คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย... จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและชุมชน ภาคใต้
ในประเทศที่นักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ค่อยมีอุดมการณ์ยึดโยงกับผลประโยชน์ ความอยู่ดีกินดีและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในฤดูกาลรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับชาติมักจะมีแต่วาทกรรมการยกย่องเชิดชูฝ่ายตน และกดข่มดูถูกดูแคลนใส่ร้ายป้ายสีอีกฝ่ายเป็นประจำมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ค่อยเห็นการชูนโยบายสำคัญๆ เพื่อให้ประชาชนประกอบการตัดสินใจ นโยบายหลักคือ ด่ารัฐบาลปัจจุบันให้ชาวบ้านฟัง เพราะรู้ดีว่าไม่ค่อยมีรัฐบาลไหนที่กำลังอยู่ในอำนาจจะเป็นที่ประทับใจของประชาชนส่วนใหญ่
เริ่มเปิดฉากโค้งแรกของการหารเสียงหลัง คสช.ประกาศปล่อยผี ก็เริ่มด้วยวาทกรรม “ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ” มาจากแกนนำและเครือข่ายของพรรคการเมืองที่เคยทำผิดกฎหมายและถูกยุบพรรค และถูกยึดอำนาจมามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยในรอบร้อยกว่าปี ที่อุตริอุปโลกน์ตัวเองและเครือข่ายขึ้นเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และถีบส่งอีกฝ่ายเป็นฝ่ายเผด็จการและสนับสนุนเผด็จการ
เช่นเดียวกับอดีตผู้นำของพวกเขาที่เคยสร้างวาทกรรมว่า “นักรบประชาธิปไตยย่อมยอมตายในสนามรบ” และ “สู้เถอะพี่น้อง ทันทีที่เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ผมจะมาเดินนำหน้าพี่น้องเอง” แต่จนบัดนี้สิ่งที่เห็นคือ พี่น้องประชาชนและสาวกบริวารต่างประสบชะตากรรมต่างๆ นานา แต่อดีตผู้นำทั้งสองคนพี่น้องของพวกเขากลับหลบหนีอย่างลอยนวลไปเสพสุขอยู่ต่างแดน
แต่ประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งก็ยังมองไม่เป็นความไม่จริงของวาทกรรมที่เป็นวิบากกรรมนี้ ยังออกมาเถียงแทนไม่ตกไม่หล่นในทุกประเด็น
ฝ่ายที่ไม่ชอบ “ฝ่ายประชาธิปไตยกำมะลอ” ก็ชูวาทกรรม “ไม่เอาพวกเผาบ้านเผาเมือง” ออกมาสู้โดยนำเอาวีดีโอที่เกี่ยวข้องกับแกนนำหลายคน เช่น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ฯลฯ ที่ปลุกระดมให้มวลชนก่อความรุนแรง ในคราวที่ออกมาประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พวกเขาไม่ยอมรับว่ามีความชอบธรรม
แต่วันนี้อดีตผู้นำรัฐบาลในยุคนั้นก็กลายมาเป็นแนวร่วมวิถีโค้งให้กับพวกเขา ด้วยสถานการณ์เข้าทำนองว่า “เมื่อมีศัตรูคนเดียวกัน เราก็คือมิตรกันโดยปริยาย” แบบ “การเมืองไทยไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” นั่นเอง
เมื่อเข้าสู่สถานการณ์การหาเสียงที่เริ่มเข้มข้นถึงลูกถึงคนมากขึ้น ฝ่ายหนึ่งก็ชูวาทกรรม “เลือกเรากระเป๋าตุง เลือกลุงกระเป๋าแฟบ” โดยหยิบยกเอาประเด็นทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่า ย่ำแย่ในสมัยรัฐบาลลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ พวกเขาชูนโยบายเติมเงินในกระเป๋าประชาชนบ้าง จะเข้ามาแก้จนบ้าง แต่ก็ถูกสวนกลับว่าในสมัยที่บางพรรคบริหารประเทศ ลองไปถามคนที่โดนพิพากษาให้จำคุกในคดีรับจำนำข้าวดูว่า “กระเป๋าใครตุง” ที่แน่ๆ ไม่ใช่กระเป๋าประชาชนแน่นอน และน่าสงสัยคือ ทำไมพรรคการเมืองกลุ่มนี้ไม่ชูนโยบายรับจำนำข้าว ถ้าพวกเขามั่นใจว่าจะทำให้ “กระเป๋าตุง”
ต่อมาฝ่ายประชาธิปไตยก็เริ่มแสดงวาทกรรมก้าวก่าย ท้าทายอำนาจรัฐ โดยตีวัวกระทบคราดไปยังนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหาร โดยการสร้างวาทกรรม “ตัดลดงบประมาณของกองทัพ 10% บ้าง 30% บ้างยกเลิกการเกณฑ์ทหาร งดซื้ออาวุธ ฯลฯ” แต่ละพรรคประสานเสียงอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งพรรคแกนนำและเครือข่าย พรรคแนวร่วมอย่าง ปชป. ทั้งๆ ที่บางคน บางพรรคเคยเป็นรัฐบาลมาแล้วก่อนหน้านี้หลายสมัย แต่เพิ่งมาคิดออกตอนนี้ ก็แปลกดีเหมือนกัน
ฝ่ายกองทัพก็ตอบโต้ด้วยวาทกรรม “หนักแผ่นดิน” สร้างความร้อนแรงให้กับการเมืองย้อนหลังไปไกลถึง 6 ตุลาคม 2519 และชีวประวัติของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้นำ รสช.บิดาของ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันเจ้าของวาทกรรม “หนักแผ่นดิน” ที่สื่อสารไปยังคุณหญิงหน่อย ก็ถูกอีกฝ่ายขุดคุ้ยขึ้นมาประจานต่อสาธารณชน และสร้างวาทกรรมลับลวงพรางขึ้นมามากมาย เพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้นำกองทัพตามความถนัดของฝ่ายนี้อยู่แล้ว
วาทกรรมอีกอันหนึ่งที่ฮิตไม่แพ้ยุคก่อนคือ “คดียุบพรรค” ที่กลายเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพของฝ่ายที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการกับฝ่ายที่ชอบละเมิดกฎหมาย และเป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายที่ได้รับเกียรติในวาทกรรมนี้มีอยู่ฝ่ายเดียว และถูกยุบพรรคมามากกว่าใครภายใต้รากเหง้าของรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน (2540) แต่เมื่อพูดกันถึงที่สุดก็คงจบลงที่วาทกรรมว่า “ถูกกลั่นแกล้ง สองมาตรฐาน ฯลฯ” ซึ่งเป็นวาทกรรมข้ามยุคข้ามสมัยที่ถูกหยิบยกมาใช้เมื่อถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่จะไม่ใช้เมื่อการพิพากษาเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนในทุกกรณี
ครั้งนี้พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคเครือข่ายกับพรรคเพื่อ…ต่างๆ และพรรคอื่นๆ ที่มีแนวทางในการไม่เอาเผด็จการทหารเหมือนๆ กัน ถูก กกต.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรค เพราะมีการกระทำ “ที่ไม่บังควร”ตามที่ทราบกันอยู่แล้ว และฝ่ายนี้ก็ยื่น กกต.เสนอให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่แนวร่วมของพวกเขา ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อแก้เกี้ยว วาทกรรมเพื่อให้เกิดการยุบพรรคจึงกลายเป็นอาวุธหลักอีกอันหนึ่งของพรรคการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน
ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ก็มีการชูวาทกรรม “ดีเบต” ระหว่างแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค โดยพุ่งปลายหอกไปที่พลเอกประยุทธ์ ที่ยังไม่ยอมฟันธงว่าจะเข้าร่วมดีเบตกับ กกต.หรือไม่ อย่างไร จึงถูกกดดันจากคู่แข่งทั้งแก่ ทั้งหนุ่มและละอ่อน จนดูเหมือนว่าถ้าใครไม่ร่วมดีเบตก็ขาดความสง่างามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ความจริงการดีเบตคือ การร่วมถกเถียงในนโยบายที่สำคัญ เพื่อชี้จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละฝ่าย ของพรรคการเมืองในประเทศ ที่มีคู่แข่งสองพรรคหรือไม่มากพรรค อย่างอเมริกาและอังกฤษ แต่สำหรับประเทศที่มีพรรคคู่แข่งหลายสิบพรรค และหลายพรรคไม่ได้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรม ไม่น่าจะเหมาะกับการดีเบต
นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมอื่นๆ อีกมากมากมาย จนไม่อาจจะสาธยายได้หมด สรุปแล้วประเทศนี้จึงตกอยู่ในชะตากรรมแบบเป็นเวรเป็นกรรม ประชาชนถูกทารุณกรรมให้มีชีวิตเป็นไปตามยถากรรม ด้วยวาทกรรม-วาทเวรต่างๆ นานา มาทุกยุคทุกสมัย ชั่วกาลนาน.