xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสา จ.ตรัง รวมพลังปกป้อง “เทือกเขาถ้ำแรด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
โดย... เมธี เมืองแก้ว

กลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสาใน จ.ตรัง จำนวนกว่า 150 คน จากกว่า 10 โรงเรียน ได้ร่วมแรงร่วมใจรวมตัวกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ณ พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด เป็นระยะเวลา 2 คืน 3 วัน โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งการอบรมให้ความรู้ในเรื่องของโทษพิษภัยยาเสพติด รวมทั้งการรักสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หรือการ Team Building เพื่อสร้างเสริมการทำงานเป็นทีมให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสา ตลอดจนการพาไปศึกษาดูงานบ้านวิถีพอเพียง และการปลูกพืชผักสวนครัวตามรอยพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ ๙

นอกจากนั้น ยังมีการสวดผ้าไตรจีวร เพื่อนำไปบวชป่า และการเดินเท้าสำรวจป่า บริเวณพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด อันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการสร้างฝายหิน เพื่อชะลอน้ำล้นและกักเก็บน้ำ ซึ่งนอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ ท่ามกลางภาวะวิกฤตของทรัพยากรธรรมชาติในยุคนี้ โดยได้รับเกียรติจาก นางณิทฐา แสวงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด ภายใต้โครงการเยาวชนรักษ์น้ำ รักษ์ป่า ครั้งที่ 5 ประจำปี 2562 เพื่อสานต่อกิจกรรมชวนน้องทำดีวันอาทิตย์

สำหรับสถานที่ที่กลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสาได้รวมตัวกันทำกิจกรรมในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณเทือกเขาถ้ำแรด (เขาควนเหมียง) แหล่งป่าอนุรักษ์ชื่อดัง ซึ่งกำลังมีปัญหาคัดค้านจากชาวบ้านหมู่ที่ 1 ประมาณ 130 ครัวเรือน หมู่ที่ 3 ประมาณ 150 ครัวเรือน และหมู่ที่ 5 บางส่วน กรณีที่มีนายทุนยื่นเรื่องเพื่อขอทำสัมปทานระเบิดหิน เพราะหลายคนเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นจุดที่กลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสาเดินทางไปทำกิจกรรมในทุกๆ ปี และต่อเนื่องกันมายาวนานถึง 5 ปีแล้ว เนื่องจากหลายคนเกิดความรู้สึกหวงแหน โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสเข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิด

ผืนป่าแห่งนี้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้เดินเท้าเข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติในหลายแง่หลายมุมที่น่าสนใจ ซึ่งนอกเหนือไปจาก “ถ้ำแรด” ที่กำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคตข้างหน้าแล้ว หลังจากลัดเลาะไปตามร่มเงาของป่ายางพาราแล้ว ยังได้พบกับ “ถ้ำหน้าผึ้ง” ซึ่งแต่ละปีจะมีผึ้งมาทำรังบริเวณหน้าผา 20-30 รัง โดยแต่ละรังให้น้ำผึ้งประมาณ 30 ขวด และเมื่อเดินขึ้นไปตามแนวเขาหินปูนที่มีความสูงชัน และอากาศค่อนข้างเย็น เนื่องจากเป็นป่าดิบชื้น ก็จะพบไม้น้อยใหญ่นานาชนิด เช่น ตะเคียนหิน ดงพญาเย็น รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆ และยังพบร่องรอยของสัตว์อีกหลายชนิดด้วย เช่น เลียงผา หมูป่า ลิง

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของเทือกเขาถ้ำแรด ก็คือ “ถ้ำหินงอกหินย้อย” ซึ่งนอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม บางส่วนของผืนป่าก็เริ่มถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสวนยาง และสวนผลไม้ รวมทั้งมีการตัดโค่นหรือทำลายในหลายรูปแบบ นั่นจึงเป็นที่มาสำหรับการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อปกป้อง และคืนสภาพความสมบูรณ์กลับมา โดยการดึงกลุ่มเด็กและเยาวชนจิตอาสา ตลอดจนผู้คนจากภายนอกพื้นที่ เช่น พระสงฆ์ ครู เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ให้เข้ามาเรียนรู้ และสัมผัสความจริงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนผืนป่าแห่งนี้ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น