สตูล - ชาวอูรักลาโว้ยทำการแสดง “รองเง็งชาวเล” ซึ่งเป็นการแสดงที่กำลังจะสูญหายให้นักท่องเที่ยวได้รับชม หวังช่วยอนุรักษ์รากเหง้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ชาวเล
เยาวชนชาวอูรักลาโว้ย บนเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล กำลังช่วยกันแต่งหน้าทาปากเพื่อเตรียมตัวแสดง “รองเง็ง” การแสดงพื้นบ้านของชาวเลที่กำลังจะสูญหายไปให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
น.ส.แสงโสม หาญทะเล ครูชาวเลโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง บอกว่า การแสดงศิลปวัฒนธรรมรองเง็ง เป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ชาวเล ใน 3 จังหวัดทั้ง จ.สตูล ภูเก็ต และ จ.กระบี่ โดยใช้ภาษามลายูขับร้องเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของผู้คนบนเกาะ อย่าง “เพลงระบำผักบุ้งที่แปลเป็นภาษาไทย บอกเล่าเกี่ยวกับสตรีที่ออกไปเก็บผักบุ้งมาทำกับข้าวให้สามี แต่มัวแต่เต้นระบำไม่ได้ผักบุ้งกลับมา ตกตอนเย็นก็กินแต่ข้าวเปล่า”
โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง (บนเกาะหลีเป๊ะ) จะเป็นแกนหลักในการบ่มเพาะเด็กๆ ชาวเลให้ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง ด้วยการจัดตั้งหลักสูตรอัตลักษณ์ให้รู้ความเป็นตัวตนของตัวเอง โดยบ่มเพาะตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กๆ ต้องสืบสานศิลปวัฒนธรรมชาวเลได้
นางแส้หนา เกาะสิเร๊ะ นักร้องนำรองเง็งชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อายุ 73 ปี ยอมรับว่า เวลาที่ล่วงเลยทำให้การแสดงรองเง็งของชาวเลเริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา เยาวชนชาวเลไม่ค่อยสนใจมากนัก โชคดีที่ยังมีโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง พยายามสอน และผลักดันในเด็กๆ เหล่านี้ได้แสดงระบำรองเง็ง บางคนตีกลองรำมะนาได้ เครื่องมือบางชิ้นอย่างไวโอลินก็เริ่มหายไป
ส่วนใหญ่การแสดงรองเง็งจะแสดงเฉพาะงานประเพณีลอยเรือ งานแก้บน ปัจจุบันโรงแรม รีสอร์ต ต่างเรียกใช้บริการให้นักท่องเที่ยวชม และร่วมสนุกกับการแสดงรองเง็งของชาวเลได้อย่างเป็นกันเอง ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กๆ จะรับจ้างแสดงตามรีสอร์ต ตามผู้ประกอบการ ค่าจ้างครั้งละ 2,000-3,000 บาท หากเป็นวงใหญ่ครบชุด 10,000 บาท นำมาเป็นค่าชุดค่าแรงได้