โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
.
“ครูผู้มีส่วนสำคัญสำหรับชีวิตผม ทำให้ ‘ผมเป็นผม’ จนถึงทุกวันนี้”
.
นี่คือส่วนหนึ่งจากคำนิยมที่เขียนโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในหนังสือ “ครูเคล้า คชาฉัตร ครูของรัฐบุรุษ” เขียนโดย “ถนอม ขุนเพ็ชร์”
.
พล.อ.เปรมเขียนไว้อีกว่า รักครูเคล้ามาก ครูเคล้าเป็นทั้ง “ครู” และ “พ่อผม” ในเวลาเดียวกัน
.
“ครูเคล้า คชาฉัตร เกิดมาเพื่อเป็นครูโดยแท้ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความเป็นครูอาชีพ มีความรักศิษย์เป็นแรงบันดาลใจ"
.
ครูเคล้าเป็นใครมาจากไหน เหตุใด พล.อ.เปรมจึงรักและให้ความเคารพมากถึงเพียงนี้ และครูเคล้ามีวิธีการสอนอย่างไร พล.อ.เปรมจึงยกย่องว่า เป็นครูที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ พล.อ.เปรมเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้
.
.
“ถนอม ขุนเพ็ชร์” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ บอกเล่าเรื่องราวของ “ครูเคล้า” ไว้อย่างน่าสนใจ เขาเล่าท้ายความถึงประวัติของครูเคล้าว่า
.
ครูเคล้า เป็นแค่ครูบ้านอกธรรมดาๆ คนหนึ่ง ของโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
.
เกิดเมื่อ 15 ต.ค. 2447 ที่บ้านบ่อพลับ ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ในครอบครัว ที่มีอาชีพขายพืชผัก เล็กๆน้อยๆ มีประวัติของการเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน มาตั้งแต่เด็ก
.
ปี 2463 ครูเคล้าเข้าเรียนต่อระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนมหาวชิราวุธ สมัยนั้นเป็นโรงเรียนชายล้วน เปิดสอนในแบบ ประถม 1-3 ต่อด้วย มัธยม 1-6 หรือถึง มัธยม 8 ต่างจากทุกวันนี้ จบ ม.6 สมัยก่อน จึงเทียบกับ ม.3 สมัยนี้ ในเชิงอายุของเด็ก ตอนเรียน มัธยม 4-5 ครูเคล้าอบรมหลักสูตรวิชาชีพครู และรับราชการเป็นครูครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2468
.
.
ครูเคล้าเป็นครูที่ดี พูดเก่ง สอนสนุก นักเรียนไม่เบื่อ ด้วยมุกตลกฉบับครูเคล้ากับนักเรียนชายล้วนทำให้นักเรียน ห้องเรียนครูเคล้าหัวเราะเสียงดังชั่วโมงละ 60 ครั้ง จนครูที่บุคลิกสงบเสงี่ยมต้องขอย้ายห้องไปสอนไกล ๆ เพราะสู้เสียงหัวเราะเด็กห้องครูเคล้า ที่หัวเราะกันอยู่ตลอดไม่ได้
.
ตำนานครูเคล้า โดยเฉพาะ “มุกตลก” ไม่เฉพาะเด็กนักเรียนมหาวชิราวุธ ที่รับรู้เท่านั้น แต่ครูทั่วไป ตลอดจนชาวเมืองสงขลายังรู้จักครูเคล้าและเล่าเรื่องตลกอันมีสีสันของครูเคล้าสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ครูเคล้า จึงเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกกล่าวขานข้ามยุคสมัย
.
ครูเคล้าเสียชีวิต เมษายน 2505 อายุ 58 ปี
.
.
“ถนอม” ยังย้ำว่า ครูเคล้าเป็นครู ที่มีความคิดล้ำยุคมาก่อนกาล เป็นครู ที่ใช้วิธีคิดแบบเล่นและเรียนรู้ไปอย่างเกิดประสิทธิภาพ และเป็นครูที่เต็มไปด้วยมุขตลก เป็นเครื่องมือสำคัญ
.
อย่าว่าแต่ในห้องเรียน วันไหน ที่ครูเคล้า เป็นครูเวรพูดหน้าเสาธงตอนเช้า เด็กทุกคนจะต้องรีบมาโรงเรียน เพื่อฟังครูเคล้าพูด
.
ตอนเย็น ครูเคล้ายอมจูงจักรยานเดินกลับบ้าน เพราะเด็กขอเดินตามไปส่งที่บ้าน ระหว่างทาง ครูเคล้าจะเดินเล่านิทานไปด้วย และสนิทสนมกับเด็กเหมือนลูก
.
ครูเคล้ามีความสามารถรอบด้าน เป็นนักแต่งบทละคร นักแสดง นักโต้วาที แต่งเพลงแต่งกลอน อารมณ์ดีตลอดเวลา พูดคุยสนุก จึงเป็นครูที่ศิษย์ประทับใจมากที่สุด
.
.
กระทั่งปี 2469 เมื่อ ด.ช.เปรม อายุ 6 ขวบ ได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้หมายเลขประจำตัว 167
.
ด.ช.เปรม เป็นนักเรียนที่ได้รับเกียรติบัตร นักเรียน หมั่นเรียน เรียนดี ไม่เคยมาสาย ไม่เคยลาหยุดตลอดเวลา 10 ปีตามระบบการศึกษาในยุคนั้น มีความรักความผูกพันกับโรงเรียนและคณาจารย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูเคล้า คชาฉัตร ตามที่ได้เล่าเอาไว้ว่า
.
“..พูดถึงครูเคล้า เป็นครูที่ผมประทับใจ อันที่จริงครูทุกคนมีบุญคุณกับผมมาก ทุกคนให้ความเมตตา เอาใจใส่การศึกษาของผมเป็นอย่างดี แต่สำหรับครูเคล้า ผมเรียนกับท่านหลายปี และท่านก็รักผมมาก ให้ความสนใจ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ดูแลกวดขันเป็นอย่างดี อาจจะเป็นเพราะว่าผมเป็นเด็กตัวเล็กๆ เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้ เวลาที่ผมไปสงขลา เจอเพื่อนเก่า มักจะคุยถึงเรื่องครูเคล้า หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะดีใจมากที่เห็นผมอยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าครูคนอื่นไม่ดีนะ ครูในสมัยนั้นล้วนแต่เป็นครูที่ดี แม้ไม่ค่อยมีวุฒิสูง เรียนจบทางครูมาบ้าง จบมัธยมฯที่ 8 แล้วมาสอนบ้าง โดยความคิดส่วนตัวของผม ครูเหล่านั้นสอนได้ดีมาก ไม่มีปัญหาเลย แสดงว่าครูมีความสามารถในการสอนดีมาก สมัยก่อนครูประจำชั้นสอนทุกวิชา ยกเว้นวิชาวาดเขียนกับพลศึกษา...”
.
.
พล.อ.เปรมชื่นชมครูเคล้าจากครูสอนหนังสือเก่ง ลายมือสวย เต็มเปี่ยมด้วยลักษณะผู้นำ มีอารมณ์ขัน ทำให้นักเรียนหัวเราะได้ทั้งวัน ครูเคล้ายังมีความสามารถทางด้านโต้วาที การกำกับละครเวที และศิลปวัฒนธรรม ทางภาคใต้อย่างโนรา หนังตะลุง
.
ก่อนปิดภาคเรียน โรงเรียนมหาวชิราวุธสมัยนั้น จะจัดกิจกรรมการแสดงละคร ประจำปี เชิญผู้ปกครอง และแขกผู้มีเกียรติ มาร่วมงานคับคั่ง โดยละคร ครูเคล้าจะเป็นคนเขียนทบ กำกับการแสดง และคัดเลือกตัวแสดง
.
“การจัดแสดงละครของครูเคล้า ได้รับความสนใจจากนนักเรียน และผู้ปกครอง เป็นอย่างมาก ผมเคยแสดงเป็นตัวประกอบ” พล.อ.เปรมเล่า
.
.
ภาพประทับใจของนักเรียนมหาวชิราวุธยุคนั้น ที่มีต่อครูเคล้า ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับครูเคล้าในฐานะครูผู้กำกับลูกเสือที่มีวีรกรรมโหด มัน ฮา จนเลื่องลือ
.
เมื่อครั้ง พล.อ.เปรมเป็นนายหมู่ลูกเสือตรี ครูเคล้าพาลูกเสือไปออกค่ายพักแรม เล่นรอบกองไฟ ว่ายน้ำและทำกิจกรรมอื่นๆ พล.อ.เปรมได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “การว่ายน้ำเป็นวิชาของลูกเสือโท ซึ่งผมเป็นลูกเสือตรีอยู่ในเวลานั้นต้องสอบให้ผ่าน แต่ผมว่ายน้ำไม่ค่อยเป็น ครูเคล้าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำจนผมสอบผ่านวิชาว่ายน้ำได้ ครูเคล้าสอนง่าย ฟังเข้าใจ ไม่ซับซ้อน ปฏิบัติตามได้โดยง่าย”
.
“ครูเคล้าไม่ได้เรียนจิตวิทยามา แต่สอนดีมาก ตลกที่สุดเลย ครูเคล้านี่ชั้นหนึ่งจริงๆ เวลาสอนเด็กนักเรียนฟังด้วยความตั้งใจ ไม่ง่วงนอน สอนเยี่ยมมาก สอนเก่งจริงๆ เล่านิทานก็เก่ง นิทานครูเคล้า นักเรียนหัวเราะกันได้ทุกครั้ง”
.
ครูเคล้าไม่ได้เก่งแค่เรื่องการสอน แต่ยังเก่งในเรื่องกีฬา ซึ่ง พล.อ.เปรม เล่าว่า “สมัยเป็นเด็กพวกเราชอบเล่นฟุตบอล มี นึก บุญ และผม ก็เล่นฟุตบอล ด้วยกัน นึกเขาเล่นฟุตบอลเก่งที่สุดในบรรดาพี่น้อง ก็ครูเคล้าอีกนั่นแหละที่เป็นครูสอน”
.
คุณความดีของครูเคล้า ถูกถ่ายทอดต่อกันมา ในฐานะครูผู้มีแนวคิดและวัตรวิถีของความเป็นครูผู้มีวิธีการสอน มีวิสัยทัศน์ล้ำสมัย เป็นแบบอย่างของครูผู้ทุ่มเทกับศิษย์อย่างมีสีสัน เร้าใจ สนุกสนาน
.
.
พล.อ.เปรมเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนมหาวชิราวุธ ในปี 2478 และเข้า กทม. เรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
.
“ถนอม” บอกว่า มีคำพูดหนึ่งของพล.อ.เปรมกล่าวถึงครูเคล้าว่า “...ถ้าครูเคล้ายังมีชีวิตอยู่ ท่านจะดีใจมาก ที่เห็นผมอยู่ในสภาพเช่นนี้ ครูเคล้าท่านเสียชีวิตตอนที่ผมเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว”
.
พลเอกเปรมได้เข้าไปดูแลครอบครัวครูเคล้า หลังครูเคล้าเสียชีวิต โดยเฉพาะการดูแลถามสารทุกข์สุกดิบลูกชายคนเล็กของครูเคล้า เนื่องจากครูเองก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร เนื่องจากชีวิตทุ่มเทให้แก่เด็กนักเรียนตลอดมา
.
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องราวของครูเคล้า ที่มีผลต่อการเป็น พล.อ.เปรมในทุกวันนี้ รวมทั้ง เป็นความรักที่ พล.อ.เปรมมีต่อครูคนนี้อย่างมากที่สุด
.
ฟังจากคำบอกเล่าจาก “ถนอม ขุนเพ็ชร์” ผู้เขียนอย่างเดียว คงยังไม่เต็มอิ่ม หากจะหาหนังสือ “ครูเคล้า คชาฉัตร ครูของรัฐบุรุษ” มาอ่านทั้งเล่ม คงจะได้รับรู้เรื่องราวและอรรถรสที่มากกว่านี้
.