คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย... สกนธ์ รัตนโกศล
“แมลงปอ” แมลงนักล่า
.
มีชื่อภาษาอังกฤษว่า dragonfly ภาษาไทยถิ่นเหนือชื่อ “แมงก่ำบี้” และตัวอ่อนของแมลงปอทางภาคอีสานจะเรียกว่า “แมงระงำ” และ “แมงตบเต็บ” จัดอยู่ในอันดับ Odonata นับเป็นแมลงโบราณจำพวกหนึ่งที่พบตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยพบซากฟอสซิลของมันในยุคเพอร์-เมียน (330-335 ล้านปีมาแล้ว) ทั่วโลกมีทั้งหมดประมาณ 4,500 ชนิด พบอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในแถบร้อน
.
วงจรชีวิตของแมลงปอเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์มี 3 ระยะคือ ไข่ ตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัย ไม่มีระยะดักแด้
.
ตัวอ่อนแมลงปอจะอาศัยอยู่ในน้ำ มีลักษณะยาวหรือป้อมสั้น ขนาด 10-60 มิลลิเมตร ตามีขนาดใหญ่ มีหนวด มีปากแบบกัดกิน ริมฝีปากล่างเป็นอวัยวะที่ใช้ในการจับเหยื่อ ขณะไม่ได้ใช้จะพับเก็บไว้ใต้หัวคล้ายหน้ากาก ส่วนอกประกอบด้วยขา 3 คู่ และแผ่นปีก (wing pads) 2 คู่ ส่วนท้องมีเหงือกที่ด้านปลายของส่วนท้อง และมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ชนิด ส่วนในระยะตัวอ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำจะกินอาหารจำพวกไรแดง ลูกน้ำ และลูกอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
.
ลักษณะทั่วไปของแมลงปอ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (arthropods) ตัวเต็มวัยมีลักษณะรูปร่างแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
.
1. ส่วนหัว (head)
.
“ตา” มีทั้ง ตารวม (compound eyes) และ ตาเดี่ยว (ocelli)” โดยตารวมแมลงปอประกอบด้วยช่องตาขนาดเล็กเรียกว่า ฟาเซท (facet) ประมาณ 30,000 ช่อง มองเห็นภาพได้ไกล 10-20 เมตร ส่วนตาเดี่ยวอยู่ระหว่างตารวมค่อนไปทางด้านบน มี 3 ตา มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ
.
“หนวด” แมลงปอมีลักษณะเป็นเส้นขนที่มีขนาดเล็กจนเกือบมองไม่เห็น มี 1 คู่ ระหว่างหนวดทั้ง 2 ข้างเป็นส่วนที่มีสี เรียกว่า หน้าผาก (frons)
.
“ปาก” แมลงปอเป็นแบบปากกัด ประกอบด้วยเขี้ยว (mandible) ที่มีความแข็งแรงมาก นอกจากนี้ยังมีริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง และระยางค์อื่นๆ ที่ปากทำหน้าที่เกี่ยวกับการกินอาหาร และการรับสัมผัส
.
2. ส่วนอก (thorax)
.
“อก” แมลงปอเป็นที่ตั้งของปีกและขา โดยปีกทั้ง 2 คู่จะอยู่ที่อกปล้องใหญ่ ปีกมีลักษณะบางใส มีเส้นปีกสานเป็นร่างแหจำนวนมาก และอาจมีสีแต้ม ซึ่งเส้นปีกแมลงปอจะใช้ในการจำแนกชนิดของแมลงปอได้ โดยการเปรียบเทียบลักษณะต่างๆ ของปีก ได้แก่
.
- ตาปีกที่ขอบปีกด้านหน้าค่อนไปทางปลายปีก
- สามเหลี่ยมที่อยู่ใกล้โคนปีก
- พื้นที่ถัดจากสามเหลี่ยมไปจรดขอบปีก
- ข้อปีกบริเวณใกล้กึ่งกลางของขอบปีกด้านหน้า
- เส้นอาร์คูลัสที่วางขวางปีก เหนือสามเหลี่ยมค่อนมาทางโคนปีก
- เส้นขวางปีกที่วางขวางระหว่างฐานปีกถึงข้อปีก 2 เส้น หรืออาจมีมากกว่า
- เส้นเฉียงหน้าตาปีก (พบเฉพาะในแมลงปอยักษ์)
- พื้นที่ส่วนท้ายบริเวณชายปีกคู่หลังใกล้โคนปีก ในแมลงปอบ้านจะเป็นรูปเท้า
.
“ขา” แมลงปอมี 3 คู่ แต่ละคู่จะอยู่บริเวณอกของแต่ละปล้อง ทำหน้าที่ใช้จับเกาะ และใช้ในการจับเหยื่อ ขามีหนามขึ้นหนาคล้ายซี่หวี ช่วยในการจับเหยื่อหรือสิ่งต่างๆ ได้ดี ขาแต่ละข้างประกอบด้วยปล้องต่อกันหลายปล้อง
3. ส่วนท้อง (abdomen)
.
“ท้อง” แมลงปอมีลักษณะทรงกระบอก บางชนิดมีลักษณะพองออก บางชนิดมีลักษณะแบน โดยในแมลงปอบ้านมีปล้องท้อง 10 ปล้อง ปล้องแรกติดกับอก มีขนาดสั้นมาก ปล้องที่ 2 ยาวกว่าเล็กน้อย ปล้องที่ 3-7 เป็นปล้องที่ยาวที่สุด ปล้องที่ 8-9 ค่อนข้างสั้น ปล้องที่ 10 มีลักษณะสั้นเล็ก เป็นที่ติดตั้งของรยางค์ปลายท้อง
.
ในตัวผู้จะมีแพนหางส่วนบน 1 คู่ และแพนหางส่วนล่าง 1 คู่ สำหรับใช้ในการยึดจับตัวเมียขณะผสมพันธุ์ และตัวผู้จะมีรูเปิดน้ำเชื้อบริเวณใต้ท้องของปล้องที่ 2
.
“อวัยวะสืบพันธุ์” ตัวเมียจะอยู่ด้านล่างปล้องท้องที่ 8 และ 9 โดยแมลงปอชนิด damselfly มีอวัยวะวางไข่ที่สามารถยื่นสอดไข่ใส่ในเนื้อเยื่อพืชในน้ำได้ ส่วนแมลงปอบ้านจะใช้วิธีบินวางไข่ตามผิวน้ำ
.
สำหรับอาหารของแมลงปอตัวเต็มวัยจะเป็นแมลง และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น หนอนผีเสื้อ แมลงหวี่ แมลงวัน เป็นต้น
ประโยชน์และความสำคัญของแมลงปอ
.
- ในระยะตัวอ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำ จะเป็นแหล่งอาหารของปลาและสัตว์ชนิดอื่นๆ ในขณะเดียวกันตัวอ่อนแมลงปอก็จะจับกินลูกน้ำของยุง ช่วยให้ปริมาณยุงลดลง
.
- ในระยะตัวเต็มวัยจะจับกินแมลงชนิดอื่นๆ เป็นอาหาร ช่วยควบคุมแมลงที่เป็นศัตรูพืช หรือแมลงที่สร้างความรำคาญ เช่น ยุง แมลงหวี่ แมลงวัน เป็นต้น
.
- ตัวอ่อนแมลงปอที่เรียกว่า “แมงระงำ” และ “แมงตบเต็บ” ที่อาศัยตามแหล่งน้ำขังหรือทุ่งนา ซึ่งตัวอ่อนนี้จะมีสารอาหารจำพวกโปรตีนสูง ทางภาคอีสานจึงนิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น ห่อหมก แกง คั่วและทอด เป็นต้น
.
นอกจากจะเป็นแมลงที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ก็ยังเป็นตัวช่วยทำหน้าที่ปราบศัตรูพืช ที่สำคัญในระบบนิเวศในระยะตัวอ่อนของแมลงปอยังใช้เป็นดัชนีทางชีวภาพ สำหรับชี้วัดคุณภาพของแหล่งน้ำได้นะดีขอรับ
บรรณานุกรม
- biodiversity.forest.go.th › บทความ
- https://pasusat.com/แมลงปอ/