xs
xsm
sm
md
lg

อย่ามองข้ามเคล็ดวิชาใหม่ใต้เงา “ม.44” ที่สร้างแลนด์สไลด์ให้ “ปชป.” พ่ายยับ!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
รายงานโดย... ศูนย์ข่าวภาคใต้
 

ผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์
ภายหลังผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการปรากฏออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า พรรคเก่าแก่ที่ยกตนว่าเป็นเหมือนสถาบันการเมืองไทย เพราะมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาอย่างยาวนานคือ “พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)” พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปหนนี้แบบฟ้าถล่มแผนดินทลายก็มิปาน
 .
เนื่องเพราะในพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” พรรคประชาธิปัตย์เคยครองแชมป์มีจำนวน ส.ส.เขตมากสุดต่อเนื่องมาหลายปี แต่หลังการเลือกตั้งครั้งนี้กลับมีอันต้องถูกกุดหัวให้ “สูญพันธุ์” ไปทั้ง 30 เขตเลือกตั้ง ขณะที่พื้นที่ “ภาคใต้” ก็แทบจะกวาดเรียบมติดต่อกันมาหลายยุคสมัย แต่เวลานี้ 50 เขตเลือกตั้งบนแผ่นดินด้ามขวานกลับรักษาไว้ได้ไม่ถึงครึ่งเหลือเพียง 22 เก้าอี้เท่านั้น
พรรคประชาธิปัตย์ประกาศ ปฏิญญาทุ่งสง
แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะยังไม่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ผลจากการเลือกตั้งครานี้ พรรคประชาธิปัตย์จะเหลือ ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อเพียงระดับเกินครึ่งร้อยมาเล็กน้อยเท่านั้น จน “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ต้องกล้ำกลืนน้ำตาคลอกล่าวลาจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในช่วงค่ำของคืนวันเลือกตั้งอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาเลยทีเดียว เพื่อทำตามสัญญาประกาศไว้กับประชาชนว่า หากพรรคได้ ส.ส.ต่ำร้อยตนจะลาออก
 
หลายคนก็ตั้งคำถามกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “พรรคประชาธิปัตย์”?!
ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ อดีตหัวหน้าพรรค
สำหรับภาคใต้ถือเป็นฐานคะแนนเสียงหลักของค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยต้องนับว่าเป็นขวัญใจแม่ยกพ่อยกสายเลือดสะตอมาอย่างยาวนาน พรรคนี้เคยกวาดที่นั่งมาได้เกือบทุกเขตในการเลือกตั้ง ส.ส.หลากครั้งหลายครา จนมีคำพูดล้อเลียนกันว่าในพื้นที่ภาคใต้หาก ปชป.ส่ง “เสาไฟฟ้าลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.” หรือมีคำพูดที่เคยติดปากคนปักษ์ใต้เสมอมาว่า “พรรคของเรา คนของเรา” โดยเฉพาะมี “นายหัวชวน-ชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรค ผู้เป็นเหมือนอดีตเจ้าอาวาสที่มากมนต์ขลัง เพียงใช้กำลังภายในไม่ต้องมากก็เรียกคะแนนเสียงได้อย่างท่วมท้น
 
แต่เมื่อผลการเลือกตั้งหนล่าสุดแย้มพรายออกมา ปรากฏว่าบนแผ่นดินด้ามขวาน “เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด” แม้กระทั่ง “อดีต ส.ส.มากชื่อชั้น” หลายคนยังสอบตกแบบคะแนนทิ้งห่างน่าใจหาย อย่างในพื้นที่ จ.ตรัง ที่จะว่าเป็นเหมือนเมืองหลวงของ ปชป.บนแผ่นดินภาคใต้ก็ว่าได้ เพราะ “นายหัวชวน” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย นั่งรัฐมนตรีมาแล้วก็หลายกระทรวง นอกจากจะผูกขาดความเป็นมา ส.ส.ตรังมาต่อเนื่อง เมื่อวางมือให้กับคนอื่นๆ บารมีที่มากล้นก็ยังทำให้รักษาเก้าอี้ ส.ส.ตรังไว้ได้ แต่จากการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ ปชป.ส่ง “นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์” อดีต ส.ส.ตรังหลายสมัยลงชิงชัยในเขต 1 จ.ตรัง ซึ่งเป็นเหมือนกล่องดวงใจก็ยังถูกทุบแตกยับเยิน
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้
หรืออย่างที่ จ.สงขลา บ้านเกิดของ “นิพนธ์ บุญญามณี” นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อดีต ส.ส.สงขลาผูกขาดหลายสมัย ที่เวลานี้รั้งตำแหน่งเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รอบนี้ส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “สรรเพชญ บุญญามณี” ลงสมัครก็ปิ๋ว หรือ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคที่ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพภาคใต้ อดีต ส.ส.ผูกขาดในพื้นที่ จ.พัทลุง แม้จะลงเลือกตั้งเองก็ยังพ่ายหมดรูป มิพักต้องพูดถึงจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นหน้าด่านสำคัญของ ปชป.แค่ไหนก็ตามอย่างที่ จ.นครศรีธรรมราช จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.ระนอง และ จ.สตูล เป็นต้น
 
หลายคนมองว่าความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์มาจากหลากหลายปัจจัย ทั้ง “ฮ่องกง เอฟเฟกต์” ภาพบรรยากาศในงานแต่งงานลูกสาวสุดที่รักของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ทำให้ “คนกลัวทักษิณ” เทคะแนนไปให้ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพื่อให้อยู่ต่อเพื่อที่จะได้ช่วยจัดการ “ผีทักษิณ” เพราะ “เดอะมาร์ค” ประกาศเอาไว้ชัดแล้วว่า ไม่สนับสนุน “ลุงตู่” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ น่าจะส่งผลต่อคนที่อยากให้ลุงตู่อยู่ต่อ ตัดสินใจไม่เทคะแนนให้ค่ายพระแม่ธรณีมวยผม แต่ส่งตรงไปที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ชง พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทน
ถาวร เสนเนียม อดีตรองเลขาธิการพรรค ว่าที่ ส.ส.สงขลา
รวมทั้งความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคเอง อันเป็นผลจากศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปลายปี 2561 ที่มีกลุ่มก้อนภายในพรรคภายใต้การนำของ “หลวงวร-ถาวร เสนเนียม” อดีตรองเลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย โดยมีเงาทะมึนของ “ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการพรรคและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่หันไปเอาดีทางการจัดม็อบชน “ระบอบทักษิณ” ในฐานะประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ได้จัดทัพส่ง “หมอวรงค์-นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลกผู้สร้างชื่อจากการเปิดโปงโครงการจำนวนข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงชิงชัยเพื่อหวังโค่น “อภิสิทธิ์” แล้วยึดพรรคไปครอง แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จส่งผลให้มีการ “เช็คบิล” กันในศึกการเลือกตั้ง ส.ส.หนล่าสุด
พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
กระทั่ง “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เองยังกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ระยะหลังๆ ที่พรรคได้คะแนนจากการเลือกตั้ง ส.ส.น้อยมาก เพราะขาดความเป็นเอกภาพ มีแต่ความขัดแย้งกันเองภายใน เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันกัน แล้วจะไปหวังสู้คนอื่นได้อย่างไร
 
สิ่งที่ผู้อาวุโสเคยมากบารมีในพรรคพูดถึงนั้น มีปรากฏการณ์ยืนยันชัดเจน อาทิ การส่งผู้ลงสมัครใน จ.สงขลา โดยเฉพาะในเขต 1 ที่พื้นที่เดิมเป็นของ “เจือ ราชสีห์” อดีต ส.ส. 4 สมัย แต่ด้วยภาพของการเป็นคนของกลุ่ม “ลุงกำนัน-ถาวร” จึงเกิดกระบวนการเขี่ยให้ไปอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หมดลุ้นได้เป็น ส.ส. แล้วส่งลูกชายของ “นิพนธ์” ผู้เป็นรองหัวหน้าพรรคใกล้ชิดกลุ่ม “อภิสิทธิ์” ลงสมัครแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เจือ” แพ้การเลือกตั้งไพมารีของพรรคในพื้นที่ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่านี่คือการ “เช็คบิล” เชือดคนในกลุ่มหนุน “หมอวรงค์”
 
นอกจากนี้ยังมีอาการ “เบื่อ” ของเก่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และคนรุ่นอายุ 40 ปีลงมา แต่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องการของใหม่อย่าง “พรรคอนาคตใหม่” เข้ามาทำหน้าที่แทน “พรรคเก่าแก่” ที่อยู่มานาน แต่พวกเขามองว่า ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่เท่าที่ควร
นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายก อบจ.สงขลา
ยิ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดันหัวหน้า คสช.ขึ้นนั่งนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลทอปบู๊ตกุมบังเหียนประเทศ แล้วประกาศห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและประชาชนดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อใด ทำให้อดีต ส.ส.หลายคนเกิดอาการ “ห่างพื้นที่” บ้างก็ “ขาลอย” ชื่ออยู่ใต้ แต่ตัวอยู่กรุงเทพฯ พอมีการประกาศวันเวลาเลือกตั้งที่ชัดเจนก็เหลือกเวลาให้ทำงานเรียกคะแนนเสียงพื้นที่ไม่นานนัก พอกลับไปยกมือไหว้ขอคะแนนชาวบ้านก็บ่นกันว่า “ที่ผ่านมาหายไปไหนมา” ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ล้วนราคาตกต่ำจนใจหายมาไม่รู้นานแค่ไหนแล้ว พอเลือกตั้งก็ยังกล้าแห่มาบอกว่าจะทำให้ราคาสูงขึ้นอีกหรือ

อย่างไรก็ตามยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปแบบไม่ใส่ใจเลยคือ มีหลายคนเชื่อว่ามีการใช้ฐานเสียงของ “นักการเมืองท้องถิ่น” หรือในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หรือ “ข้าราชการที่อยู่ติดพื้นที่” ที่สะสมบารมีมานานพอสมควร โดยนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งผ่านการใช้อำนาจตาม “มาตร 44” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ คสช.ปลุกปั้นสร้างขึ้นมา?!
 
ถือเป็น “สุดยอดเคล็ดวิชา” ที่แสนจะลึกล้ำ ซึ่งไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในตำรายุทธจักรการเมืองฉบับไหนๆ หากเป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ภายใต้ปีกโอบของรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ส่วนเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ หรือมีผลมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่สังคมต้องช่วยกันขบคิดก็เท่านั้น!!
 
มีการมองเรื่องที่มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ต่ออายุลมหายใจ อปท.จำนวน 7,852 แห่งในการทำหน้าที่รักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ที่ว่ากันว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.2562 โดย ม.44 ที่ พล.อ.ประยุทธ์มีอยู่ในมือยังมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายตำแหน่งของนักการเมืองท้องถิ่นได้อยู่ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
 
ที่ผ่านมาก็มีการใช้ ม.44 “แช่แข็ง” บรรดานักการเมืองท้องถิ่นหลายครั้ง ในหลายพื้นที่ ด้วยเหตุผลว่าบุคคลเหล่านี้อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ แล้วมีการใช้ ม.44 “ปลดล็อก” บุคคลเหล่านี้ในช่วงปลายปี 2561 ก่อนที่จะเห็นนักการเมืองท้องถิ่นหลายคนพากันแห่เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง บางคนได้รับตำแหน่ง บางคนก็ประกาศจะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคการเมืองนั้น
เชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช ภาพจากเฟซบุ๊กศูนย์ประชาสัมพันธ์ สำนักงานเทศบาลนครนครศรีธรรมราช
ปรากฏการณ์นี้มีตัวอย่างที่ชี้ชัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ นักการเมืองท้องถิ่นที่ถูก ม.44 แช่แข็งก็เช่น “เชาวน์วัศ เสนพงศ์” นายกเทศมนตรีนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ผู้เป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของ “เทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ที่ล่าสุดนี้ก็ยังสามารถรักษาตำแหน่ง ส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราชไว้ได้
อภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง
หรืออย่าง “อภิชิต วิโนทัย” นายกเทศมนตรีนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งลงสมัครนายกเทศมนตรีโดยอ้างว่า ได้รับการสนับสนุนจาก “ระลึก หลีกภัย” น้องชาย “นายหัวชวน” ซึ่งสอดคล้องกับการที่ก่อนการเลือกตั้งไม่นาน กกต.ก็มีมติที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองท้องถิ่นให้การแนะนำหรือช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส.ในการหาเสียงช่วงเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้! ทำให้มีการมองกันว่า บรรดานักการเมืองท้องถิ่นหลายคนที่ตบเท้าเข้า “บางพรรค” ไปก่อนหน้านี้ นั่นจะกลายเป็น “ฐานเสียง” ที่สำคัญให้พรรคดังกล่าวนั้นไปทันที
 
ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังมีให้เห็นในอีกหลายสนามเลือกตั้ง ส.ส.ในทั่วประเทศ ที่เด่นชัดและเป็นที่โจษขานมากที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของคนใน “ตระกูลคุณปลื้ม” ที่ จ.ชลบุรี มิพักต้องพูดถึงในสนามเลือกตั้งของจังหวัดอื่นๆ อีกมากมายที่ถูกทำให้เกิดปรากฏการณ์เฉกเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ฉะเชิงเทรา ประทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครราชสีมา เลย สกลนคร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มุกดาหาร น่าน แพร่ เชียงรายและเชียงใหม่ เป็นต้น
 
หากส่องสนามเลือกตั้งภาคใต้ก็ไม่น้อยหน้า อาทิ ที่ จ.ตรัง “นิพันธ์ ศิริธร” ว่าที่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตรอง ผวจ.ตรัง ที่อยู่ติดพื้นที่มากว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนายอำเภอเมืองตรัง และที่ จ.พัทลุง มี 2 คน ในเขต 1 “ภูมิศิษฐ์ คงมี” จากพรรคภูมิใจไทย อดีตรองนายก อบจ.พัทลุง และ เขต 2 “ฉลอง เทิดวีระพงศ์” จากพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน อดีตปลัดจังหวัดพัทลุง ที่ลาออกจากตำแหน่งมาสมัคร ส.ส.โดยเฉพาะ

จ.สตูล เขต 1 “พิบูลย์ รัชกิจประการ” จากพรรคภูมิใจไทย อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสตูลหลายสมัย น้องชาย “โกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ผู้เป็นสามี “นาที รัชกิจประการ” กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ที่ก่อนการเลือกตั้ง “โกเกี๊ยะ” กวาดเอาหัวคะแนนและประธานสาขาของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาช่วยงาน และเขต 2 “วรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์” บุตรชาย “โกเกียรติ-สมเกียรติ เลียงประสิทธิ์” นักธุรกิจใหญ่ผู้มากบารมีแห่งเมืองสตูล แถมยังเป็นเพื่อนรัก “โกเกี๊ยะ” อีกทั้ง “วรศิษฏ์” ก็ยังเป็นหลานชายของ “โกเตี่ยน-สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์” ที่เวลานี้นั่งแท่นเป็นนายก อบจ.สตูลอยู่ ซึ่งเคยเป็นหัวคะแนนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนเช่นกัน
 
และที่ จ.นราธิวาส “วัชระ ยาวอหะซัน” จากพลังประชารัฐ อดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้เป็นลูกชายคนรองของ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” อดีตนายก อบจ.นราธิวาส 3 สมัย ในเขต 1 และ “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” หรือ “บีลา มะดาโอ๊ะ” จากพรรคพลังประชารัฐ อดีต ส.ท.เมืองสุไหงโก-ลก ในเขต 2 เป็นต้น
ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ยอดพล เทพสิทธา” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นไว้ว่า ก่อนหน้านี้มีนักการเมืองท้องถิ่นถูกแขวนด้วย ม.44 แต่พอปลดล็อกก็เห็นว่ามีหลายคนไปขึ้นเวทีให้ “พรรคพลังประชารัฐ” และแคนดิเคตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเพียงคนเดียวก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผู้ที่มีอำนาจตาม ม.44 อยู่ในมือ
 
“หมายความว่าถ้าสมาชิกสภาท้องถิ่นหลายแห่งไปสนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นขั้วตรงกันข้ามกับ คสช. หัวหน้า คสช.หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเดียวกันก็ใช้ ม.44 พักงานคนเหล่านี้ได้ ดังนั้นพรรคที่มีอำนาจรัฐมากจะได้เปรียบ ส่วนพรรคทีเสียเปรียบคือ แทบทุกพรรคที่ไม่ได้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์”
 
ดังนั้นการที่ พล.อ.ประยุทธ์มี ม.44 ในมือที่จะใช้แช่แข็ง หรืออาจจะสั่งปลดนักการเมืองท้องถิ่นได้ จึงไม่อาจจะมองข้ามได้ว่า นี่คืออีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สูญเสียฐานเสียงที่สำคัญไปจำนวนมาก
 


กำลังโหลดความคิดเห็น