xs
xsm
sm
md
lg

ประมงพื้นบ้านใช้วิธี “ดูหลำ” ภูมิปัญญาดำน้ำฟังเสียงปลาจากบรรพบุรุษออกจับปลาในทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวประมงพื้นบ้านใน ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา สืบทอดวิถีการทำประมงด้วยวิธี “ดูหลำ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของลูกชาวเลตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยการดำน้ำฟังเสียงปลาเพื่อทราบจุดที่ฝูงปลาอาศัยอยู่ได้อย่างแม่นยำ

วันนี้ (9 พ.ค.) ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่หมู่ 5 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ยังคงใช้วิธีหาปลาที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดามาจากพรรพบุรุษ ซึ่งเรียกกันตามประสาท้องถิ่นว่า “ดูหลำ” ซึ่งเป็นการฟังเสียงปลา เพื่อทราบตำแหน่งของปลาในทะเล.และนำแหนำอวนไปดักจับ

สำหรับการจับปลาด้วยวิชา “ดูหลำ” ชาวประมงจะเริ่มออกเรือตั้งแต่เช้าตรู่ครั้งละ 3-4 ลำ ไปยังจุดที่คาดว่าน่าจะมีปลาชุกชุม เรือทุกลำจะพร้อมอยู่ในจุดลงอวน และดับเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้ปลาตกใจ จากนั้นคนที่ทำหน้าที่ “ดูหลำ” จะเอาเรือพายลงและดำน้ำฟังหาเสียงปลาด้วยความชำนาญ และประสบการณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน ซึ่งจะรู้ว่าฝูงปลาที่ได้ยินนั้นว่ายอยู่ทางทิศใด
 

 
ซึ่งหากได้ยินเสียงปลาคนที่ทำหน้าที่ “ดำหลำ” ก็จะส่งสัญญาณด้วยการชูไม้พายเรือขึ้น เพื่อให้เรือลำอื่นทราบ และพายเรือไปตามเสียงในทิศทางที่ได้ยิน และเมื่อมาถึงจุดที่ฝูงปลาอยู่หนาแน่น “ดูหลำ” จะให้สัญญาณโดยการใช้มือสาดน้ำ เพื่อให้เรือที่ลอยอยู่บริเวณรอบๆ ทำการล้อมอวนเป็นวงกลมเพื่อจับปลา และเมื่อเรือทุกลำวางอวนเสร็จ จะใช้ไม้พายจุ่มลงไปในน้ำแล้วเคาะไม้ไล่ปลาให้แตกตื่นเพื่อที่จะวิ่งเข้าหาอวน และแต่ละลำก็จะสาวอวนขึ้นมาพร้อมกับปลาที่จับได้

ทั้งนี้ การจับปลาด้วยวิธี “ดูหลำ” จะออกเรือไปครั้งละ 3-4 ลำ โดยใช้ดูหลำ 1 คน โดยเรือแต่ละลำจะต้องแบ่งรายได้จากการขายปลาที่จับได้ให้ “ดูหลำ” 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ยังคงเชื่อมั่นกับวิธีการหาปลาด้วย “ดูหลำ” ซึ่งสามารถหาปลาได้มากกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ ใน ต.ตลิงชั่น ยังมีคนที่มีวิชาดูหลำหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน ที่ยังคงอนุรักษ์และพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชา “ดูหลำ” ให้แก่ชาวประมงรุ่นลูกและรุ่นหลานให้อยู่สืบต่อไป
 





กำลังโหลดความคิดเห็น