ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่า “ม.วลัยลักษณ์” โพสต์เฟซบุ๊กถามถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ คิดกันอย่างไร? กรณีตัดต้นไม้จนเตียน ชวนสาธารณะ “ปกป้อง” ต้นไม้ของแผ่นดิน
จากเฟซบุ๊กของ “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้โพสต์เรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ ถึงเรื่องการตัดต้นไม้ ภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยระบุว่า...
จดหมายเปิดผนึกถึง สาธารณชน เรื่อง การตัดต้นไม้ 100 ไร่ ที่วลัยลักษณ์
ปรากฏการณ์การตัดต้นไม้ล่าสุดในเขตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลายเป็นประเด็นทางสังคมขณะนี้ นับเป็นบทเรียนที่ไม่เคยจดจำของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ผู้บริหารชุดนี้ไม่เคยตัดต้นไม้ นับว่าเป็นแถลงการณ์ฉบับโกหกสังคม เป็นสถาบันการศึกษาที่ไม่เคารพสังคม เพราะออกแถลงการณ์ปกป้องผู้บริหารแบบไม่ลืมหูลืมตา
ในแถลงการณ์ ระบุว่า ผู้บริหารชุดนี้ไม่เคยตัดต้นไม้ แน่นอน อธิการและรองอธิการไม่เคยถือเครื่องเลื่อยไม้ และขับรถแบ็กโฮไปทำลายต้นไม้ แต่ผู้บริหารมีหน้าที่สั่ง หรือมีหน้าที่เพิกเฉย หรือไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่วางแผนการจัดการ
แน่นอนการตัดต้นไม้มีมาก่อน อธิการคนปัจจุบันจะมาทำหน้าที่ ลองเอาแผนที่ย้อนหลังมาดูว่า ป่าในมหาวิทยาลัยหายไปกี่ไร่ในรอบ 10 ปีมานี้ มีคนตัดไม้อยู่กลุ่มเดียว ได้อภิสิทธิ์ในการตัดไม้ทั้งมหาวิทยาลัย และคนกลุ่มนั้นก็เป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในคณะบริหารชุดนี้
คำถามคือ อธิการบดีคนนี้ตัดไม้ในมหาวิทยาลัยหรือไม่ ตั้งสติแล้วไปดูต้นไม้ตรงข้ามหอพักนักศึกษาชายหายไปกี่ร้อยต้น จำนวนกี่ไร่ ด้านหลังตรงข้ามสนามกีฬา ฟาร์มมหาวิทยาลัย ตั้งแต่คณะผู้บริหารชุดนี้มาทำหน้าที่
อธิการบดีอาจคิดว่า เขาให้ผมมาพัฒนา ไม่ใช่มารักษาต้นไม้ ประโยคนี้อาจจะถูกต้อง แต่ถ้าเวลาจะพัฒนาหรือก่อสร้างอะไร ทำไมไม่วางแผน จัดระบบภูมิสถาปัตย์ฯ ต้นไม้ตรงไหนควรตัด ตรงไหนควรเว้น ไม่ใช่ตัดไม้ไม่เหลือ แล้วเอางบประมาณไปซื้อต้นไม้ต่างถิ่นมาปลูก นี่คือพฤติกรรมของสถาบันวิชาการ
ที่ดินราว 9,000 ไร่ ในมหาวิทยาลัย เป็นที่อยู่ของพืชพื้นเมืองผืนสุดท้ายของอำเภอท่าศาลา และกำลังถูกทำลายจนจะหมดแล้วในพื้นที่มหาวิทยาลัย
มันมีทางออกแน่นอนสำหรับรูปแบบการพัฒนา และการรักษาของเดิม อยู่ที่ว่าจะมักง่ายไม่ยอมทำหรือไม่ และความมักง่ายแบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับสถาบันทางวิชาการ
ผมในฐานะเป็นศิษย์เก่า คิดว่าผู้บริหารชุดนี้ไม่มีเจตจำนงในการรักษาต้นไม้ จึงจำเป็นต้องให้สาธารณะมาปกป้องต้นไม้ของแผ่นดิน ฝากถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่า เรื่องนี้คิดกันอย่างไร จะปล่อยให้ไถกันจนเตียน หรือว่าจะวางแผนรักษาส่วนที่เหลือเพียงน้อยนิดเอาไว้
“มหาวิทยาลัยไม่ใช่ของผู้บริหารแต่เป็นของสังคมโดยรวม”