xs
xsm
sm
md
lg

“ประสิทธิ์ชัย” เชื่อรัฐบาลคุม “น้ำ-พันธุกรรม” เท่ากับคุมชีวิตคนได้ไปครึ่งหนึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” ห่วงคนไทยหลัง พ.ร.บ.น้ำผ่าน สนช. เผยรัฐบาลกำลังพาประเทศไปสู่ก้นหอยแห่งความตาย เชื่อควบคุม “น้ำและพันธุกรรม” เท่ากับคุมชีวิตคนได้ไปครึ่งหนึ่ง

วันนี้ (22 ก.พ.) นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.น้ำฉบับที่ผ่าน สนช.แล้ว ซึ่งเป็นที่กังวล และเชื่อว่ารัฐบาลรัฐประหารกำลังพาประเทศไปสู่ก้นหอยแห่งความตาย และกำลังรับใช้นายทุน โดยการคุมสภาพน้ำ และพันธุกรรม เท่ากับคุมชีวิตคนได้ไปครึ่งหนึ่ง โดยมีข้อความระบุว่า...

ยาวหน่อยแต่จำเป็น นี่เป็นตอนแรก และจำเป็นต้องมีตอนสอง
อย่างที่เคยเขียนว่า มี 2 สิ่งที่รัฐบาลต้องคุมเพื่อรับใช้ทุน

‘น้ำและพันธุกรรมอาหาร’
เพราะเมื่อคุม 2 สิ่งนี้ได้เท่ากับคุมชีวิตคนได้ไปครึ่งหนึ่ง

ผมนั่งอ่าน พ.ร.บ.น้ำฉบับที่ผ่าน สนช. อ่าน 2 รอบสำหรับฉบับเต็ม และ 1 รอบสำหรับฉบับย่อ

ผมคิดว่านี่คือการออกกฎหมายเพื่อคุมน้ำทั้งประเทศ เหมือนกับ พ.ร.บ.ข้าว และ พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะคลอด แม้หลายคนจะเข้าใจว่านี่คือ พ.ร.บ.น้ำที่สร้างการมีส่วนร่วม แต่มันไม่ใช่เลย แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีคนที่ได้ชื่อว่าอยู่ฝ่ายประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการก็ตาม

แล้วข้อกล่าวหานี้พิจารณาจากอะไร?

1.รัฐมีอำนาจจัดการแหล่งน้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำได้ รัฐมีอำนาจในการออกคำสั่งควบคุมดูแลแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยการออกกฎเกณฑ์การใช้น้ำในแหล่งน้ำนั้น แม้จะระบุว่าน้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะ แต่รัฐสามารถบัญญัติให้เป็นอย่างอื่นได้

2.มอบอำนาจอันเบ็ดเสร็จให้คนกลุ่มหนึ่งออกกฎคุมน้ำทั้งประเทศ โดยองค์ประกอบของกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจออกระเบียบการจัดการน้ำทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี 6 กระทรวง เลขาสภาพัฒน์ เลขา กปร. ผอ.สำนักงบประมาณ รวม 11 คน ผู้แทนกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ แต่งตั้ง 4 คน เลขาธิการ สนทช.เป็นกรรมการ และเลขานุการ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการออกกฎคุมน้ำ

3.โดยหน้าที่ของกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะต้องจัดทำนโยบาย และแผนแม่บทการจัดการน้ำทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และพิจารณาแผนปฏิบัติการของรัฐ และท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เร่งรัด ติดตาม หน่วยงานรัฐ และท้องถิ่นในการดำเนินการตามแม่บทที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดกรอบหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติของกรรมการลุ่มน้ำ จัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ เพื่อจัดสรร และควบคุมน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ

4.สำหรับประชาชนเป็นเพียงการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ และในการจัดทำแผนแม่บท ระบุให้รับฟังความเห็นจากประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่ กนช.กำหนดเท่านั้น และแม้ว่าจะตั้งองค์กรผู้ใช้นำขึ้นมา แต่ก็เบาบางมากในเชิงบทบาท แถมยังต้องมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง

5.ในระดับพื้นที่จะมีกรรมการลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานรัฐ 12 คน ผู้แทน อปท.จังหวัดละ 1 คน ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม ภาคละ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือรัฐเช่นเดิม โดยมีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการใช้น้ำ จัดสรรน้ำ และจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำ เสนอความเห็นต่อ กนช.ในการจัดทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ

6.การใช้น้ำของประเทศเป็นไปเพื่ออุปโภคบริโภค รักษานิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว แต่การจัดลำดับความสำคัญให้เป็นไปตามที่ กนช.กำหนด ประเภทที่ 1 การใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพในครัวเรือน การเกษตร อุตสาหกรรมครัวเรือน รักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี ประเภทที่ 2 การใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น ประเภทที่ 3 เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก

ฉะนั้น น้ำที่มีอยู่จะมีการใช้ทั้ง 3 ประเภท แต่ใช้อันไหนก่อนขึ้นอยู่กับกรรมการน้ำแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าจัดทำแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จากโครงสร้างพบว่า น้ำจะถูกจัดการแบบเบ็ดเสร็จโดยรัฐ การใช้น้ำไม่ใช่ประชาชน และการเกษตรเป็นลำดับแรกอีกต่อไป

สงครามน้ำในอนาคตจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ใครคุมน้ำได้คนนั้นคุมสภาพได้

จึงขอย้ำอีกครั้งว่า 2 สิ่งที่รัฐต้องคุมคือ น้ำและพันธุกรรม
ซึ่งบัดนี้เขาทำได้เกินครึ่งแล้ว เรื่องน้ำผ่าน สนช.ไปแล้ว เรื่องพันธุกรรมกำลังตามมา ทั้งการออก พ.ร.บ. และสัญญาระหว่างประเทศ

รัฐประหารกำลังพาประเทศไปสู่ก้นหอยแห่งความตาย
 



กำลังโหลดความคิดเห็น