xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ! นายกเล็กเมืองป่าตอง “เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์” มุ่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดันไมซ์ซิตี้ สู่ป่าตองเมืองยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง
เปิดใจ! นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง “เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์” 5 ปีกับการบริหารเทศบาลเมืองป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก มุ่งมั่นฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ขอคืนชายหาด จัดระเบียบเมือง ดันป่าตองไมซ์ซิตี้ เดินหน้าเมืองแห่งการเดิน ก้าวไปสู่การพัฒนาป่าตองยั่งยืนควบคู่เศรษฐกิจโต

เมื่อเร็วๆนี้ www.manager.co.th/south ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์” ถึงการพัฒนาเมืองป่าตองในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ที่เข้ามาบริหารเทศบาลเมืองป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก และก้าวต่อไปของเมืองป่าตองภายใต้การนำของ “เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์”

น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เป็นระยะเวลา 5 ปี กว่าๆ โดยเข้ามารับตำแหน่งและทำงานให้กับเมืองป่าตองตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 เป็นต้นมา ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่บริหารเทศบาลเมืองป่าตอง ได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำเพื่อป่าตองในหลายเรื่องๆ และยังมีอีกหลายๆ เรื่องเช่นกันที่ยังไม่ได้ทำ สิ่งแรกที่ได้ดำเนินการและให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่ช่วงหาเสียงและวันแรกที่เข้าทำงานในเทศบาลเมืองป่าตอง คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะมองว่าสิ่งแวดล้อมในเมืองป่าตองต้องได้รับการดูแล ถึงเวลาที่จะต้องมีการฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองและการเติบโตของเมืองป่าตอง ทั้งในเรื่องของน้ำเสีย ขยะ ด้วยการจัดสรรงบประมาณเข้ามาดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี

โดยในส่วนของปัญหาน้ำเสียนั้น ได้มีการจัดสรรงบประมาณปีละ 4 - 5 ล้านบาท เข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาบริหารเทศบาลป่าตอง ด้วยการวางท่อรวบรวมน้ำเสียไปยังบ้านเรือนของประชาชนจนถึงขณะนี้ได้เกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ต่ำกว่ากว่า 80 - 90%ของพื้นที่ 54 ตารางกิโลเมตรในเขตเทศบาลเมืองป่าตอง ยกเว้นพื้นที่ทางตอนเหนือตั้งแต่กะหลิมซอย 7 ไปจนถึงสุดเขตกมลา และทางตอนใต้จากสะพานคอรัลไอร์แลนด์ไปจนถึงหาดไตรตรัง ที่ยังไม่ได้มีกาวางท่อรวบรวมน้ำเสีย แต่ในโซนดังกล่าวมีการกำหนดใด้โรงแรมทุกแห่งจะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถรักษาเมืองป่าตองได้ระดับหนึ่งจากปัญหาน้ำเสีย

นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในเฟสที่ 4 ที่สามารถรองรับน้ำเสียได้อีก 9,000 ลบ.ม.เมื่อรวมกับระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้ป่าตองสามารถรองรับน้ำเสียได้วันละ 30,000 ลบ.ม.ซึ่งสามารถรองรับปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่ในช่วงไฮซีชั่นจะเกินความสามารถที่มีอยู่บ้างในบางช่วง จากปริมาณน้ำเสียที่มากกว่า 30,000 ลบ.ม.ทางเทศบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณปี 2562 จำนวน 130 ล้านบาท ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในเฟสที่ 5 รองรับน้ำเสียได้อีกวันละ 9,000 ลบ.ม.ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดหาผู้รับจ้าง จะใช้เวลาก่อสร้างอีกประมาณปีครึ่ง จะทำให้ป่าตองสามารถรองรับน้ำเสียได้ถึงวันละ 39,000 ลบ.ม.ซึ่งคิดว่าจะสามารถรองรับน้ำเสียได้อีก 5 - 6 ปี จากการเติบโตในอัตราที่เป็นผู้ในปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาคลองปากบาง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสียโดยตรง แต่ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำเสียของเทศบาลเมืองป่าตอง จากที่ระยะทาง 3 กิโลเมตรของคลองปากบาง เป็นคลองดินธรรมชาติ มีการสะสมกะตอนดินที่สกปรกมาเป็นเวลายาวนาน เทศบาลได้ทยอยขุดลอกตะกอนดินเป็นช่วงๆ แต่ไม่สามารถที่จะทำพร้อมกันครั้งเดียวตลอดทั้งคลองได้ ซึ่งจะเห็นว่าเวลามีฝนตกลงมาครั้งแรก น้ำฝนจะนำตะกอนดินในคลองปากบางไหลลงทะเล ทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ทีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น ไหลลงทะเลหาดป่าตอง
 
เทศบาลจึงมีแนวคิดที่จะทำการลาดท้องคลองด้วยซิเมนต์เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ก็ได้ชะลอโครงการไปก่อน เนื่องจากเทศบาลมีโครงการที่จะจัดทำมาสเตอร์แพลนในการพัฒนาเมืองป่าตองทั้งเมือง จึงรอให้มีการออกแบบการพัฒนาเมืองแล้วเสร็จ ซึ่งอาจจะมีแนวคิดในการทำให้คลองปากบางสวยงามขึ้นเหมืองคลองในต่างประเทศแต่สามารถระบายน้ำได้เหมือนเดิม

“แม้ที่ผ่านมาเทศบาลได้พยายามที่จะแก้ปัญหาน้ำเสียทั้งระบบ แต่ก็ยังมีสถานประกอบการ และประชาชนบางส่วนลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทางเทศบาลฯแก้ปัญหาด้วยการปิดท่อระบายน้ำเพื่อหาเจ้าของมาดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งได้ความร่วมมือจากชาวบ้านและสถานประกอบการเป็นอย่างดี”

ที่สาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเมืองป่าตองที่ได้ให้ความสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้จะมีนักท่องเที่ยวร้องเรียนไปยังรัฐบาล หรือ สถานทูตต่างๆ ว่าไม่สามารถใช้ชายหาดได้ มีการรบกวนนักท่องเที่ยว ผลักไส้ให้ไปนั่งเก้าอี้ที่ให้บริการอยู่ตามชายหาด ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ได้ประกาศตั้งแต่ตอนหาเสียงลงชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีป่าตองแล้วว่า หากได้รับเลือกตั้งจะคืนพื้นที่สาธารณะและชายหาดให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว ประกอบกับในช่วงดังกล่าวทาง คสช.ได้มีนโยบายในการคืนพื้นที่ชายหาด จึงได้ดำเนินการเรื่องนี้ จนสามารถคืนพื้นที่ชายหาดได้ถึง 90% เหลือพื้นที่ให้ทำกิน 10% ทำให้ชายหาดป่าตองสวยงามเป็นธรรมชาติจากที่เมื่อก่อนรกรุงรัง เต็มไปด้วยร่มเตียง เพิง ทั้งนวด ปรุงอาหาร และอื่นๆ จนได้รับรางวัลหาดติดดาวของจังหวัดภูเก็ต รางวัลหาดสิ่งแวดล้อมดีเด่น หาดปลอดบุหรี่ จากการขับเคลื่อนการจัดระเบียบหาด ที่หาดสวยงามขึ้น ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ นักท่องเที่ยวพอใจมีพื้นที่สำหรับพักผ่อน และสามารถนำพื้นที่ชายหาดมาทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงเอกชนในป่าตองสามารถทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะบนชายหาด ที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกัน และช่วยกันดูแลให้เป็นหาดที่สวยงาม

“เป็นอีกหนึ่งความพอใจและภูมิใจที่ได้เข้ามาดำเนินการในการจัดระเบียบชายหาดบนพื้นฐานที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ รวมไปถึงให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ทำกินที่พอเหมาะพอควร รวมไปถึงค่อยเฝ้าดูการประกอบการ ก็พบว่าในช่วงไฮซีชั่นร่มเตียงไม่เพียงพอตามที่ผู้ประกอบการร้องขอ ซึ่งทางเทศบาลก็ได้เสนอไปยังกองทัพภาคที่ 4 และทางจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอเพิ่มพื้นที่ตั้งร่มเตียงในช่วงไฮชีชั่นเท่านั้น คือ ตั้งแต่เดือน พ.ย.- เม.ย.เมื่อเข้าช่วงโลว์ชีชั่นที่นักท่องเที่ยวลดลงจะต้องคืนพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเดิม ซึ่งเทศบาลก็เห็นใจผู้ประกอบการเพราะพื้นที่ที่มีอยู่ในช่วงไฮซีชั่นไม่เพียงพอจริงๆ” นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ และบอกอีกว่า

การจัดระเบียบชายหาดป่าตองในปัจจุบันถือว่ามีความยั่งยืน ทุกคนเคารพกฎกติกาที่กำหนดร่วมกัน มีการแบ่งโซนพื้นที่ชายหาดให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการบนชายหาด ร่ม เตียง เจ็ตสกี เรือลากล่ม และอาชีพอื่นๆ แบ่งโซนเล่นน้ำในทะเลที่ห้ามเจ็ตสกี เรือลากร่ม เข้ามา รวมไปถึงมีการผ่อนผันให้ประชาชนสามารถทำมาหากินบริเวณหน้ากุโบร์และหน้าหาดกะหลิม อยู่บนพื้นฐานการดูแลพื้นที่ให้สวยงามและเป็นระเบียบ

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวอีกว่า มีหลายสิ่งที่อยากทำให้ป่าตองดีขึ้น คือ เรื่องการจราจรในป่าตอง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเทศบาล แต่เทศบาลได้เข้าไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการจราจร เพื่อให้การจราจรในป่าตองคล่องตัวขึ้นแก้ปัญหาจราจรติดขัด ทั้งป้าย ติดตั้ง CCTV มีการตั้งงบประมาณปี 61 จ้างให้ มอ.ศึกษาระบบการจราจรในเขตป่าตอง ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ระบบการจราจรที่มีอยู่เหมาะสมแล้ว พร้อมทั้งเสนอให้ถนนบางสายสามารถให้รถวิ่งได้แบบทูเวย์ เช่น ถนนราชประชานุเคราะห์ หน้าโรงแรมดวงจิต เพื่อให้รถที่มาจากไตรตรังสามารถไปทางหาดกะตะ กะรน ได้สะดวก และทำในเรื่องของสัญญาณจราจร แต่สิ่งสำคัญคือวินัยจราจร และที่สำคัญจะต้องมีระบบขนส่งมวลชน อยากจะให้รถไฟฟ้ารางเบาที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ เชื่อมตัวมายังหาดป่าตอง เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาการจราจรของป่าตองด้วย

การจัดทำมาสเตอร์แพลน หรือ แผนแม่บทการพัฒนาป่าตอง เพื่อให้การพัฒนาป่าตองเป็นไปอย่างยั่งยืน เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมรองรับการเติบโตในทุกด้านๆ โดยทางเทศบาลได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาแผนแม่บทพัฒนาเมืองป่าตอง เมื่อแผนแม่บทแล้วเสร็จการพัฒนาก็จะเดินทางแผนที่กำหนดไว้

การทำให้ป่าตองเป็นเมืองแห่งการเดิน โดยการปรับทางเท้าให้ถนนทุกสายของป่าตอง ในพื้นที่ 54 ตารางกิโลเมตร สามารถเดินบนทางเท้าได้เชื่อมต่อกันเป็นใยแมงมุม ปลูกต้นไม้เพิ่มความร่มรื่นให้กับเมืองโดยเฉพาะถนนสาย ก. จะปลูกต้นไม้ใหญ่ตลอดทั้งสาย ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงทางเท้าในถนนบางสายไปบ้างแล้ว เช่น ถนนสวัสดิรักษ์ และรับฟังความคิดเห็นทำความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชนถึงการทำทางเท้าให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินได้สะดวก ว่าจะทำให้เมืองมีความสวยงาม ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินเข้ามาในชุมชนมากขึ้นจากที่ปกติแล้วจะเดินได้เฉพาะในถนนสายหน้าหาดและสาย 2 เท่านั้น ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจและเห็นด้วยกับแนวคิดในการทำป่าตองเป็นเมืองแห่งการเดิน แต่จะมีบ้างที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะในส่วนของชาวบ้านที่รุกทางเท้า ซึ่งการทำป่าตองเป็นเมืองแห่งการเดินทางเทศบาลจะจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเป็นระยะๆ รวมทั้งนำสายไฟฟ้าและสื่อสารลงดินในถนนทวีวงศ์ในเฟสแรก และตามมาด้วยซอยบางลา

อีกหนึ่งโครงการที่ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง บอกว่า ตั้งใจจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ การขับเคลื่อนป่าตองด้วย เมืองไมซ์ซิตี้ หรือ “ป่าตองไมซ์ซิตี้” โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงคน ดึงรายได้ เข้าป่าตองในช่วงโลว์ซีชั่น ทำเศรษฐกิจป่าตองเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น

โดยแนวคิด “ป่าตองไมซ์ซิตี้” หรือ ป่าตองเมืองแห่งการประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า นั้น เกิดจากความเห็นร่วมกันของหลายๆฝ่าย ทั้งในส่วนของเทศบาลเมืองป่าตอง สสปน.สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง ผังเมือง บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD) หอการค้า ที่มองว่านักท่องเที่ยวกลุ่มสัมมนาน่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสำหรับป่าตองในช่วงโลว์ซีชั่น เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักทั้งโรงแรมที่พัก และอื่นๆ ประกอบกับป่าตองมีความพร้อมในหลายเรื่องที่จะรองรับตลาดไมซ์ได้ ทั้งห้องพักโรงแรมที่มีเพียงพอ สถานที่จัดประชุมสัมมนาของโรงแรมต่างๆ ที่สามารถรองรับได้ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงพันๆคน ขาดแต่ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่รองคนได้ 5,000-10,000 คน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จึงคิดว่าจะเดินหน้าผลักดันให้ป่าตองไมซ์ซิตี้

โดยขณะนี้มีความคืบหน้าในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประชุมหารือสร้างการรับรู้จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้รับการตอบดี ภาคส่วนต่างๆ เห็นด้วยกับการดึงตลาดกลุ่มประชุมสัมมนาเข้าป่าตองในช่วงโลว์ซีชั่นและไฮซีชั่น และมีการแบ่งกลุ่มทำงานออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อศึกษาถึงความพร้อมและสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมในการทำให้ป่าตองเป็นไมซ์ซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ด้านตลาดประชุมสัมมนา คมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การผังเมือง สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น และในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน จะมีการเซ็นต์สัญญากฎบัตรในการร่วมกันขับเคลื่อนให้ป่าตองเป็นไมซ์ซิตี้

“คิดว่าป่าตองมีความพร้อมในหลายๆส่วน ในการที่จะทำให้เป็นไมซ์ซิตี้ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ยังจะต้องพัฒนาต่อเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการขนส่งมวลชนที่อยากจะผลักดันให้รถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมมายังป่าตอง โครงการทางลอดกะทู้-ป่าตอง หรือ อุโมงค์ป่าตอง ห้องประชุมใหญ่ขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับคนได้ 5,000 - 10,000 คน ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลเมืองป่าตองได้มีการนำเสนอให้มีการแก้ไขผังเมืองของป่าตองเพื่อให้สามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ เพื่อรองรับการลงทุนศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากติดกฎหมายผังเมืองและประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ป่าตองและภูเก็ตลงทุนก่อน หากไม่สนใจก็จะเปิดกว้างรับนักลงทุนทั่วไปที่สนใจ” นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวและว่า

การขับเคลื่อนเมืองไมซ์ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อรองรับการเติบโตทั้งตลาดไมซ์และตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เช่น ถนน น้ำ ระบบขนส่งมวลชน ไฟฟ้าแสงสว่าง โครงสร้างพื้นฐานรองรับ เตรียมทางเท้า ถนนหนทาง ความร่มรื่นของเมือง น้ำกินน้ำใช้ ที่ขณะนี้ทางเทศบาลได้ให้เอกชนเช่าพื้นที่ของเทศบาลที่อยู่ติดกับบ่อบำบัดน้ำเสียลงทุนก่อสร้างระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอสิ่งแวดล้อม มีกำลังการผลิตวันละ 20,000 ลูกบากศเมตร การผลิตน้ำ RO จากน้ำทิ้งวันละ 30,000 ลบ.ม.เมื่อร่วมกับน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคแล้ว คิดว่าน่าจะเพียงพอในการรองรับการใช้น้ำของเทศบาลเมืองป่าตองในปัจจุบันและอนาคตหาผลัดดันให้ป่าตองเป็นไมซ์ซิตี้

น.ส.เฉลิมลักษณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า โดยส่วนตัวมองว่าป่าตองเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาขยะ และหลายปัญหาได้รับการแก้ไขไปในแนวที่ดี ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ได้เข้ามาบริหารเทศบาลเมืองป่าตอง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาป่าตองต่อไป เพื่อให้ป่าตองเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น