คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้ / โดย... สุวัฒน์ กิขุนทด
คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ในปี 2564 โดยจะมีประชากรผู้สูงวัยถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
.
โดยในปีงบประมาณ 2557 งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมกรณีชราภาพอยู่ที่ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 ของ GDP. และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7 แสนล้านบาท หรือราวร้อยละ 3 ของ GDP. ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ปัญหาที่จะติดตามมานอกจากเรื่องงบการคลังของประเทศ คือปัญหาด้านสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บ ผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจน ไม่มีลูกหลานดูแลหรือถูกทอดทิ้ง ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้ จะทำให้ผู้สูงวัยเกิดความเปลี่ยวเหงา ซึมเศร้า ขาดกำลังใจในการใช้ชีวิต เหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ จึงเหี่ยวเฉา โรยรา รอวันร่วงโรยสู่ผืนดิน
อย่างไรก็ตามยังมีผู้สูงวัยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศได้เตรียมตัวรับมือสภาวะที่จะเกิดขึ้น โดยทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย พบปะพูดคุย ทำให้ไม่เปลี่ยวเหงา มีสวัสดิการ มีที่อยู่อาศัย มีรายได้ และนำภูมิปัญญาความรู้ที่มีออกมาถ่ายทอด หรือนำมาทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้ จึงทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และมีพลังใจที่จะใช้เวลาในช่วงที่เหลืออยู่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป
ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 1,170 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 11,000 คนเศษ มีผู้สูงอายุประมาณ 1,000 คนเศษ หรือเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งตำบล และมีแนวโน้มจะมีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ดังนั้นหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อบต.เขาคราม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม จึงมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย เช่น มีอาสาสมัครดูแลผู้สูงวัย ให้คำแนะนำด้านการดูแลรักษาสุขภาพ การกินอาหาร การออกกำลังกาย ฯลฯ เพื่อให้ผู้สูงวัยเหล่านี้มีสุขภาพกายและใจที่ดี
สุวรรณ มุคุระ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม บอกว่า นอกจากหน่วยงานในท้องถิ่นจะมีกิจกรรมต่างๆ แล้ว ในตำบลเขาครามยังมีปัญหาผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล ไม่มีที่พักอาศัย ดังนั้นในปี 2551 ชุมชนจึงร่วมกันบริจาคเงินครัวเรือนละ 200 บาท คนที่มีฐานะดีก็บริจาคมาก เพื่อจัดสร้างบ้านพักให้แก่ผู้สูงวัย โดยใช้พื้นที่ของมัสยิดบ้านทุ่ง หมู่ที่ 1 ต.เขาคราม สร้างบ้านพักจำนวน 10 ห้อง ใช้งบประมาณรวม 1.2 ล้านบาท (จากเงินบริจาคของชุมชนและการจัดงานเลี้ยงน้ำชา) ทำให้ผู้สูงอายุในตำบล โดยเฉพาะหญิงหม้ายมีที่อยู่อาศัย และมีกิจกรรมต่างๆ ทำร่วมกัน
ยายยามิอ๊ะ ถวายเชื้อ หญิงหม้ายอายุ 72 ปี เล่าด้วยสีหน้ามีความสุขว่า มาอยู่ที่บ้านพักคนชราตั้งแต่เปิด เพราะอยู่ติดกับมัสยิด ทำให้ละหมาดได้สะดวก (ละหมาดวันละ 5 ครั้ง) อยู่ที่นี่ยังมีลูกหลานมาเยี่ยมบ่อยๆ บางครั้งก็พากลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ตนอยากอยู่ที่นี่เพราะมีเพื่อนๆ อยู่ด้วยกันรวมทั้งหมด 13 คน (10 ห้อง) ทำให้ได้พูดคุยกัน ทำกับข้าวกินด้วยกัน ใครมีอะไรก็เอามาแบ่งกันกิน ทำให้ไม่เหงา
“เราอยู่ที่นี่เหมือนกับครอบครัวเดียวกัน ช่วยกันทำงาน ปลูกผักเอาไว้กิน ถ้าเหลือมากๆ ก็ขาย มีรายได้เล็กน้อยๆ ก็เอาเงินมาซื้อของทำขนมกินกัน และเอาไว้เลี้ยงคนที่มาละหมาด” คุณยายยามิอ๊ะเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ส่วนผู้สูงอายุคนอื่นๆ ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกเปลี่ยวเหงา เพราะอยู่ที่บ้านพักแห่งนี้จะมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันตลอด เช่น เรียนวิชาศาสนาอิสลาม ละหมาดร่วมกัน ช่วยกันปลูกผักและรดน้ำ โดยใช้พื้นที่ว่างหน้าบ้านพักปลูกผักกาดเขียว มะเขือ พริก มะนาว กะเพรา ฯลฯ เมื่อผักโตก็เก็บมาทำอาหารหรือขาย
ทำขนมร่วมกันทุกวันพฤหัส บางคนช่วยนวดแป้ง บ้างก็หยิบโน่นทำนี่ บ้างก็พูดคุยหยอกล้อกัน ทำให้บ้านพักแห่งนี้ไม่เงียบเหงา เช่น ทำขนมด้วงทอด มีหน้าตาคล้ายกับหนอนด้วงตัวใหญ่ ใช้แป้งข้าวเหนียวมานวดกับมะพร้าวขูดแล้วทอดน้ำมัน เมื่อสุกจะมีสีเหลืองเหมือนกล้วยทอด จะคลุกน้ำตาลทรายหรือไม่คลุกก็ได้ เป็นของว่างกินกับน้ำชา นอกจากนี้ยังมีข้าวเหนียวแดง ช่วยกันทำแล้วแจกกันกิน และยังเผื่อแผ่ไปถึงคนที่มาละหมาดด้วย
.
เมื่อคนที่ได้กินก็อิ่มอร่อย คนที่ทำก็มีความสุขใจที่ได้เอื้อเฟื้อและแบ่งปัน..!!
.
นอกจากความสุขของผู้สูงวัยที่มัสยิดบ้านทุ่งแล้ว สุวรรณ มุคุระ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาครามบอกว่า สภาฯ ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ในตำบลรวม 41 กลุ่มให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน เช่น เชื่อมโยงกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง และกลุ่มประมงท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกัน ซึ่งกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาคราม โดยจะมีการประชุมสภาประมาณ 2-3 เดือนครั้ง หรือตามสถานการณ์และความจำเป็น
สุธีร์ ปานขวัญ ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไหนหนัง ต.เขาคราม ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนฯ บอกว่า กลุ่มเลี้ยงผึ้งจัดตั้งขึ้นมาในปี 2557 มีสมาชิก 39 คน ซึ่งสมาชิกแต่ละคนจะเลี้ยงผึ้งในสวนของตัวเอง มีรังผึ้งรวมกันทั้งหมดประมาณ 520 รัง ปีหนึ่งจะเก็บน้ำผึ้งได้ 1 ครั้งคือในช่วงเดือนเมษายน ส่วนใหญ่จะขายเป็นน้ำผึ้งให้แก่โรงแรมต่างๆ ประมาณปีละ 700-800 ลิตร ขนาดบรรจุ 700 cc. ราคาขวดละ 500 บาท
นอกจากนี้ยังนำน้ำผึ้งมาผลิตเป็นสบู่ แชมพูสระผม ลูกอม และผสมในขนมต่างๆ ทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เสริมนอกจากการทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมกันประมาณปีละ 150,000 บาท และจะแบ่งผลกำไรจากกลุ่มปีละ 10% หรือประมาณ 15,000 บาท เพื่อนำไปสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การปรับพื้นที่เปิดทางน้ำเข้า-ออกเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลน การปลูกไม้ชายเลนในบ่อกุ้งร้าง ปล่อยสัตว์น้ำวัยอ่อน และเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกหรือทำลายป่าชายเลน รวมทั้งดูแลป่าชุมชนที่อยู่ติดกับป่าชายเลนด้วย
“ป่าชุมชนและป่าชายเลนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำต่างๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีอาชีพ มีรายได้และมีอาหารเลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้ป่าชุมชนและป่าชายเลนยังเป็นแหล่งหาน้ำหวานของผึ้งโพรงที่พวกเราเลี้ยง เช่น ดอกตะบูน ลำพู แสมขาว หวายลิง เมื่อป่าสมบูรณ์ อาหารของผึ้งก็จะมีมาก น้ำผึ้งก็จะได้มาก เราจึงนำรายได้จากการเลี้ยงผึ้งมาสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์ เพราะแต่ละอาชีพในตำบลต้องพึ่งพาและช่วยเหลือกัน” ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งกล่าวในตอนท้าย
.
นี่เป็นรูปธรรมการใช้พลังและภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่นมาพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตัวเอง เพื่อก้าวเดินไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้..!!