xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” จี้ยุติการเก็บ และให้ทำลาย “สารพันธุกรรม” ของผู้เข้ารับเกณฑ์ทหารใน จชต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ออกแถลงการณ์จี้ขอให้ยุติการเก็บ และให้ทำลาย “สารพันธุกรรม” ของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่ชายแดนใต้ แสดงความเคารพในสิทธิส่วนตัวของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร

จากข่าวการตรวจเปรียบเทียบสารพันธุกรรม DNA ของชายไทยที่เข้ารับตรวจเลือกเพื่อเกณฑ์ทหาร ประจำปี 2562 ปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งมีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ จึงทำให้สังคมให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ล่าสุด วันนี้ (9 เม.ย.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์ : ขอให้ยุติการเก็บและให้ทำลายสารพันธุกรรมของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่ชายแดนใต้

จากรายงานข่าวและการร้องเรียนมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2562 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา โดยศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ส่วนหน้า ได้ประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า เป็นการเก็บมาไว้ในฐานข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพิสูจน์หลักฐานเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่

จากการลงพื้นที่ของอาสาสมัครเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว พบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยงานรัฐบางแห่งได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) จริงโดยใช้วิธีเก็บเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้มทั้งสองข้างของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารและจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้ไว้ในกล่องกระดาษ แล้วเขียนชื่อเจ้าของดีเอ็นเอพร้อมให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อกำกับไว้ มีผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารบางรายได้ให้ข้อมูลแก่อาสาสมัครว่าเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนปกติตามกฎหมายในการเกณฑ์ทหาร บางคนแม้ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เก็บดีเอ็นเอของตน แต่จำใจต้องลงชื่อในใบให้ความยินยอมเนื่องจากเกรงกลัวเจ้าหน้าที่

ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารหลายคนที่ให้ข้อมูลแก่อาสาสมัครของมูลนิธิฯ กล่าวว่า พวกตนไม่ได้รับการแจ้งว่าเจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างดีเอ็นเอของพวกตนไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด เอาไปทำอะไร อย่างไร ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บรักษา จะเก็บอย่างไร ใครจะสามารถเข้าถึงหรือใช้ตัวอย่างดีเอ็นเอของพวกตนได้อย่างไร จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิดหรือกลั่นแกล้งพวกตนหรือไม่ นอกจากนั้น ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่ได้ลงลายมือชื่อยินยอมให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไปโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าพวกตนมีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ (Prior Informed Consent-PIC) ทำให้พวกตนไม่กล้าปฏิเสธเพราะเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไว้หรือจำยอมให้เก็บด้วยความหวาดกลัว

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความเห็นว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในชีวิตเนื้อตัวร่างกายและสิทธิในความเป็นส่วนตัว รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของตนที่บุคคลอื่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจล่วงละเมิดได้ การจัดเก็บดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารใน จชต. โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้นเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำได้ โดยเฉพาะการจัดเก็บโดยระบุชื่อของเจ้าของดีเอ็นเอไว้ที่กล่องอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสามารถเข้าถึงข้อมูลดีเอ็นเออันเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของดีเอ็นเอได้ และอาจเปิดช่องให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ อย่างมีอคติ และเป็นผลร้ายต่อเจ้าของดีเอ็นเอ

กระบวนการเก็บและรักษาดีเอ็นเอเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบถึงสิทธิของบุคคล การดำเนินการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในลักษณะเช่นนี้ ทำให้สงสัยว่าจะเป็นการดำเนินการที่ขัดต่ิ “กฎแห่งห่วงโซ่การดูแลพยานหลักฐาน” (Chain of Custody-CoC) ที่จะต้องดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย มีวิชาชีพ มีจริยธรรม โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ มีการควบคุมการเข้าถึง การส่งต่อ รับมอบ เก็บรักษา การตรวจพิสูจน์ และการส่งและใช้ผลการตรวจพิสูจน์ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระต่อกัน และมีการลงชื่อเจ้าหน้าที่ไว้ทุกขั้นตอน ทั้งมีมาตรการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้บุคคลใดนำข้อมูลไปใช้โดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจัดเก็บโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในกรณีนี้อาจเปิดโอกาสให้มีการนำดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารไปใช้เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบการดำเนินคดีต่อบุคคลโดยไม่ชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย หรือกลั่นแกล้งบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ รวมทั้งการดำเนินคดีในข้อหาความผิดร้ายแรงที่บางคดีอาจมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต เจ้าหน้าที่รัฐจึงควรคำนึงถึงหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สื่อสารต่อสาธารณะในการเก็บดีเอ็นเอจากผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารว่า “สำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ตรวจ มีกฎหมายอยู่ตัวหนึ่ง คือ กม. มาตรา 131/1 ป.วิอาญา อันนี้จะเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน เพื่อจะต้องพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้ตรวจดีเอ็นเอ ให้สันนิษฐานว่าผลเป็นไปตามตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหา เมื่อคุณไม่ให้ตรวจก็แสดงว่าคุณเป็นคนร้าย คุณมีอะไรทำไมถึงไม่ให้ตรวจ”

ข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย ซึ่งความจริงการเก็บดีเอ็นเอของบุคคลจะดำเนินการได้เมื่อมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น โดยจะดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนต่อผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131/1 เท่านั้น ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเพียงบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้บริสุทธิ์มิใช่ผู้ต้องหาในคดีอาญา การเก็บดีเอ็นเอจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจไว้และเป็นการดำเนินการเกินความจำเป็น นอกจากนี้ การให้ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ ยังอาจสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนในพื้นที่ จชต. ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจำยอมให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของตน

การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารนอกจากเป็นการดำเนินการที่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทางราชการยังเลือกที่จะดำเนินการเฉพาะใน จชต. เท่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะของการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างจากประชากรในพื้นที่ทั่วประเทศ อาจทำให้ประชาชนใน จชต. เกิดความรู้สึกว่า พวกตนล้วนเป็นผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ และถูกเจ้าหน้าที่จ้องเอาผิด การปฏิบัติการเช่นนี้จึงขัดต่อหลักการปฏิบัติที่ดีต่อพลเมือง หลักการสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของกฎหมายไทยและกฎหมายรัฐธรรมนูญ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า รัฐมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำมาซึ่งสันติสุขในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งการจับกุมดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้ใช้ความรุนแรงต่อสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง แต่การดำเนินการต่างๆ ของรัฐจะได้รับผลสำเร็จก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับความเชื่อมั่นและความร่วมมือจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ต้องกระทำการต่างๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย และยอมรับนับถือสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย

การเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารในลักษณะของการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลดังกล่าวข้างต้น อาจมีผลทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติ ถูกปฏิบัติอย่างผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เป็นคนร้าย เกิดความหวั่นเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่บางคนกลั่นแกล้ง โดยนำดีเอ็นเอของตนไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่น ขาดความไว้วางใจที่มีต่อรัฐไปในที่สุด

ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เคารพในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและความเป็นส่วนตัวของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ยึดมั่นในหลักนิติธรรม มีความโปร่งใส โดยขอเรียกร้องให้ยุติการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอนเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และทำลายตัวอย่างสารพันธุกรรมที่ได้เก็บไปแล้วด้วย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น