คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย : ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ NEWS 1
ช่วงรณรงค์เลือกตั้ง ส.ส. เป็นธรรมดาของสถานีข่าวที่จะนำเสนอข่าวสารการเลือกตั้ง การปราศรัยการพูดโจมตีกันไปกันมาของนักการเมือง ยิ่งข่าวในโลกโซเชียลมีเดีย ข่าวจริง ข่าวลวง ข่าวเท็จ หรือข่าวสารการโหมกระหน่ำทำลายกันไปมาจนเกินขอบเขต ถูกนำมาสื่อสารกันกลายเป็นข่าวกระแสหลัก ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนัก ต้องตรวจสอบข้ามโลก ข้ามประเทศ เพื่อหาแหล่งที่มา “ข่าวลือ” และ “การลือข่าว” ที่สร้างแรงกระเพื่อมสั่นคลอนการเลือกตั้งของประเทศไทย
.
ผมคิดว่าสิ่งนี้มาพร้อมกับโลกการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งมีพฤติกรรมเสพข่าวสารทางสื่อโซเชียลที่ขาดการกลั่นกรอง
.
สำหรับเราที่มีวิชาชีพด้านการทำข่าว เมื่อมีข่าวแบบนี้อาจจะต้อง “นิ่ง” และ “ฟัง” พร้อมต้อง “ตรวจสอบ” หรือไม่ก็ปิดมือถือไปเลย เพื่อพักจิต พักใจ เข้าสู่การนิ่งหลบอยู่ในภวังค์แห่งธรรมสักระยะ ก่อนจะลืมตาขึ้นมาต่อสู้กับโลกในวันใหม่!
หนังสือเล่มนี้ปกสีดำ พิมพ์ลายทอง กระดาษยังไม่เปื่อย พิมพ์เมื่อปี 2535 ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านวันละหน้าครึ่งหน้า บางวันติดพันอยากค้นคว้าต่อก็จะอ่านเลยไปหลายหน้า
.
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน” ผมซื้อหาจากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พิมพ์โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซื้อมาตั้งแต่เรียนอยู่ปีที่ 3 ตรงข้ามกับคณะที่ผมเรียนที่ท่าพระจันทร์
.
“พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน” เป็นทั้งตำรา เป็นทั้งของสูง หนังสือเล่มนี้ผมวางไว้สูงกว่าหนังสือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ห้ามตั้งต่ำ ห้ามเดินข้าม เพราะในบ้านเราถือว่าหนังสือเล่มนี้คือ คำบอกเล่าของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตอบคำถามในทางธรรมได้แทบทุกเรื่องยามที่เราต้องการค้นคว้า
ปฏิทินที่โต๊ะทำงาน ผมเขียนไว้เพื่อให้คนทำงานข่าวได้ทราบว่า งานใหญ่ของประเทศ 4-6 พฤษภาคม 2562 สำนักพระราชวังได้ประกาศเรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เราซึ่งมีวิชาชีพด้านการทำข่าวต้องเตรียมหาความรู้ ศึกษาเรื่องราวพระราชพิธี เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องราวไปยังสังคมการรับรู้ของประชาชนต่อไป
.
เปิดหนังสือ “พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน” ย่อความจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี 45 เล่ม เพื่อให้เราได้อ่านง่าย เข้าใจง่าย ในหัวข้อว่าด้วย “จักกวัติสูตร สูตรว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ์” พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าเรื่อง รัตนะ 7 ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีประโยคหนึ่งที่ทำให้เราอ่านแล้ว อ่านเล่า อ่านอยู่สองสามคืน ด้วยความประทับใจ
.
ในเรื่องเล่าว่า มีพระราชาผู้เป็นลูก ทรงทูลถามว่า วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นอย่างไร พระเจ้าจักรพรรดิ์ผู้ออกบวชแล้วตรัสตอบพระราชาผู้เป็นลูกว่า
“จงอาศัยธรรมสักการะ เคารพนับถือธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์และสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำการอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น”
.
“ผู้ใดไม่มีทรัพย์ ก็มอบทรัพย์ให้”
.
“เข้าพบบัณฑิตสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมาประมาทตั้งอยู่ในขันติโสรัจจะ (ผู้มีความอดทนตั้งมั่นในความสงบ) ถามถึงสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล อะไรทำเพื่อเป็นไปแล้วทุกข์ตลอดกาลนาน อะไรทำเพื่อเป็นไปแล้วสุขตลอดกาลนาน เมื่อทรงเห็น! ก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมา นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์”
.
สองพันกว่าปีแล้วที่ธรรมของพระราชาดำรงอยู่ เป็นภูมิปัญญา เป็นความรู้ทางรัฐศาสตร์ เขียนไว้ในพระไตรปิฎก
.
ทำให้ผมนึกถึงข่าวพระราชดำรัสที่ในหลวง ร.10 มีให้แก่ศาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561
.
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 162 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯ ความว่า
“เป็นการเตือนตนเอง ให้รู้จุดยืนและหน้าที่ของเราที่จะต้องปฏิบัติ ซึ่งหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัตินั้นลึกซึ้ง มีรายละเอียดและความละเอียดอ่อนมาก การที่ได้ปฏิบัติหรือถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์นั้น ความจริงความหมายก็คือ ปฏิบัติหน้าที่ในนามของสถาบันทั้ง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน ในพระปรมาภิไธย ในนัยนี้หมายถึง สถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของชาติ และความสุข ความร่มเย็น และมั่นคงของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นบ้านของเราทุกคน...
.
“อันนี้ความหมายที่จะขอไขให้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ก็คือ ในนามของประชาชนชาวไทย ในนามของสถาบันสูงสุดทั้งหลายของชาติและประชาชน คือ ให้ความยุติธรรม ให้ความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคม กฎหมายไม่ว่าประเทศไหนมีไว้เพื่อรักษาสิทธิ รักษาความปลอดภัย รักษาความสงบ กฎหมายนั้นก็ลึกซึ้ง ใช้ให้ดีก็ดี แปลความให้ดีก็ดี ใช้ไม่ดีหรือหาช่องโหว่ในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ดี เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นทั้งศาสตร์ เป็นทั้งศิลป์ เรื่องกระบวนการยุติธรรมเนี่ย...
.
“แต่ถ้าหากตระหนักถึงความถูกต้อง หรือพูดง่ายๆ ความสุขของส่วนรวม ความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติ ก็จะไปในทางที่ถูก ก็จะอ่านกฎหมาย หรืออำนวยการยุติธรรมได้อย่างไม่ผิด...
.
“ผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์ เป็นคน มีอารมณ์ แต่ถ้าเผื่อทบทวนศีลธรรม หรือจรรยาบรรณของผู้พิพากษาไว้ ก็จะไม่ออกนอกกรอบที่ผิด ท่านทั้งหลายได้เรียนมา ได้ศึกษามา และได้เรียนรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่จะทำให้เดือดร้อนต่อชาติบ้านเมือง ก็คงจะรู้แล้วว่าอะไรไปในทางที่ถูกหรือไม่ถูก ก็ขอให้มีสติ มีปัญญา มีทัศนคติที่ถูกต้อง และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ขอให้มีความสุขความเจริญโดยทั่วกัน”
.
ข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่ชาวบ้านยากจนข้นแค้นลำบากอย่างแสนสาหัส ดิ้นรนเพื่อไขว่หาความยุติธรรม เขียนจดหมายถึงในหลวง ร.10 เขียนด้วยลายมือ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 เวลา 11.28 น.
.
หลังจากนั้นเพียงสามสี่สัปดาห์ “เรื่องราวความทุกข์ยากของชาวบ้าน” ก็มีจดหมายจากสำนักงานองคมนตรี มีไปถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในท้ายจดหมายยังมีเนื้อความว่า
.
“เพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป”
ผมเห็นจดหมายของชาวบ้านเขียนถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วยลายมือ
.
ชีวิตของชาวบ้านกลุ่มนี้ พวกเขาประสบกับความเดือดร้อน ผ่านความทุกข์ระทมมาอย่างแสนสาหัส ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะความยากจน ขาดโอกาสในแทบทุกอย่างของชีวิต แต่ก็รู้ว่าในแผ่นดินมีพระราชาผู้ทรงธรรม
.
จดหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ผมรับรู้ได้ว่า
.
“ธรรม” ของพระราชามีอยู่เสมอ ก่อนที่ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญใช้
.
และจักกวัตติสูตร สูตรว่าด้วยธรรมของพระเจ้าจักพรรดิ์ มีอยู่ในประเทศไทยมาช้านานแล้วเช่นกัน!
.
บอกลูกบอกหลานในแผ่นดินของเรา บอกคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ใกล้ถึงวันอันสำคัญ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ช่วงชีวิตของเรามีไม่มากครั้งนัก
.
งานพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตประเทศของเราจะมีในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2562 นี้!!