชน” เพื่อให้ออกมา “ชูป้าย” ต่อต้านความรุนแรง และให้ “ผู้นำศาสนา” รวมตัวกันเพื่อ “ขอดุอาร์” ให้เกิดสันติสุข น่าจะเป็นการ “สูญเปล่า” ทั้งงบประมาณ ทั้งเวลา เพราะวิธีการนี้ทำมาแล้วหลายปี แต่สถานการณ์ยังเหมือนเดิม
 
ประเด็นต่อไปคือ เรื่องการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับโจรใต้หรือแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ที่บ้านกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ที่นอกจากแนวร่วมจะเสียชีวิต 1 ศพ และบ้านเรือนที่แนวร่วมใช้ในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ถูกไฟไหม้ เสียหายแล้ว
 
จะสังเกตได้ว่าฝ่ายตรงข้ามใช้ความรวดเร็วในการไอโอ ตั้งแต่ไฟยังไม่ดับ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญแนวร่วม 5 ราย และจุดไฟเผาบ้านประชาชน
 
ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลับต้องตั้งหลักด้วยการใช้เวลายาวนาน ก่อนที่จะแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริง ซึ่งมวลชนเชื่อการไอโอของฝ่ายตรงข้ามไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกินเหตุ โดยพาะในการใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ถึง 7-8 ลูกกับเป้าหมาย
 
เพราะประชาชนที่เสพสื่อและยอมรับการไอโอจากบีอาร์เอ็นฯ ย่อมไม่ได้เห็นข้อเท็จจริงของการปิดล้อม ไม่รู้ว่ามีคนร้าย 5 คนที่ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ มีการใช้ผู้นำศาสนาเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวก่อนที่จะถูกวิสามัญ แต่มวลชนมองประเด็นของการใช้ลูกระเบิดเอ็ม 79 ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นด้านหลักว่า “เป็นการทำเกินเหตุ” เพราะเข้าใจว่าคนร้ายมี 1 คน ในขณะที่เจ้าหน้าที่มีถึง 50 คนที่ปฏิบัติการล้อมจับ
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้คงต้องถกกันด้วยเหตุและผลว่า การเข้าล้อมจับคนร้ายในชุมชนเช่นนี้ มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะในการใช้เครื่องยิงระเบิด อันเหมือนกับการต่อสู้กับ “กลุ่มฮารีเมา” บนภูเขา และคุ้มหรือไม่กับการใช้กำลังและอาวุธจำนวนมาก แต่ได้คนร้ายแค่ 1 ศพ และปล่อยให้คนร้ายที่เหลือลอยนวล แถมเจ้าหน้าที่ถูกยังสะเก็ดระเบิดของพวกเดียวกันจนบาดเจ็บไปด้วย
 
ประเด็นต่อมา เมื่อแม่ทัพประกาศที่จะใช้กฎหมายด้วยความเข้มข้นกับผู้ทำความผิด ต้องถามว่าจะปฏิบัติต่อ “เจ้าของบ้าน” ผู้ให้ที่พักพิงกับคนร้ายอย่างไร เพราะแนวร่วมที่เสียชีวิตเป็นแค่ “หลาน” ของเจ้าของบ้านที่นำแนวร่วมมาหลบอยู่ในบ้านเพื่อวางแผนก่อเหตุร้ายในพื้นที่ ถ้าเจ้าของบ้านเพียงถูกนำตัวไปสอบสวนและปล่อยไปโดยไม่มีความผิด และคำว่าจะใช้กฎหมายในการจัดการกับผู้ก่อไฟใต้อย่างจริงจังได้อย่างไร และประชาชนจะเชื่อนโยบายที่ประกาศได้หรือไม่
 
รวมทั้งเมื่อเจ้าของบ้านเป็นผู้ยินยอมให้ที่พักพิงแก่แนวร่วม การจ่ายค่าเยียวยาในกรณีไฟไหม้บ้านจะจ่ายได้หรือไม่ หากมีการเยียวยาให้แก่คนที่ทำผิดกฎหมายเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ และถ้ามีการเยียวยาให้แก่คนผิดในกรณีนี้ ถามว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งที่ประกาศใช้จะไม่เป็นเพียง “ลมปาก” ที่ไม่มีผลทางปฏิบัติหรอกหรือ ซึ่งสุดท้ายถ้าทำไม่ได้นั่นคือ “ความล้มเหลว” ของการบังคับใช้กฎหมายนั่นเอง
 
สถานการณ์ไฟใต้ ณ วันนี้ในฟากฝั่งของบีอาร์เอ็นฯ คือการใช้แนวร่วมในพื้นที่เพื่อ “หล่อเลี้ยง” ความรุนแรง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ “แกนนำ” หรือ “คนกลุ่มหนึ่ง” ดูแลขุมทรัพย์ 4,000 กว่าล้านเพื่อการเสวยสุข ท่ามกลางความสูญเสียของมวลชนในพื้นที่
 
นั่นก็ไม่ต่างจากหน่วยงานความมั่นคงที่ใช้ความรุนแรง เพื่อต้องการเอาชนะบีอาร์เอ็นฯ แต่สุดท้ายกลับเป็นว่านโยบายที่นำมาใช้กลายเป็นเรื่องของการ “หล่อเลี้ยงไฟใต้” เพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นชัดเจนคือ “งบประมาณ” ที่ใช้ดับไฟใต้ ซึ่งถูกใช้ไปแล้วกว่า 100,000 ล้านในรอบ 15 ปี
 
แล้วยังจะต้อง “สิ้นเปลือง” อีกเท่าไหร่กว่า “ไฟใต้จะมอดดับ” ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่า จะเป็นใน “ชาตินี้” หรือ “ชาติหน้า” ตอบบ่ายๆ นั่นเอง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น