ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักลงทุนชาวจีนทุ่มเงิน 700 ล้านบาท สร้างโรงงานฟรีซดราย ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา แปรรูปทุเรียนไทยส่งขายจีน คาดเปิด 15 ก.ค. ใช้เงินหมุนเวียนกว่า 2 พันล้านบาท รองรับทุเรียน 20 ล้านกิโลกรัมต่อปี จ้างงานกว่า 1,200 คน
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นายประเสริฐ คณานุรักษ์ ผู้บริหาร บริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัด และนายเซียวเย่าเหิง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัด ได้เชิญ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.เยี่ยมชมภายในโรงงาน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 ใช้เงินลงทุนระยะแรกกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโรงงานผลไม้แช่แห้งแบบเยือกแข็ง หรือฟรีซดราย ที่มีขนาดใหญ่ หนึ่งในสามของประเทศไทย โดยการลงทุนของชาวจีนจากเมืองคุนหมิง ที่ชื่นชอบและหลงใหลรสชาติทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นโอกาสในการลงทุน เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่คนจีนชื่นชอบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทุเรียนที่มาจากเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนทุเรียนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นจากจำนวนความต้องการของผู้บริโภคทั้งหมดในประเทศจีน จึงได้วางแผนการลงทุนร่วมกับนักลงทุนชาวไทย
คาดว่าภายหลังจากการเปิดโรงงาน จะใช้เงินลงทุนพร้อมเงินหมุนเวียนทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะเปิดทำการได้วันที่ 15 ก.ค.2562 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะรองรับผลผลิตทุเรียนได้ปีละ 12 ล้านกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านกิโลกรัม ในปี 2563 รองรับทุเรียนหนึ่งในสามของผลผลิตในพื้นที่ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,200 คน ถือเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมโรงงาน พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการ ทั้งในและนอกพื้นที่ให้มาลงทุน โดยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปักหมุดในพื้นที่ อ.หนองจิก และ อ.เทพา ให้เป็นเมืองเกษตรกรรมกับเกษตรแปรรูป และในพื้นที่ อ.เบตง เป็นเมืองท่องเที่ยว อ.สุไหงโก-ลกเป็นเมืองการค้าชายแดน ผ่านระยะเวลามา 2 ปีเศษ และได้เริ่มขยายจาก อ.หนองจิก มายังพื้นที่อำเภอข้างเคียง คือ อ.เทพา การจัดตั้งโรงงานที่นี่จะช่วยตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเศรษฐกิจหลักๆ ขึ้นอยู่กับการเกษตร และการท่องเที่ยว
วันนี้หลายภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการผสมผสานทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยมีตลาดรองรับเกิดขึ้นในพื้นที่ จากที่ผ่านมาราคาผลผลิตของชาวบ้านจะขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลาง หรือตามจำนวนความต้องการของตลาด ซึ่งไม่สามารถคำนวณราคาของผลผลิตได้ ดังนั้นการที่มีโรงงานแปรรูปในพื้นที่จะช่วยให้เพิ่มการจ้างงานจำนวนมาก เกษตรกรมีตลาดโรงงานแปรรูปรองรับผลผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การเกิดรูปแบบ สภาการเกษตร นั่นคือ การรวมกลุ่มกัน ที่มีรัฐทำหน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือ สนับสนุนในลักษณะของ เกษตรสหกรณ์ และแน่นอนว่าโรงงานแห่งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกคนรอคอยจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีเกิดขึ้นในพื้นที่
ด้าน นายเซียวเย่าเหิง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ม่านกู่หว่านฟู้ด จำกัด กล่าวว่า ทุเรียนที่นี้อร่อยกว่าพื้นที่อื่น เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพดี และได้ส่งไปยัง ระยอง กรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางค่อนข้างไกล ที่นี่ยังไม่มีโรงงานแปรรูป เลยตั้งใจจะมาเปิดโรงงาน ส่งออก จำหน่ายให้กับลูกค้าประเทศจีนได้กินทุเรียนที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณภาพ โดยได้ศึกษาสภาพพื้นที่มาเป็นอย่างดี สถานการณ์ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งโรงงาน มั่นใจว่าจะสามารถสร้างโรงงานในพื้นที่ได้ โดยส่วนตัวตั้งใจมาช่วยเหลือ มาร่วมทำงานกับชาวสวนในพื้นที่ เพื่อจะที่ส่งทุเรียนออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนมรคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป