xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ตรังเปิดเวทีรับฟังปัญหากรณีที่จะมีการสัมปทานระเบิดหินปากแจ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - กอ.รมน.ตรัง เปิดเวทีรับฟังปัญหากรณีที่จะมีการสัมปทานระเบิดหินในพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง แต่ถูกชาวบ้านบางส่วนคัดค้าน ด้านผู้ยื่นขอสัมปทานยันมีความชำนาญในการทำโรงโม่หิน ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมแน่นอน

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.ตรัง นำโดย พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.กอ.รมน.ตรัง ได้นำศูนย์ดำรงธรรมเคลื่อนที่ระดับจังหวัดที่ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของกองทัพบก ไปเปิดเวทีประชุมรับฟังปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่หมู่ที่ 1,3 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จากกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนโรงโม่หินรายใหญ่ในพื้นที่ ยื่นขอประทานบัตรระเบิดหิน บริเวณเขาควนเหมียง-เทือกเขาถ้ำแรด บ้านในเขา หมู่ 1 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด เนื้อที่ประมาณ 96 ไร่ แต่ถูกชาวบ้านต่อต้านคัดค้าน

โดยทางฝ่ายอุตสาหกรรมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตสัมปทานบัตร แต่อยู่ในขั้นตอนที่ 1 ที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดจัดทำรูปแผนที่ ซึ่งเคยถูกชาวบ้านออกมาต่อต้านไปแล้ว เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงยังไม่สามารถจะเริ่มดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ที่เหลือทั้ง 8 ขั้นตอนได้
 

 
ทั้งนี้ ตลอดเวลาของการชี้แจงของแต่ละฝ่าย รวมทั้งของบริษัทผู้ยื่นคำขอสัมปทาน ปรากฏว่าฝ่ายคัดค้านได้ตะโกนและส่งเสียงโห่เป็นระยะ เพราะยืนยันไม่ยอมให้มีการสัมปทานอย่างเด็ดขาด พร้อมให้ตัวแทนจำนวน 3 คน ชี้แจงให้เหตุที่ออกมาคัดค้าน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้สัมปทานระเบิดหิน ไม่มีตัวแทนร่วมแสดงความคิดเห็นถึงเหตุผลในการสนับสนุน

นางละมุน โชติรัตน์ อายุ 70 ปี ตัวแทนชาวบ้านได้ลุกขึ้นพูดให้เหตุผลที่คัดค้านการขอสัมปทานระเบิดหินว่า เพราะต้องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไว้ให้ลูกหลาน และจะไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรังวัดพื้นที่อย่างเด็ดขาด

ขณะที่ นายสมคิด นาเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความขัดแย้งจะเข้ามาพร้อมกับผลประโยชน์ เพราะขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่กำลังแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ทั้งที่เป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งอนาคตหากเรื่องนี้ยังไม่ยุติ ความขัดแย้งรุนแรงจะตามมาอีกมากมาย แต่อยากขอให้ชาวบ้านทั้งหมดนำไปคิดพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
 

 
ด้าน พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.กอ.รมน.ตรัง กล่าวว่า การจัดเวทีประชุมในครั้งนี้ไม่ได้มาหาข้อสรุปใดๆ แต่มาเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงทำความเข้าใจกัน หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

ส่วนจะสามารถให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการรังวัดพื้นที่ได้หรือไม่ ตนเองไม่ทราบ แต่เชื่อว่าหลังจากการพูดคุยกันแล้วในครั้งนี้ สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะการคัดค้านหรืออะไรก็สามารถไปทำได้ในขั้นตอนต่อไป รวมทั้งขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายนรินทร์ เก่งธนะทรัพย์ เจ้าของบริษัทผู้ยื่นขอสัมปทาน กล่าวว่า พอใจกับการที่ทางราชการมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้มีโอกาสมาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ทราบข้อมูลได้รับรู้ และหลังจากนี้จะยอมให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปไปรังวัดพื้นที่ เพราะตนเองดำเนินการไปตามกฎหมายที่รัฐได้ประกาศให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งหินเพื่อการอุตสาหกรรม 

“พร้อมกับยืนยันว่าทางบริษัทมีความชำนาญในการทำโรงโม่หินทุกพื้นที่ และไม่เคยมีปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะมีการบริหารจัดการที่ดี โดยคำนึงถึงความมีส่วนร่วมและการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงโม่กับชุมชนเป็นหลัก พร้อมยินดีให้ชาวบ้านทุกคนไปดูโงงานของจริงใน อ.สิเกา ที่ได้เป็นโรงโม่สีเขียว” นายนรินทร์ เก่งธนะทรัพย์ เจ้าของบริษัทผู้ยื่นขอสัมปทาน กล่าว
 


กำลังโหลดความคิดเห็น