xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ” ยื่นข้อเสนอต่อ รบ.ยกเลิกสร้างเขื่อนทั้งหมด เนื่องใน “วันเขื่อนโลก” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ” พร้อมผู้ได้รับผลกระทบจากทุกเขื่อน ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล สั่งยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด และหยุดการแอบอ้างโครงการพระราชดำริ เนื่องใน “วันเขื่อนโลก”

วันนี้ (20 มี.ค.) ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่มีพื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ และติดตามความเคลื่อนไหวกรณีการแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้อย่างใกล้ชิด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “Chainarong Setthachua” เนื่องในวันวันหยุดเขื่อนโลก โดยระบุว่า...

แถลงการณ์วันหยุดเขื่อนโลก หยุดสร้างเขื่อน หยุดการละเมิด และคุกคามสิทธิของชาวบ้าน สนับสนุนการจัดการน้ำที่ประชาชนมีส่วนร่วม ณ ริมสายน้ำท่าแซะ วันที่ 20 มีนาคม 2562

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเขื่อนทั้งหมดนับหมื่นเขื่อน แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 35 เขื่อน เขื่อนขนาดกลางกว่า 1,000 เขื่อน และเขื่อนขนาดเล็กอีกไม่น้อยกว่า 20,000 เขื่อน แต่ทุกวันนี้เราก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำขาดแคลนอยู่เสมอ การสร้างเขื่อนจึงไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมอีกต่อไป และในสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนนั้นไม่มีอีกแล้ว พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เหลือเพียง น้อยนิดควรได้รับการอนุรักษ์และร่วมกันรักษาพื้นที่เหล่านี้ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ที่ทำกินสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างครอบครัว หากมีการสร้างเขื่อน และชาวบ้านต้องอพยพออกไป จะไปหาที่ดินทำกินตามที่เคยมีก็คงไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น “การสร้างเขื่อน” จึงสร้างความเจ็บปวด วิตกกังวล และการสร้างเขื่อนถือเป็นการ “ทำลายล้าง” ต่อทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อม

นอกจากเขื่อนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนแล้ว การสร้างเขื่อนได้ทำลายป่าไม้หลายหมื่นหลายพันไร่ ผู้คนต้องอพยพโยกย้ายออกไปจากชุมชน ที่ทำกินและวิถีชีวิติดั่งเดิมที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ต้องล่มสลายไป การปิดกั้นแม่น้ำเพื่อสร้างเขื่อนเป็นการทำลายระบบนิเวศน์อย่างร้ายแรง ดังเช่น การสร้าง เขื่อนปากมูนหรือการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ที่พบว่าปลาแม่น้ำโขงหลายชนิดไม่สามารถว่ายน้ำไปวางไข่หรือว่ายอพยพโยกย้ายตามธรรมชาติได้อย่างเสรีอีกต่อไป ทำให้การขยายพันธุ์ปลาลดลงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด
 

 
ในขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐ กรมชลประทาน นักการเมืองในระดับชาติและท้องถิ่นยังมีแผนผลักดันการสร้างเขื่อนในอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ อาทิเช่น การสร้างเขื่อนวังหีบใน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบต่อป่าพื้นที่ชั้น 1A และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ 70 กว่าครัวเรือน เขื่อนคลองสังข์ใน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจากการสร้างเขื่อนกระทูน อ.พิปูน และถูกให้ย้ายมาที่ อ.ทุ่งใหญ่ตามคำสั่งมหาดไทย ในปี 32 แต่โครงการคลองสังข์มีมาตั้งแต่ปี 23 แล้วเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงอพยพชาวบ้านมาอยู่ทั้งที่รู้อยู่แล้ว เขื่อนคลองสังข์ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า 6,800 กว่าไร่ ต้องอพยพโยกย้ายชาวบ้านทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 500 ครอบครัว

และขณะนี้ในพื้นที่มีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและจ่ายค่าเวนคืนไปแล้วบางส่วน ทั้งๆที่ข้อมูลโครงการยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำ การรีบร้อนใช้งบประมาณจนนำมาสู่ความสับสน เกิดปัญหาคาราคาซังกันอยู่ในพื้นที่ เขื่อนเหมืองตะกั่วในจังหวัดพัทลุง การสร้างเขื่อนจะทำลายระบบนิเวศของฝืนป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุง ทำลายวิถีชุมชนคนกับป่า ในพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ และการสร้างอ่างเก็บน้ำไม่เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชน หนำซ้ำเขื่อนยังนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เขื่อนท่าแซะใน อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าอีกกว่า 8,500 ไร่ ต้องอพยพชาวบ้านอีก 700 กว่าครอบครัว

ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมติ ครม.15 ม.ค. 51 ให้มาทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อนดำเนินโครงการแต่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้และมีหลายครั้งที่ชาวบ้าน ในพื้นที่ถูกข่มขู่ คุกคามจากทั้งกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการสร้างเขื่อนในภาคอื่นๆ เช่นเขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนห้วยตั้งในภาคเหนือ เขื่อนหัวนา ศรีสองรัก เขื่อนลำชีบน ในภาคอีสานหรือ ในกรณีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ

เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก พวกเราจึงขอร่วมส่งกำลังใจให้กับพี่น้องผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั่วโลก และขอเป็นกำลังใจแก่นักต่อสู้เรื่องเขื่อนทุกท่าน
 

 
พวกเราในนามกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ และผู้ได้รับผลกระทบจากทุกเขื่อน ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้
1. ยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน โดยรัฐบาลต้องมีการประกาศยกเลิกเขื่อนอย่างเป็นทางการ ผ่านมติ ครม. เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดความเชื่อมั่นและได้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างสงบสุข ไม่ต้องมาคอยวิตกกังวลว่าเขื่อนจะกลับมาอีกวันไหน
2. หยุดการแอบอ้างโครงการพระราชดำริและหยุดบิดเบือนการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อผลักดันการสร้างเขื่อนอีกต่อไป
3. หยุดการละเมิดและคุกคามสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนในทุกกรณี
4. พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราต้องการทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อน การจัดการน้ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ป่าไม้และสิทธิชุมชน การจัดการน้ำที่ชาวบ้าน มีส่วนร่วม ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่และนำไปสู่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง

และพวกเราผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนท่าแซะ เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ เขื่อนรับร่อ ขอประกาศจุดยืนจะต่อต้านเขื่อนแห่งนี้อย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องแม่น้ำ ผืนป่า และชุมชนของเราตลอดไป

แม่น้ำคือชีวิตไม่ใช่ความตาย ปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ

ด้วยจิตรคารวะ
กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำรับรอ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
กลุ่มปกป้องคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช
 






กำลังโหลดความคิดเห็น