xs
xsm
sm
md
lg

หวังได้ไหม! รัฐบาลใหม่จะ “สำเหนียก” ข้อเท็จจริง “เหนียมอาย” ต่อการใช้ “งบประมาณ” ดับไฟใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
  
เอกสารเกี่ยวกับการกำหนดใจเพื่อปกครองตนเองที่ถูกนำไปเผยแพร่ใน จ.ปัตตานี โดยเอกสารนี้ได้นำเสนอต่อองค์กรนานาชาติให้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ของผู้ต้องการปกครองตนเองด้วย
 
ครึ่งทางของ “เดือนรอมฎอน” แล้ว สำหรับมุสลิมภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทยอาจจะเป็นเดือนแห่งความดีงาม แต่สำหรับพื้นที่ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” กลับคือ “เดือนแห่งการก่อการร้าย” เป็นเดือนแห่ง “ความตาย” หรือเดือนแห่ง “ความสูญเสีย” เพราะยังมีความพยายามจาก “โจรใต้” และ “แนวร่วม” ของ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ที่รอจังหวะให้เจ้าหน้าที่เผลอ หรือเปิดช่องว่างเพื่อจะได้ปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรง
 
การก่อเหตุความรุนแรงในเดือนรอมฎอนที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกมองเป็นเรื่อง “ปกติ” ไปแล้วของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเกิดเรื่องอย่างนี้มายาวนานถึงกว่า 15 ปีแล้ว จึงกลายเป็นความชินชาของผู้คน
 
ดังนั้น เรื่อง “ไปป์บอมบ์” ที่ถูกขว้างเข้าใส่สถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นจุดตรวจ หรือหน่วยปฏิบัติการอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐหลายแห่งใน จ.ยะลา การ “วางเพลิง” การ “วางระเบิดแสวงเครื่อง” อื่นๆ ที่เป้าหมายอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการ “ลอบยิงครอบครัวผู้นำท้องที่” และการ “ยิงใส่ใครต่อใคร” ก็ได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเรื่อง “ไม่น่าตื่นเต้น” อะไรเลยทั้งในฝ่ายรัฐและฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ
 
โดยเฉพาะฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ การก่อเหตุร้ายหรือสร้างความรุนแรงไม่ให้เกิดความสงบในเดือนรอมฎอนนี่ ต้องถือเป็น “หน้าที่” ที่ต้องทำไปให้ต่อเนื่องยาวนาน เพื่อ “รักษาสถิติ” การเกิดเหตุร้าย เพื่อ “หล่อเลี้ยง” ให้สังคมโลกและโดยเฉพาะโลกมุสลิมให้เห็นถึงความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ในแผ่นดินด้ามขวานไทย และเพื่อ “ยืนยันตัวตน” ให้สังคมคนชายแดนใต้เห็นว่า บีอาร์เอ็นฯ ยัง “ดำรงอยู่” และยัง “มุ่งหมายใช้ความรุนแรง” เพื่อแบ่งแยกดินแดน
 
ขณะที่ฝ่าย “กอ.รมน.ภาค 4” ก็มี “ของใหม่” อย่าง “ชป.จรยุทธ์” ซึ่งเป็นหน่วยพิเศษเพื่อตรวจค้นหาแหล่งที่ซ่องสุมและที่หลบซ่อนของโจรใต้และแนวร่วม เพื่อลดความรุนแรง รักษาความสงบและรักษาความปลอดภัยให้แก่ “เป้าหมายอ่อนแอ” ที่ไม่สามารถสู้รบปรบมือกับโจรใต้หรือแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร เพราะสามารถสกัดกั้น สามารถรบกวนการเคลื่อนไหวของโจรใต้ให้ก่อเหตุได้น้อยลง
 
ในขณะที่หลายหน่วยในพื้นที่ เช่น กองกำลังของ “ตำรวจตระเวนชายแดน” ก็พยายามนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น การนำ “โดรน” เข้ามาเป็นส่วนเสริมความคล่องตัวให้แก่หน่วยในพื้นที่ เพื่อการเสริมประสิทธิภาพและลดความสูญเสีย
 
ในขณะเดียวกัน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่ง “ชูธง” การแก้ปัญหา “ยาเสพติด” ตามนโยบายของ ผบ.ทบ.ก็ไม่อยู่นิ่ง มีการนำผลงานการจับกุมและทลายขบวนการค้ายาเสพติดของทั้ง ตำรวจ ป.ป.ส. และหน่วยต่างๆ มาเป็นผลงานเชิงประจักษ์ เพื่อให้เห็นว่ามีผลสำเร็จในนโยบายการปราบปรามยาเสพติด
 
การที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมยาเสพติดได้เป็นจำนวนมากนั้น แสดงให้เห็นว่า “คนพื้นที่” มีอาชีพค้ายาเสพติดอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “แหล่งพักยา” เพื่อการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็ถือเป็นประตูในการส่งออกยาเสพติดสู่ตลาดโลก
 
นอกจากนั้น ประเทศมาเลเซียเองก็ยัง “ส่งออกยาเสพติด” โดยเฉพาะ “ใบกระท่อม” ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเจ้าหน้าที่ไทย เพราะจับอย่างไรก็ไม่หมด ยิ่งจับยิ่งโต เพราะ 1 การค้าใบกระท่อมกลายเป็น “การค้าข้ามชาติ” ที่มีทั้งคนไทยและเจ้าหน้าที่ไทย คนมาเลเซียและเจ้าหน้าที่มาเลเซีย โดยร่วมกันค้าอย่างเป็นขบวนการ จนวันนี้ได้กลายเป็น “สินค้าโอทอป” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ซึ่งก็เป็นการเสริมตลาด “น้ำมันเถื่อน” ที่ติดตลาดมาก่อนหน้านี้แล้วนั่นเอง
 
แต่ก็น่าแปลกใจที่ยาเสพติดจำนวนมหาศาลที่ส่งออกไปจากชายแดนไทยเข้าสู่มาเลเซีย กลับไม่เคยเห็น “ตำรวจมาเลเซีย” จับกุมยาเสพติดเหล่านั้นให้ปรากฏเป็น “ข่าว” แต่อย่างใด ทั้งที่มีคนมาเลเซียจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดข้ามชาตินี้ จนดูเหมือนกับว่าไทยเราคือ ประเทศที่เดือดร้อนกับเรื่องการค้าและการระบาดของยาเสพติดแต่ฝ่ายเดียว ส่วนมาเลเซียกลับเฉยๆ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
 
เช่นเดียวกับเรื่องใบกระท่อมที่ถูกส่งมาจากมาเลเซีย แล้วกลายเป็นปัญหาสังคมของไทยเรา มาเลเซียก็เฉยๆ เพราะ “ได้ประโยชน์” จากการส่งเสริมให้คนมาเลเซียปลูกกระท่อมขายให้แก่คนไทย และเจ้าหน้าที่ไทยก็ไม่เคยไป “จับเข่าคุย” ในเรื่องนี้กับทางการมาเลเซียแต่อย่างใด
 
ช่างเหมือนกันเหลือเกินกับเรื่องราวของบรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ “หัวขบวนการ” อาศัยอยู่ในมาเลเซีย แถม “วางแผน” และ “สั่งการ” ให้กองกำลังติดอาวุธที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปฏิบัติการต่อคนไทยก็ที่นั่น เป็นแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว กลายเป็น “ความเจ็บปวด” และสร้าง “ความเดือดร้อน” ต่อคนบนแผ่นดินด้ามขวานและประเทศไทยอยู่แต่ฝ่ายเดียว
 
แทนที่ฝ่ายไทยจะไป “พูดคุย” กับ “รัฐบาลมาเลเซีย” แบบตรงไปตรงมาให้ร่วมมือกับเรา ให้เลิกสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกขบวนการในแผ่นดินเรา ซึ่งนั่นจะเป็นการ “ยุติไฟใต้” อย่างตรงเผงและถูกต้องที่สุด
 
แต่เรากลับไปยอมรับให้มาเลเซียดำรงตนเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ในกระบวนการตั้งโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” กับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไทยเรา ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็น “ความล้มเหลว” เพราะกลายเป็นว่า ทั้งฝ่ายมาเลเซีย ทั้งฝ่ายไทย กลับไป “โอ้โลมปฏิโลม” และ “อ่อนข้อ” ให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนสุดท้ายสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพให้เห็นชัดแจ๋วแหววก็คือ มาเลเซียยืนอยู่ข้างขบวนการแบ่งแยกดินแดน มาเลเซียไม่ได้ยืนอยู่กับเพื่อนบ้านที่ดีอย่างไทย
 
ดังนี้แล้วสังคมจึงประจักษณ์ว่า นอกจากอดีตกว่า 15 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ไฟใต้ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบแล้ว เมื่อมองไปยังอนาคตก็กลับไม่เห็นแม้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วย
 
เพราะรัฐไทยยังปล่อยให้องค์กรนอกประเทศ โดยเฉพาะพวก “ฝรั่งอั้งม้อ” ได้เข้ามาตั้งสำนักงานต่างๆ ทำหน้าที่ “แทรกแซง” กิจการภายในของทางการไทย ด้วยการดูแลบ้าง จัดตั้งกลุ่มบ้าง ตั้งองค์กรบ้าง เพื่อให้ความรู้แก่ฝ่ายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน รวมถึงประชาชน อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรอรับความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่
 
ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ที่ จ.ปัตตานี มีการเผยแพร่เอกสาร “การกำหนดใจ” เพื่อ “ปกครองตนเอง” โดยเอกสารชุดนี้มีการนำเสนอต่อ “องค์กรนานาชาติ” ให้รับรู้ถึงเจตนาของผู้ต้องการปกครองตนเองมาแล้ว และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีองค์กรฝรั่งอั้งม้อที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเปิดเผย
 
ที่นี่เคยถามหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่งว่า ระหว่างการ “พาโจรกลับบ้าน” กลับการส่ง “ฝรั่งกลับเมือง” เรื่องอะไรที่สำคัญต่อการดับไฟใต้ และเป็นเรื่องที่อาจจะทำให้สูญเสียดินแดนมากกว่ากัน แต่จนบัดนี้ก็ยัง “ไม่มีคำตอบ” แถมกลับพบว่าองค์กรต่างประเทศที่เข้ามาแทรกเป็น “ยาดำ” เราในเรื่องนี้ ได้ทำให้วิกฤตไฟใต้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นภัยต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยากจะหลีกพ้น
 
ก็ได้แต่หวังว่า “รัฐบาลใหม่” จะใส่ใจกับวิกฤตไฟใต้ ซึ่งอย่าให้เหมือนห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ที่แม้ “ท่านผู้นำ” จะมี “ม.44” อยู่ในมือ แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น
 
ก็ได้แต่หวังว่า อย่างน้อยเสียงของ “ท่านผู้แทน” น่าจะทำให้แม่ทัพนายกองได้ “สำเหนียก” ถึงข้อเท็จจริง และ “เหนียมอาย” ในการใช้ “งบประมาณ” แบบไม่ตอบโจทย์การสร้างความสันติสุขขึ้นบ้างอย่างที่ผ่านมา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น