xs
xsm
sm
md
lg

เจาะสนามเลือกตั้งสุราษฎร์โค้งสุดท้าย รปช.ของ “ลุงกำนัน”ประลองกำลัง ปชป.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุราษฎร์ธานี - เจาะสนามเลือกตั้ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี โค้งสุดท้าย พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของลุงกำนัน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประลองกำลัง “ปชป” คอการเมืองระบุ ปชป.อาจเสียพื้นที่ 1-2 เขต

สนามการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตสุราษฎร์ธานี มี 6 เขต พรรคประชาธิปัตย์ครอบครองพื้นที่มาโดยตลอด แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตแม่ทัพใหญ่สุราษฎร์ธานี ได้ลาออกจากพรรคไปเป็นผู้นำกลุ่ม กปปส. และเป็นแกนนำก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ในชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแย่งเก้าอี้ ส.ส.กับ พรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

แน่นอนว่า 3 พี่น้องตระกูล “เทือกสุบรรณ” ทั้ง นายสุเทพ นายเชน และธานี จึงต้องย้ายจาก ปชป.มาเข้าสังกัด รปช. ส่วนอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์คนอื่นยังปักหลักอยู่กับพรรคเดิม ฉะนั้น สนามการเมืองเลือกตั้ง ส.ส.ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จึงหลีกหนีไม่พ้นว่าที่ผู้สมัครจาก ปชป. กับอดีต ส.ส.ปชป.ต้องมาเจอกันเอง โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองอื่นอีกหลายพรรคกระโดดลงสู่สนามเลือกตั้ง โดยไม่หวั่นศักดิ์ศรีพรรคใหญ่ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีผู้สมัครลงแข่งขันจำนวน 205 คนแยกเป็นชาย 168 หญิง 37

เขต 1 มีผู้สมัครจำนวน 31 คน พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายภาณุ ศรีบุศยกาญจน์ หรือรองแอ้ม อดีตรองนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานีและอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยนายสุเทพส่ง นายธานี เทือกสุบรรณ หรือกำนันเล็ก อดีต ส.ส.เขต 1 พรรค ปชป.ลงชิงชัย จึงเป็นพื้นที่ที่การแข่งขันสูงเรียกว่า ช้างชนช้าง ในการวัดกำลังของนายสุเทพว่าจะสามารถคุมฐานที่มั่นไว้ได้หรือไม่

โดยที่ก่อนหน้านี้ ”นายธานี เทือกสุบรรณ” เป็นสมาชิกพรรค ปชป.และเป็น ส.ส.เจ้าของพื้นที่เขต 1 ที่ได้รับเลือกตั้งมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ซึ่งศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย นายธานีน้องชายจึงต้องออกพรรค ปชป.มาใส่เสื้อพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลงแข่งขันชิงชัยกับ “นายภาณุ ศรีบุศยกาญจน์” ที่อดีตสวมเสื้อพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย มาลงสมัคร ส.ส.เขต 1 ถึงแม้ว่าฐานเสียงส่วนใหญ่จะเป็นของพรรค ปชป. แต่ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครจาก ปชป.ไม่แน่ว่าจะลอยลำเข้าได้อย่างสบายเหมือนกับการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากตลอดเวลานายธานี เทือกสุบรรณ ได้ทำการเมืองแบบเข้าถึงท้องถิ่น มีผลงานและครองใจฐานเสียงไว้แน่น ดังนั้นการเลือกตั้งเขต 1 สุราษฎร์ธานี อาจจะเป็นการเลือกบุคคลมากกว่าจะเลือกพรรค ซึ่งคอการเมืองหรือสภากาแฟคาดว่า เขต 1 สุราษฎร์ธานี ปชป.อาจจะเสียพื้นที่ให้พรรครวมพลังประชาชาติไทยไปครอบครองในการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 มีผู้สมัครจำนวน 35 ราย พรรคประชาธิปัตย์ส่ง นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี บุตรชาย ประวิช นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.หลายสมัย และเป็นหลานชาย ประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต สส.เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ คนล่าสุด ลงสนามพบกับ นางสาวยอดขวัญ ชุมวาระ นักธุรกิจที่ทำงานการเมืองติดตามสุเทพมานาน

สนามเลือกตั้งเขต 2 ในศึกครั้งนี้ ปชป ค่อนข้างหนักใจ เนื่องจากมีคู่แข่งหลายคน เช่น นายณัฐดนัย หีมทอง หรือ กำนันยศ จากพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นอดีตกำนันดังบนเกาะสมุย และมีฐานเสียงหลักในอำเภอเกาะสมุยและอำเภอเกาะพะงัน นอกจากนั้นยังมี นายปรีชา เพชรรัตน์ หรือ สจ.บ่าว ที่ลงสมัครในนามพรรคพลังท้องถิ่นไท เป็นที่ต้องจับตาเพราะ สจ.บ่าวมีอดีตเป็น ส.อบจ.เจ้าของพื้นที่มีฐานเสียงหนาแน่นทั้งอำเภอดอนสักและอำเภอกาญจนดิษฐ์ นอกจากนั้นคะแนนเสียงของพรรค ปชป.ยังแตกไปให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆที่อดีตเคยเป็นผู้สนับสนุนพรรค ปชป. คอการเมืองมองว่าเขต 2 เป็นจุดอ่อนของ ปชป.ที่อาจจะเสียพื้นที่ให้พรรคอื่นไปครอบครองก็อาจเป็นไปได้

ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 3 มีผู้สมัคร 37 ราย พรรคประชาธิปัตย์ จัดส่ง น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ บุตรสาวของนายชุมพล กาญจนะ กับ นางโสภา กาญจนะ อดีต ส.ส.หลายสมัยลงแข่งขัน ซึ่งเขตนี้พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าลอยลำเข้าอย่างขาดลอย เพราะทั้งนายชุมพลและนางโสภา พ่อแม่มีฐานเสียงเหนียวแน่นและทำการบ้านมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นหมดโอกาสที่จะเบียดเข้ามายึดพื้นที่ได้

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 4 มีผู้สมัครจำนวน 31 ราย พรรครวมพลังประชาชาติไทย นายสุเทพได้ส่ง นายเชน เทือกสุบรรณ น้องชายอีกคนของสุเทพ และนายเชนยังเป็นอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่หลายสมัย ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายสมชาติ ประดิษฐพร หรือ ส.จ.อ้อย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี คนแรก ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเขตนี้เชื่อว่า ปชป.จะยึดพื้นที่ เนื่องจากนายสมชาติ จะเป็นคู่แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดแต่ครั้งนี้หันมาสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ มีฐานเสียงเดิมที่หนาแน่น บวกกับฐานเสียงของพรรค ปชป. จึงมีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามากว่า นายเชน เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ส่ง นายสมพล สิงหพล หลานชายของนายภิญญา ช่วยปลอด อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่านาวยสมพลจะคลุกคลีด้านการเมืองมานานพอสมควรแต่เสียงตอบรับยังน้อยกว่า 2 พรรคแรก

ในขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 5 มีผู้สมัครจำนวน 35 ราย พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายสินิตย์ เลิศไกร อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่หลายสมัยติดต่อกัน ถึงแม้จะไม่มีบทบาทมากนักแต่ฐานเสียงยังแน่น ในขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่งนายปรีติ เชาวลิต ส.อบจ.เขต อ.ชัยบุรี เขตนี้คาดเจ้าของพื้นที่ยังคงครอง

เขตเลือกตั้งที่ 6 มีผู้สมัครจำนวน 36 ราย พรรครวมพลังประชาชาติไทยส่งนายภูมิ เทือกสุบรรณ หรือ ส.จ.ภูมิ มีศักดิ์เป็นหลานชายของนายสุเทพ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายธีรภัทธ พริ้งศุลกะ อดีต ส.ส.เจ้าของพื้นที่ ลูกชายของนางนิภา พริ้มศุลกะ อดีต ส.ส.7 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ เขตนี้เชื่อว่า ปชป.ยังคงยึดพื้นที่ได้อย่างสบาย ส่วนพรรคอื่น ๆ อาจจะเป็นแค่ทางเลือก

อย่างไรก็ตาม ช่วงโค้งการหาเสียงช่วงต้นๆ จนถึงขณะนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังคงได้เปรียบแต่ก็มีแนวโน้มอาจจะเสียพื้นที่ให้พรรคอื่นครองไป 1-2 ที่นั่งก็อาจเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพรรค ปชป.และนายสุเทพรวมถึงพรรคอื่นๆจะงัดกลยุทธ์ไม้เด็ดออกมาหาเสียงในโค้งสุดท้ายกันอย่างไร ที่จะทำให้ฝ่ายตนกลับมามีชนะในศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น