xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดปูพรมที่สตูล-พัทลุงชี้ชัด BRN โชว์ศักยภาพขยายพื้นที่ ดิสเครดิต “บิ๊กตู่” แค่ผลพลอยได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
แฟ้มภาพ
 
มีผู้หลักผู้ใหญ่และเพื่อนพ้องในกองทัพมาพบปะพูดคุยเพื่อขอให้ “จุดคบไฟใต้” นำเสนอในเรื่องที่เป็นเรื่อง “เชิงบวก” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้าง เพื่อจะได้แสดงให้เห็นว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพ หรือใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่จนทำให้ลดความรุนแรงลงได้ แล้วให้ใจชื้นขึ้นว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ อันเหมือนกับต้องการที่จะ “ตอกย้ำ” ว่านโยบายดับไฟใต้ เดินมาถูกทางแล้ว
 
ความจริงก็อยากจะเสนอเรื่องราวในเชิงบวกบ้างเหมือนกัน เพื่อให้เห็นว่าในความ “อัปลักษณ์” ก็ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอยู่บ้าง รวมทั้งเห็นถึงความตั้งใจและไม่หาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ที่ทุ่มเทสุดความสามารถ เพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย
 
แต่ยังไม่ทันที่จะหยิบเอาสิ่งดีๆ มาขยับขยายให้เกิดผลเลย เสียงระเบิดในพื้นที่ จ.สตูล และ จ.พัทลุง ก็กัมปนาทขึ้นเสียก่อนถึง 20 จุดในเวลาไล่เลี่ยกันจากคืนวันที่ 9 ต่อเนื่องถึงเช้าและบ่ายวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และกลายเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจ ขณะที่คนส่วนหนึ่งก็ตื่นตระหนกกับระเบิดที่ถูกปูพรม เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในภาคใต้ จนกลัวกันว่าระเบิดจะขยายเขตไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกหรือไม่
 
แถมปฏิบัติการก่อกวนด้วยระเบิดแสวงเครื่องทั้ง 2 จังหวัดก็เกิดขึ้นในขณะที่บ้านเมืองเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ส.ส. โดยเหลือเวลาหย่อนบัตรเพียง 10 กว่าวัน จึงมีผู้คนตั้งข้อสงสัยว่าระเบิด 20 จุดนี้เป็นเรื่องก่อการร้ายโดยฝีมือของ “บีอาร์เอ็นฯ” หรือเป็นความขัดแย้ง “ทางการเมือง” หรือมี “มือที่สาม” สร้างสถานการณ์เพื่อหวัง “ผลทางการเลือกตั้ง” หรือไม่
 
สุดท้ายอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนก็ลงที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนว่า ทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างง่ายดาย แถมระเบิดบางจุดเกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐ เช่น ทำไมกลุ่มคนร้ายสามารถขับขี่ “จยย.บอมบ์” จาก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ไปไว้ในพื้นที่เก็บรถของกลางในเขตโรงพักเมืองสตูลได้ เป็นต้น
 
ในขณะที่หน่วยงานของรัฐก็มีอารมณ์โมโหจนควันออกหูเช่นกัน โดยมีการสั่งย้าย ผกก.สภ.เมืองสตูล เพราะปล่อยให้มีระเบิดเกิดขึ้นในบริเวณโรงพักได้อย่างไร เช่นเดียวกับที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สั่งย้าย ผบ.ฉก.ทหารพราน ฉก.33 อ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่ปล่อยให้ลูกน้องเดินลาดตระเวนบนถนน แล้วถูกกับดักระเบิดแสวงเครื่องของโจรใต้เสียชีวิต
 
ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุระเบิดที่ อ.เมือง จ.สตูล และ อ.ปากพะยูน กับ อ.เมือง จ.พัทลุง มีสิ่งบอกเหตุว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ต้องเปิดปฏิบัติการทางทหารแน่นอน นั่นคือ การให้ “แนวร่วม” ระดับ “ปลายแถว” พ่นสีถนนและสิ่งต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “ปาตานี 110” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 100 จุด
 
ทั้งนี้ คำว่า “ปาตานี 110” ถูกตีในเชิงสัญลักษณ์หมายถึง “สนธิสัญญาแอลโก-สยาม” ที่ทำขึ้นระหว่างอังกฤษกับมาเลเซีย อันเกี่ยวเนื่องกับดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย ซึ่ง “แกนนำ” ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ถือว่าเป็นสนธิสัญญาในการ “จำนำรัฐปัตตานี” เป็นระยะเวลามาครบรอบ 110 ปีในวันที่ 10 มีนาคม 2562 นี้ ซึ่งก็ตรงกับวันที่มีการก่อเหตุนั่นเอง
 
เรื่องของการพ่นสีไปทั่วและเรื่องการตระเวนแขวนป้ายผ้าหลายพื้นที่ อันเป็นฝีมือบรรดาแนวร่วมปลายแถวของบีอาร์เอ็นฯ มีคนในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตอยู่ 2 ประเด็น คือ ประเด็นหนึ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลากลางคืน ซึ่งที่ผ่านมาถ้าโจรใต้หรือแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ปฏิบัติการเวลากลางคืน ชาวบ้านก็จะเข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องไม่รู้ไม่เห็น เพราะเวลากลางวันเป็นของเจ้าหน้าที่ ส่วนเวลากลางคืนเป็นของโจร
 
แต่หลังจากที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งให้กำลังพลในพื้นที่ปฏิบัติการ “เชิงรุก” โดยการให้ทหารออกไป “นอนนอกฐาน” ในเวลากลางคืนด้วย ซึ่งการนอนนอกฐานในเวลากลางคืนไม่ได้หมายถึง เอาผ้าห่ม มุ้ง หมอน ไปนอนชมดาว แต่หมายถึง “การลาดตระเวน” การไปอยู่เป็น “เพื่อนประชาชน” หรือการ “ควบคุมเส้นทาง” อย่าให้โจรใต้หรือแนวร่วมบีอาร์เอ็นมีโอกาสก่อเหตุได้
 
แต่สุดท้ายการนอนนอกฐานก็ไม่ได้ทำให้โจรใต้หรือแนวร่วมเกิดความ “ย่นระย่อ” ต่อกำลังทหาร และอานุภาพของอาวุธฝ่ายรัฐที่มีเหนือกว่า เพราะปฏิบัติการก่อเหตุของฝ่ายตรงข้ามที่เกิดขึ้น นั่นคือคำตอบที่มีต่อประชาชน รวมทั้งบอกด้วยว่ากล้องวงจรปิดที่มีอยู่มากมายก็ไร้ประโยชน์ในการป้องกันโจร หรือเป็นเพราะกล้องทั้งหมด ล้วนแต่ไร้สมรรถภาพแล้วนั่นเอง
 
กลับมาดูการก่อการร้ายในพื้นที่ จ.สตูล และ จ.พัทลุง การก่อการร้ายครั้งนี้เป้าหมายยังเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน เส้นทางรถไฟ สถานีรถไฟ และร้านค้าของประชาชนเป็นด้านหลัก หมายถึงนอกจากต้องการทำกับเป้าหมายที่เป็นของรัฐแล้ว ยังมีเป้าหมายต่อพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงประชาชนที่จับจ่ายซื้อของที่อาจจะต้องรับเคราะห์ไปด้วย แสงดให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นฯ ขยายเป้าหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ไปยังธุรกิจการค้าของประชาชนในพื้นที่แล้ว
 
ถามว่าการก่อเหตุร้ายใน 2 จังหวัดคือ สตูล และพัทลุงดังกล่าวอยู่นอกพื้นที่ไฟใต้ และเป็นความต่อเนื่องหลังจากปฏิบัติการพ่นสีและแขวนป้ายเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งส่งผลให้ในพื้นที่ทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกตรึงด้วยกองกำลังทหารและตำรวจ รวมถึงกองกำลังท้องถิ่นอย่างเข้มข้นจนโจรใต้ไม่สามารถวางระเบิดก่อกวนได้ จนต้องออกมาก่อการร้ายนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่
 
คำตอบคือ “ก็ไม่น่าจะใช่” เหตุผลคือ ในเมื่อโจรใต้ยังมีอิสระในการพ่นสีหรือแขวนป้ายได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพบเห็น แล้วถ้าจะวางระเบิดแสวงเครื่องในพื้นที่สัก 20 จุดทำไมจะทำไม่ได้เล่า ส่วนที่เลือกเอาพัทลุง และสตูลเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เพราะต้องการ “ขยายอาณาเขตการก่อการร้าย” ออกนอกเขต 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยต่างหาก
 
ในอดีต จ.สตูล และ จ.พัทลุง ถูกขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ใช้เป็นสถานที่สำหรับ “หลบภัย” หรือเป็นแหล่ง “ผลิตเอกสาร” โดยเฉพาะสตูลเป็นเส้นทางขนอาวุธจาก จ.อาเจะ ของประเทศอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัดมีสิ่งที่ “เกื้อกูล” กับการเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็นฯ ได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือมี “โรงเรียนสอนศาสนา” จำนวนมาก ทำให้แนวร่วมสามารถที่จะ “แทรกซึม” เข้าไปได้ง่ายกว่าจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
 
ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า วันนี้บีอาร์เอ็นฯ ไม่ต้องการใช้พื้นที่ของ 2 จังหวัดดังกล่าวเพื่อเป็นเส้นทางผ่านและเป็นที่หลบภัยแล้วล่ะหรือ จึงได้ไปเปิดปฏิบัติการทางทหารด้วยการก่อการร้าย ซึ่งเท่ากับเป็นการ “เปิดหน้า” ประกาศขยายพื้นที่การก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่โดยตรง แล้วอะไรคือ “ปัจจัย” ที่ทำให้บีอาร์เอ็นฯ ปฏิบัติการทางทหารด้วยการท้าทายหน่วยงานความมั่นคงเล่า
 
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ระเบิด 20 จุดใน 2 จังหวัดนอกไฟใต้ที่เกิดขึ้นนั้น คงจะไม่โบ้ยให้เป็นเรื่อง “การเมือง” และ “ภัยแทรกซ้อน” อีก เพราะพื้นที่การเกิดระเบิดเป็นการแย่งชิงที่นั่งของ 2 พรรคการเมืองใหญ่คือ “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” รวมทั้งระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกระทบกับการหาเสียงและการเลือกตั้งแต่อย่างใดเลย
 
โดยเฉพาะในเรื่อง “ภัยแทรกซ้อน” ก็มองได้ว่า ไม่น่าจะใช่ เพราะวันนี้การปราบยาเสพติดเป็นนโยบายที่ทำกันทั้งประเทศ รวมทั้งที่ผ่านมา การปราบปรามยาเสพติดก็ยังไม่ถึงขั้นความรุนแรง ที่สร้างความสูญเสียให้แก่ขบวนการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด
 
ระเบิด 20 ลูกใน 2 จังหวัดจึงมีประเด็นของการ “ขยายพื้นที่” ของบีอาร์เอ็นฯ เท่านั้นที่เป็นไปได้ อันเป็นการขยายพื้นที่เพื่อสร้าง “ความอลหม่าน” ให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการที่จะต้องปรับขบวนการแก้ปัญหา เพราะเมื่อบีอาร์เอ็นฯ ขยายพื้นที่ออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยัง จ.สตูล และ จพัทลุง ย่อมหมายถึงว่าบีอาร์เอ็นฯ อาจจะขยายพื้นที่ไปยัง จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ได้ทั้งหมด
 
รวมทั้งบีอาร์เอ็นฯ ต้องการ “ทำลายอำนาจรัฐ” โดยอาศัยอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ถูกกระทำโดยตรง และประชาชนที่ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เห็นถึงอันตรายที่จะได้รับจากการก่อการร้ายและเกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน เช่นที่เกิดกับพื้นที่ไฟใต้มาแล้วนั่นเอง และสุดท้ายอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดก็จะไปสู่การมองว่า “รัฐบาล” และ “หน่วยงานความมั่นคง” ไร้น้ำยาในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลส่งแค่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงพื้นที่ 2 จังหวัดที่เกิดระเบิดเพื่อติดตามสถานการณ์ หรือเพื่อ “ขันนอต” เจ้าหน้าที่อย่างเดียวไม่ได้ผล เพราะประชาชนต้องการเห็น “นโยบาย” ในการแก้ปัญหาที่ลุกลามและการขยายเขตการก่อการร้ายที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร โดยเฉพาะ “กองทัพภาคที่ 4” มีแผนอะไรในการรับมือกับปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและคนในจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่เกิดเหตุก็ต้องการรับรู้ถึงการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น เพราะผลพวงของการขยายพื้นที่ก่อการร้ายของบีอาร์เอ็นฯ กระทบกับประชาชนทุกคนในพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน
 
โดยเฉพาะในภาวะที่ “เศรษฐกิจภาคใต้สุดแสนจะเปราะบาง” เวลานี้ปากท้องของประชาชนอยู่ในสภาวะ “ปากแห้ง” และ “ท้องกิ่ว” ถ้ายังมีเรื่องภัยความมั่นคงเข้ามาคุกคามความเป็นอยู่ของประชาชนให้ตกอยู่ในความหวาดระแวงกับภัยการก่อการร้ายเพิ่มมาอีก ประชาชนจะอยู่กันอย่างไร
 
วันนี้ระเบิด 20 ลูกใน 2 จังหวัดนอกพื้นที่ไฟใต้เป็นฝีมือของบีอาร์เอ็นฯ เป็นการลงทุนที่น้อยมาก แต่มีสิ่งที่ได้รับพ่วงด้วยคือ การดิสเครดิตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” และการสร้างความอลหม่านแก่ “กอ.รมน.ภาค 4” ในการรับมือกับการก่อการร้าย
 
สุดท้ายประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ต้องติดตามดูว่า รัฐบาลและ กอ.รมน.ภาค 4 จะมีคำตอบอย่างไรให้แก่ประชาชน ถ้าไม่มีอะไรในกอไผ่ ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ก้มหน้าก้มตาอยู่กับ “ชะตากรรม” กันต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น