คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
เกือบศตวรรษแล้วที่สังคมไทยเพรียกหา “ระบอบประชาธิปไตยแบบอารยะ” นับตั้งแต่การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน ผ่านวิบากกรรมทางการเมืองต่างๆ นานา ผ่านวงจรอุบาทว์วงแล้ววงเล่า ผ่านการยึดอำนาจและการสถาปนารัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่ดูเหมือนว่าเราจะยิ่งถอยห่างจากความเป็นประชาธิปไตย หรือระบอบเหตุผลนิยมออกไปทุกที แต่กลับใกล้ชิดกับความเป็น “อำนาจนิยม” ภายใต้ “ระบบอุปถัมภ์” แบบล้าหลังมากขึ้นทุกที
เราเปลี่ยนแต่กลุ่มบุคคลผู้กุมอำนาจ และวาทกรรมในการต่อสู้ที่ดูว่าน่านิยมยกย่อง แต่มักไร้ประโยชน์ เพราะเป็นแค่วาทกรรมแบบลวงโลก
ในสังคมอำนาจนิยม ประชาชนมักให้การยอมรับนับถือ พินอบพิเทากับผู้มีอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ เพราะผู้มีอำนาจมักไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี หรือความถูกต้อง
แต่ยึดเอาความพึงพอใจและผลประโยชน์เฉพาะตนและพรรคพวกเป็นสำคัญในทุกระบบหรือวงการ ทั้งโดยการสืบทอดและการสถาปนาในระบบราชการ
สังคมอำนาจนิยมจึงสร้างระบบอุปถัมภ์ที่ล้าหลัง แต่เข้มแข็งยิ่งขึ้นมาก ระหว่างผู้มีอำนาจ ซึ่งสถาปนาตัวเองเป็นผู้อุปถัมภ์ และผู้ไม่มีอำนาจหรือด้อยโอกาสที่ยอมลดตนลงเป็นผู้รับอุปถัมภ์ และพร้อมจะตอบสนองความต้องการของฝ่ายอุปถัมภ์อย่างซื่อสัตย์สุจริตยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากสาวกทางการเมืองที่ออกมาปกป้องผู้อุปถัมภ์ด้วยชีวิตจนวาระสุดท้ายในทุกวิถีทาง แม้แต่ระดับนักวิชาการ ปัญญาชนของประเทศ
ระบบอุปถัมภ์เริ่มมีตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ มันสอดแทรกอยู่ในทุกวงการ ทุกระดับ ทั้งสายพลเรือน ทหาร และไม่เว้นแม้แต่ในสายสมณศักดิ์ของผู้นำทางศาสนา
วัฒนธรรมการฝากลูกฝากหลานเข้าเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับอุดมศึกษา เรียนจบแล้วฝากเข้าทำงาน เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานเพื่อความก้าวหน้าที่เหนือกว่าคนอื่น ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร และเอกชน หรือสมณศักดิ์ ล้วนอาศัยระบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์แบบล้าหลังทั้งสิ้น
ในหลายวงการ โดยเฉพาะวงการตำรวจและนักปกครอง แม้จะมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ใช้บริการมากมายเพียงไหน แต่หากไม่มีเส้นสายการฝากฝังผ่านระบบอำนาจและอุปถัมภ์ ก็อย่าหวังว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ได้เป็นสารวัตร นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดในชาตินี้
ดังคำกล่าวที่ว่า “ลูกท่านหลานเธอ” หรือ “ลูกศิษย์สมภาร หลานเจ้าอาวาส” หรือ “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” เป็นต้น
กระบวนการเข้าสู่อำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนชุดปัจจุบัน ที่มาตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกรัฐสภา สะท้อนทั้งความเป็นอำนาจนิยม และระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ล้าหลังกว่าชาติไหนในโลกอีกต่างหาก
เนื่องจาก ส.ว.ทั้ง 250 คนมาจากการสรรหาและแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจ และ ส.ว.เหล่านี้ในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสิทธิโหวตเลือกหรือรับรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับ 2 สมัยรัฐบาล
และจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตามที “หัวหน้า คสช.” กลายเป็นผู้ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองบางพรรคให้ได้รับการพิจารณาเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปด้วย
จึงกลายเป็นข้อครหาว่าเป็นการวางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างไม่สง่างามของทั้งผู้ถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ยกมือสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคือ ส.ว.ทั้ง 250 คนโดยปริยาย
ความจริงความเป็นอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายด้วยตัวของมันเอง มิหนำซ้ำมันกลับเป็นสิ่งดีเสียอีก ถ้าผู้มีอำนาจและผู้อุปถัมภ์ใช้อำนาจไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง วงศาคณาญาติ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่และเป็นมา
การที่ รมต. และ สนช. หลายคนได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว.ชุดต่อไป จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีที่มาที่ไปที่ไม่สง่างาม เพราะไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังให้อำนาจไปทำหน้าที่สำคัญเท่าเทียมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปของประชาชน ในการโหวตรับรองหรือเลือกคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ยิ่งคนที่ถูกสรรหาเลือกมาเป็น ส.ว. มีพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่สมประกอบ ไม่คู่ควรกับการทำหน้าที่อันทรงเกียรติ และรับค่าตอบแทนเงินเดือนจากภาษีของประชาชนที่สูงยิ่ง เช่น สมัยเป็น สนช./รมต. ขาดประชุมบ่อย มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่โปร่งใส และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมอีกทั้งเป็นเครือญาติกับผู้มีอำนาจ
ยิ่งสร้าง “ความไม่ชอบธรรม” ให้แก่ “ระบบอำนาจนิยม” และ “ระบบอุปถัมภ์” แบบล้าหลัง จนยากจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป ทั้งในระยะสั้นและระยาว
และกำลังจะกลายเป็น “กรวดในรองเท้า” ของผู้มีอำนาจตลอดไปทุกสมัยอย่างน่าเสียดาย.